เช็กให้ชัวร์ สัญญาณแบบไหน? ได้เป็นคุณแม่แล้ว

เช็กให้ชัวร์ สัญญาณแบบไหน? ได้เป็นคุณแม่แล้ว เช็กให้ชัวร์ สัญญาณแบบไหน? ได้เป็นคุณแม่แล้ว เช็กให้ชัวร์ สัญญาณแบบไหน? ได้เป็นคุณแม่แล้ว

คู่รักส่วนใหญ่ที่แต่งงานแล้วล้วนมีเป้าหมายหนึ่งคล้าย ๆ กันคือ การมีลูก เพื่อสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ เราจึงมักเห็นสาว ๆ หลายคนหมั่นตรวจการตั้งครรภ์แทบทุกเดือน โดยหวังว่าจะมีข่าวดีให้เล่าสู่กันฟัง แต่จริง ๆ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังตั้งครรภ์ ทุกคนคงมีพื้นฐานด้านชีววิทยากันมาบ้างแล้วว่าการตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการปฏิสนธิระหว่างไข่ของผู้หญิงและตัวอสุจิของผู้ชาย โดยฝ่ายหญิงมีกระบวนการเตรียมสถานที่ฝังตัวอ่อนไว้ภายในโพรงมดลูกแทบทุกเดือน ซึ่งหากไม่มีการปฏิสนธิและการฝังตัวอ่อน ก็จะเกิดการหลุดลอกของผนังเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาในรูปของ ประจำเดือน
ซึ่งหากตั้งครรภ์แล้วคุณแม่บางท่านก็อาจจะมีอาการแพ้ท้องที่แตกต่างกันออกไป และสามารถบรรเทาได้ 
 

ดังนั้นมาเช็กสัญญาณหรืออาการต่าง ๆ กันครับ

1. ขาดประจำเดือน เป็นสัญญาณแรกที่สังเกตได้ง่ายที่สุดในหมู่คุณแม่ที่ประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ ในรายที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมออาจสงสัยว่าตั้งครรภ์ได้หากประจำเดือนขาดหายไป 2-3 รอบ

2. มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย การตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงมากมายจากผลของฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ทำให้คุณแม่บางคนอาจสังเกตเห็นหรือรู้สึกได้ผ่านหลาย ๆ อาการที่มักเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน

อาการที่พบบ่อย ได้แก่

- คัดตึงเต้านม เป็นอาการที่พบได้บ่อยเมื่อเริ่มตั้งครรภ์

- ผิวหนังบางส่วนเริ่มมีสีคล้ำ โดยเฉพาะบริเวณลานหัวนมและหน้าท้อง ในบางรายอาจพบการเกิดฝ้าบนใบหน้าง่ายขึ้นเมื่อโดนแสงแดด

- เลือดออกจากช่องคลอด พบได้เป็นส่วนน้อยของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ โดยมีเลือดออกกะปริดกะปรอย ในเวลาสั้น ๆ ทำให้เข้าใจผิดว่ามีประจำเดือน แต่จริง ๆ แล้วเป็นเลือดที่เกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนในครรภ์ มักเกิดขึ้นในระยะตั้งครรภ์ 1-2 เดือน อย่างไรก็ตามอาการเลือดออกนี้จำเป็นต้องแยกจากการแท้งบุตรซึ่งต้องได้รับการตรวจประเมินโดยแพทย์

- ส่วนอาการปวดหน่วงท้องน้อย พบได้ไม่บ่อย มักจะทำให้รู้สึกไม่สบายตัว เกิดจากการบีบรัดตัวของมดลูกซึ่งส่วนใหญ่มักหายไปเอง ขณะที่บางรายอาจเป็นอาการนำของการแท้งบุตรซึ่งแสดงออกด้วยอาการเลือดออก หากปล่อยให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปอาจเริ่มรู้สึกท้องโตขึ้นหรือรู้สึกถึงการดิ้นของทารกในครรภ์ (คุณแม่ส่วนใหญ่มักอธิบายว่าการดิ้นของทารกในครรภ์คล้ายปลาตอด)

อย่างไรก็ตามอาการทางกายที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้บ่งชี้ว่าคุณแม่มีการตั้งครรภ์ 100% เป็นเพียงอาการที่ทำให้เกิดความสงสัยหรือแสดงถึงแนวโน้มที่จะตั้งครรภ์ ยิ่งถ้าเกิดร่วมกับการขาดประจำเดือนก็จะเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์มากขึ้น

