การคลอดลูก ถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของการเป็นคุณแม่ ทุกวันนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับโอกาสให้มีส่วนร่วมในการวางแผนการคลอดที่เหมาะสมกับตนเองมากขึ้น ซึ่งวิธีการคลอดก็แบ่งออกเป็น 2 วิธีหลักๆ คือ คลอดธรรมชาติ และ ผ่าคลอด
คำถามที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ การคลอดแบบไหนดีกว่ากัน? และ การคลอดแบบไหนมีความเสี่ยงมากกว่ากัน? คำตอบแบบสรุปก็คือ ทั้งการผ่าคลอดและการคลอดเองนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัว รวมถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงก็มีทั้งคู่ ในรายละเอียดที่แตกต่างกันไป สิ่งสำคัญคือ การพิจารณาว่าวิธีไหนที่เหมาะกับเราที่สุด โดยคำนึงถึงความพร้อมด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณแม่และคุณลูกในครรภ์เป็นอันดับหนึ่ง ทั้งนี้ ต้องผ่านการปรึกษาหารือและได้รับการยืนยันจากคุณหมอสูตินรีเวชของเราด้วยค่ะ
ก่อนคลอด
คลอดธรรมชาติ
- เมื่อครบกำหนดการตั้งครรภ์ สัญญาณที่บอกว่าคุณแม่พร้อมคลอด ได้แก่ ทารกกลับหัว(หันหัวไปทางปากช่องคลอด) อาการมดลูกบีบรัดตัวเป็นระยะ ซึ่งจะบีบถี่ขึ้นเรื่อยๆ ปากมดลูกขยายตัว ถุงน้ำคร่ำแตก เป็นต้น
ผ่าคลอด
- สามารถนัดวันและเวลาในการผ่าตัดได้ เมื่ออายุครรภ์พร้อม และสุขภาพคุณแม่และลูกในครรภ์พร้อม
- คุณแม่ต้องอดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด
- คุณแม่จะได้รับการดมยาสลบ หรือใช้วิธีฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง (บล็อกหลัง) เพื่อป้องกันการเจ็บปวดขณะผ่าตัด
การคลอด
คลอดธรรมชาติ
- คุณหมอจะทำการตัดฝีเย็บ เพื่อขยายให้ช่องคลอดมีขนาดกว้างพอที่จะทำคลอดได้ และเมื่อการคลอดเสร็จสิ้นก็จะเย็บกลับคืนตามปกติ
- ขณะคลอดอาจรู้สึกเจ็บปวดมาก จากการบีบตัวของมดลูก แต่หลังคลอดอาการปวดจะหายไปทันที เหลือเพียงอาการเจ็บแผลตรงฝีเย็บซึ่งจะหายได้ภายในเวลาไม่กี่วัน
- ความยากง่ายในการคลอดของแต่ครั้งและแต่ละคนมีความแตกต่างกันไปไม่แน่นอน
ผ่าคลอด
- วิธีการผ่าตัดเริ่มจากคุณหมอกรีดมีดผ่านผนังหน้าท้องทีละชั้นจนถึงมดลูก เข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อเปิดทางนำตัวทารกออกมา
- กระบวนการผ่าตัด ตั้งแต่ดมยาสลบ/บล็อกหลัง จนถึงนำตัวเด็กออกมา ตามปกติแล้วใช้เวลาประมาณ 10-30 นาที
- เมื่อนำตัวเด็ก รวมถึงรกออกมาแล้ว คุณหมอจะทำการเย็บปิดมดลูก และเย็บผนังหน้าท้อง
หลังคลอด
คลอดธรรมชาติ
- มีอาการอ่อนเพลียจากการเจ็บครรภ์และเบ่งคลอด การเสียเลือด เสียน้ำ และภาวะที่ร่างกายปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลง
- สามารถฟื้นตัวได้เร็วเมื่อได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ มดลูกหดตัวไว ภายในเวลาไม่กี่วัน ไม่มีแผลที่มดลูก
- คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติมีแนวโน้มที่จะมีน้ำนมทันทีหลังคลอด
ผ่าคลอด
- มีอาการอ่อนเพลียจากการเสียเลือด เสียน้ำ และภาวะที่ร่างกายปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลง
- เมื่อยาชาหมดฤทธิ์ คุณแม่จะเจ็บแผลผ่าตัดมาก ซึ่งต้องใช้เวลาพักฟื้นยาวนานหลายเดือนจนกว่าจะหายเจ็บแผล หรือแผลหายสนิท
- มีแนวโน้มที่จะยังไม่มีน้ำนมหลังคลอดทันที เพราะร่างกายยังปรับตัวไม่สมบูรณ์
- มีแผลเป็นที่หน้าท้อง รวมถึงแผลเป็นในช่องท้องที่มองไม่เห็นด้วย
ความเสี่ยง
คลอดธรรมชาติ
- ความเสี่ยงขณะการคลอดธรรมชาติมักเกิดจากภาวะฉุกเฉินไม่คาดคิด เช่น ภาวะตกเลือด ทารกไม่กลับหัวทำให้อยู่ในท่าที่คลอดยาก อุ้งเชิงกรานของแม่เล็ก หรือปากมดลูกไม่เปิดทำให้การคลอดเป็นไปอย่างลำบาก
