มัดรวมเรื่องที่คุณแม่ท้องไตรมาสแรกต้องรู้!

มัดรวมเรื่องที่คุณแม่ท้องไตรมาสแรกต้องรู้! มัดรวมเรื่องที่คุณแม่ท้องไตรมาสแรกต้องรู้! มัดรวมเรื่องที่คุณแม่ท้องไตรมาสแรกต้องรู้!

คุณแม่รู้หรือไม่ว่า การตั้งครรภ์นั้นจะใช้เวลาประมาณ 40 สัปดาห์ หรือ 10 เดือน (แต่เรามักจะนับเป็น 9 เดือนเพราะบางเดือนมี 4 สัปดาห์ บางเดือนมี 5 สัปดาห์) และแบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและแนวทางการดูแลแตกต่างกัน ซึ่งหากคุณแม่ตั้งครรภ์ท่านไหนมีอาการแพ้ท้อง เรามีเคล็ดลับปราบอาการแพ้ท้อง เตรียมความพร้อมสำหรับคุณแม่ในการรับมือ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก คือ การตั้งครรภ์ในระยะ 14 สัปดาห์แรก เป็นระยะที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นระยะพัฒนาการของอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกายของเบบี๋ในครรภ์ โดยเฉพาะระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด เมื่อสิ้นสุดไตรมาสแรกร่างกายของเจ้าตัวน้อยจะมีอวัยวะครบถ้วน คงเหลือแต่เพียงการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์จนครบระยะการตั้งครรภ์ของคุณแม่ ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 และ 3 นั่นเองครับ

ในไตรมาสแรกนี้ อาการแพ้ท้องเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยมักจะเริ่มมีอาการเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 8 สัปดาห์ และจะมีอาการมากที่สุดเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 10 สัปดาห์ และจะค่อย ๆ ลดลงจนหายไปเมื่อสิ้นสุดไตรมาสแรก อาการนี้เป็นภาวะปกติที่เกิดจากระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่สูงขึ้น และนับเป็นกลไกตามธรรมชาติที่ต้องปกป้องเจ้าตัวน้อยในครรภ์ที่กำลังอยู่ในระยะพัฒนาอวัยวะสำคัญ ผ่านการปฏิเสธอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายของคุณแม่ มาดูความเข้าใจแบบผิด ๆ ว่าอาการแพ้ท้องและกินอาหารไม่ได้ จะส่งผลกระทบต่อเบบี๋ในครรภ์ และสร้างความกังวลให้คุณแม่และครอบครัว แต่จริง ๆ แล้วอาการแพ้ท้องนั้นส่งผลกระทบกับสุขภาพของคุณแม่ต่างหาก เพราะเบบี๋ในไตรมาสแรกจะมีแหล่งอาหารส่วนตัวที่เรียกว่า 'ถุงไข่แดง' โดนอาการแพ้ท้องที่ทำให้คุณแม่กินไม่ได้นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเบบี๋ในครรภ์แต่อย่างใด ขณะที่ส่วนใหญ่อาการแพ้ท้องจะส่งผลให้คุณแม่กินได้น้อยลง มีเพียงส่วนน้อยที่กินอะไรไม่ได้เลย

ด้วยเหตุนี้เมื่อมีอาการแพ้ท้อง คุณแม่จึงควรปรับพฤติกรรมการกิน โดยมีหลักสำคัญ คือ 'กินน้อย แต่กินบ่อย และอย่าขาดน้ำ' หรือจะเรียกว่าให้กินจุกกินจิกก็ได้ อาจจะเพิ่มการจิบน้ำเกลือแร่เป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ โดยต้องไม่ลืมกินวิตามินโฟลิกตลอดไตรมาสแรกด้วยนะครับ ในระยะนี้คุณแม่ยังไม่ต้องกังวลเรื่องการกินเพื่อบำรุงครรภ์ เพราะปัจจุบันคุณแม่ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะขาดสารอาหารและการกินจะดีขึ้นจนเป็นปกติเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่สอง สิ่งที่ต้องระวังในระยะนี้ คือ การที่คุณแม่บางคนอยากกินของแปลก ๆ เช่น ถ่าน เนื้อดิบ หรืออาหารที่ไม่สุก เป็นต้น กรณีเช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้และครอบครัวต้องคอยห้ามปรามและไม่สนับสนุน เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายจากการติดเชื้อหรือได้รับพิษจากสิ่งแปลกปลอมดังกล่าวนั่นเอง อาการแพ้ท้องอาจทำให้คุณแม่บางคนกินอาหารไม่ได้เลยแม้แต่น้ำ กรณีเช่นนับว่าอันตราย แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพราะจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่รุนแรงจนอาจกระทบเจ้าตัวน้อยในครรภ์ได้ สำหรับอาการอื่น ๆ ที่นับว่าเป็นอาการผิดปกติในไตรมาสแรกที่พบบ่อย เช่น มีเลือดออกจากช่องคลอด หรือมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง ซึ่งเป็นอาการนำของการแท้งบุตรหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก ก็จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์เช่นกัน การดูแลตนเองในไตรมาสแรกไม่ได้ยากอย่างที่คิด ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกท่านผ่านการตั้งครรภ์ไปอย่างราบรื่นครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก คุณหมอตั้ว (นพ.ตรีภพ เลิศบรรณพงษ์)

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.