ขณะที่อาการอื่น ๆ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก อารมณ์แปรปรวน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปัสสาวะบ่อย หรือตกขาวผิดปกติ เป็นต้น เป็นอาการที่ไม่จำเพาะและไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่ามีการตั้งครรภ์ เพราะอาจเกิดจากเหตุอื่น ๆ ได้มากมาย ดังนั้นจึงไม่ควรทึกทักเอาเองว่าตั้งครรภ์หากมีอาการเหล่านี้

3. อาการแพ้ท้อง เป็นผลจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่สร้างจากรก ที่หลั่งออกมาปริมาณมาก สะท้อนว่าการตั้งครรภ์นั้นมีโอกาสน้อยมากที่จะแท้ง คุณแม่ส่วนใหญ่มักมีอาการแพ้ท้อง ซึ่งแสดงออกผ่านอาการที่หลากหลายคล้ายคนเป็นโรคกระเพาะอาหาร แต่ที่พบบ่อย เช่น อาการวิงเวียน พะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียน กลืนยากจนต้องบ้วนน้ำลายตลอดเวลา เหม็นกลิ่นต่าง ๆ เป็นต้น อาการแพ้ท้องเหล่านี้มักเกิดขึ้นหลังอายุครรภ์ 2 เดือนไปแล้วและจะหายไปได้เองเมื่อเข้าสู่เดือนที่ 4 ของการตั้งครรภ์

ทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่าตั้งครรภ์

แนะนำให้ทำการตรวจการตั้งครรภ์และรีบไปฝากครรภ์เมื่อผลตรวจเป็นบวก ทั้งนี้หมอขอแนะนำแนวทางการปฏิบัติตัวพอสังเขปเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ดังนี้

1. รับประทานวิตามินโฟลิค

วิตามินโฟลิคช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติของระบบประสาททารกในครรภ์ โดยแนะนำให้รับประทานก่อนเริ่มตั้งครรภ์ 2-3 เดือน หรือเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ โดยรับประทานต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก

2. การดูแลเพื่อรับมืออาการแพ้ท้อง

ในการตั้งครรภ์ปกติ ทารกในช่วงไตรมาสแรกแทบไม่ต้องการอาหารจากภายนอกเลย เนื่องจากทารกในครรภ์มีถุงไข่แดงสะสมอาหารสำหรับระยะไตรมาสแรกอย่างเพียงพอแล้ว ดังนั้นเป้าหมายหลักของการดูแลอาการแพ้ท้อง คือ การดูแลสุขภาพคุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่ให้เกิดอาการขาดน้ำ และได้รับอาหารเท่าที่ทำได้ แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้องหมั่นจิบน้ำบ่อย ๆ รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ แต่บ่อย ๆ

3. การดูแลตนเองด้านกายภาพ ได้แก่

- ใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ สวมใส่สบาย ขยายขนาดของชุดชั้นในตามระยะการตั้งครรภ์ และการปรับเปลี่ยนรองเท้าตามขนาดร่างกายที่เพิ่มขึ้นจากการตั้งครรภ์

- ทาครีมกันแดดเมื่อออกแดดหรือที่แจ้ง เพื่อป้องกันการเกิดฝ้า

- แนะนำให้ควบคุมการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่พอเหมาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพิ่มการรับประทานผักเพื่อป้องกันอาการท้องผูก โดยคุมน้ำหนักตัวในขณะตั้งครรภ์ให้ได้เฉลี่ย 10-12 กิโลกรัม ตลอดการตั้งครรภ์

- ออกกำลังกายด้วยการเดินอย่างสม่ำเสมอตลอดการตั้งครรภ์

4. การดูแลด้านจิตใจ

การตั้งครรภ์ไม่ได้สร้างความสุขเพียงอย่างเดียว ยังสร้างความเครียดให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ด้วย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนรอบข้างโดยเฉพาะสามีและคนในครอบครัว ในการประคับประคองจิตใจ ต้องเอาใจใส่กันมากขึ้น
 

อ่านมาถึงตรงนี้ต้องขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ทุกท่านที่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์และเป็นกำลังใจให้อีกหลาย ๆ ท่านที่กำลังวางแผนจะตั้งครรภ์ในอนาคต ขอให้มีความสุขกับการตั้งครรภ์นะครับ

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.