- ในกรณีที่คลอดยากจนต้องใช้เครื่องมือช่วย เช่น คีม หรือเครื่องดูดสุญญากาศ อาจทำให้ทารกได้รับบาดเจ็บจากการใช้เครื่องมือนั้นได้
ผ่าคลอด
- ความเสี่ยงขณะผ่าตัดอันเกิดจากภาวะแทรกซ้อน เช่น เสียเลือดมากระหว่างผ่าตัด หรือภาวะความดันต่ำจากการบล็อกหลัง เป็นต้น
- มีโอกาสเกิดการอักเสบติดเชื้อที่แผลผ่าตัด เช่นเดียวกับการผ่าตัดใหญ่ทั่วไป
- มีแนวโน้มที่จะเกิดพังผืดภายในช่องท้องอันเป็นผลจากกระบวนการหายของแผลตามธรรมชาติ ซึ่งพังผืดที่เกิดขึ้นนี้ไม่เป็นผลดีต่อการผ่าตัดครั้งต่อไปที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ค่าใช้จ่าย
คลอดธรรมชาติ
- ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก สามารถประเมินการณ์ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าได้
ผ่าคลอด
- ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการคลอดแบบธรรมชาติอย่างมาก เพราะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการผ่าตัดเพิ่มขึ้นมา รวมถึงค่าใช้จ่ายจากการพักฟื้นรักษาตัวที่โรงพยาบาลซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าการคลอดวิธีธรรมชาติ
- ไม่สามารถประเมินการณ์ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าได้ชัดเจน เพราะในกรณีที่ครรภ์มีปัญหา หรือการผ่าตัดมีปัญหา อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน
คำแนะนำ - แม้การคลอดด้วยวิธีผ่าตัดจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความสะดวกสบายและวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นอย่างมากจนภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดลดน้อยลง แต่ปัจจุบันการคลอดแบบธรรมชาติกลับมาได้รับความสนใจจากแม่ยุคใหม่มากขึ้น เพราะข้อดีในเรื่องของการฟื้นตัวเร็ว ทำให้สามารถดูแลลูกได้เต็มที่มากกว่า รวมถึงการที่ทารกจะได้รับภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากเชื้อแบคทีเรียดีที่อยู่ในช่องคลอดของแม่ และการที่มีแนวโน้มว่าร่างกายจะผลิตน้ำนมตามธรรมชาติได้รวดเร็วหลังคลอด
- ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คุณแม่หลายคนตั้งใจจะคลอดเอง แต่เมื่อถึงกำหนดคลอดกลับไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ เช่น มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ปากมดลูกไม่เปิด มีเนื้องอก รกเกาะต่ำ ลูกไม่กลับหัว ลูกอยู่ในท่าขวาง หรือมีข้อบ่งชี้ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าไม่อำนวยต่อการคลอดธรรมชาติ และอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น ลูกหัวใจเต้นช้าลงกะทันหัน ซึ่งกรณีต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้คุณหมอต้องทำการผ่าตัดฉุกเฉินในที่สุด
- ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกวิธีการคลอด คือ ปัจจัยความพร้อมทางด้านสุขภาพร่างกายของแม่และลูก วิจารณญาณของสูตินรีแพทย์ และการตัดสินใจที่เหมาะสมตามสถานการณ์เฉพาะหน้าในขณะคลอดเป็นหลักค่ะ ไม่แนะนำให้ยึดติดกับการคลอดธรรมชาติเพียงอย่างเดียว หรือตัดสินใจเลือกวิธีผ่าคลอดเพียงเพราะต้องการฤกษ์งามยามดีเพียงอย่างเดียว ควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ให้รอบด้านเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของคุณแม่และลูกน้อยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.si.mahidol.ac.th และ http://www.doctor.or.th
วันที่สร้าง 28/12/2016