การตั้งครรภ์เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของผู้หญิงทุกคน โดยร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นอาการแพ้ท้อง ที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงแรก น้ำหนักและรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดการตั้งครรภ์ จนกระทั่งความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัวเมื่อใกล้คลอด และเมื่อครรภ์ครบกำหนด ข้อสงสัยสุดท้ายมักจะเกิดขึ้นกับคุณแม่ทุกคน โดยเฉพาะคุณแม่ครรภ์แรก นั่นคือ... เมื่อไรจะใกล้คลอด
ชวนคุณแม่เช็กอาการ “เจ็บครรภ์เตือน” หรือ เจ็บครรภ์คลอด” แตกต่างกันอย่างไร
โดยปกติแล้วเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ในระยะไตรมาสที่ 3 หรืออายุครรภ์ตั้งแต่ 32-34 สัปดาห์ขึ้นไป ร่างกายของคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ ทำให้มดลูกมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นและเกิดการหดรัดตัวได้ง่ายขึ้น
ช่วงแรก : ระยะก่อนคลอด คุณแม่ส่วนใหญ่มักรู้สึกได้ถึงการหดรัดตัวของมดลูกในจังหวะที่ไม่สม่ำเสมอ อาจมีความถี่ชั่วโมงละ 2-3 ครั้ง หรือวันละ 6-8 ครั้ง ไม่ทำให้รู้สึกปวดหรือเจ็บ แต่จะรู้สึกว่าท้องแข็งหรือปั้นเป็นก้อนขึ้นมาเฉย ๆ ในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่กี่วินาที เราจะเรียกความรู้สึกนี้ว่า “เจ็บครรภ์เตือน” หรืออาจจะเรียกว่า เป็นการซ้อมการหดตัวของมดลูกก็ว่าได้ อาการดังกล่าวนี้เป็นภาวะปกติก่อนคลอด และไม่ใช่อาการนำไปสู่การคลอด แต่เป็นสัญญาณที่บอกว่า... ใกล้ระยะคลอดแล้วนะ
ช่วงสอง : เมื่ออายุครรภ์ของคุณแม่มากขึ้นเรื่อย ๆ ขนาดท้องก็ยังคงขยายขึ้น แม้ว่าจะเข้าใกล้กำหนดคลอดเจ้าตัวน้อย และความไวต่อการหดรัดตัวของมดลูกก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ จากอาการเจ็บครรภ์เตือนก็จะกลายเป็นอาการ “เจ็บครรภ์คลอด” หรือเราจะเรียก “เจ็บครรภ์จริง” ซึ่งคุณแม่สามารถเช็กสัญญาณด้วยตัวเองได้ ดังนี้
- การหดรัดตัวของมดลูกสม่ำเสมอ จะพบว่าความถี่ของการหดรัดตัวของมดลูกจะสม่ำเสมอ มากกว่าหรือเท่ากับ 8 ครั้งต่อชั่วโมง หรือมีความถี่น้อยกว่า 10 นาที แต่ละครั้งจะยาวนาน 30-90 วินาที โดยในระยะเริ่มต้น การหดรัดตัวของมดลูกจะรุนแรงจนรู้สึกได้ คล้ายอาการปวดประจำเดือน และอาจมีอาการปวดร้าวไปหลังล่าง หากการหดรัดตัวมากจนทำให้เกิดการเปิดของปากมดลูก ก็จะเกิดอาการปวดรุนแรงที่มดลูกเป็นจังหวะสม่ำเสมอ
- น้ำเดิน หรือมูกเลือด การเปิดของปากมดลูกจากการหดรัดตัวของมดลูกอาจรุนแรงจนนำไปสู่อาการร่วมที่พบบ่อย ได้แก่ การแตกของถุงน้ำคร่ำ ทำให้มีน้ำสีใส สีขาวขุ่น หรือสีปนขี้เทาเขียว ๆ ออกมาให้เห็น หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “น้ำเดิน” และหากปากมดลูกเปิดมากขึ้นจะทำให้มีการฉีกขาดของหลอดเลือดฝอยปากมดลูกพร้อมกับการหลุดออกของเมือกปากมดลูก ทำให้มีมูกหนืด ๆ ใส ๆ ปนเลือด ออกมากจากช่องคลอด ทั้ง 2 อาการนี้ อาจมีหรือไม่มีก็ได้ภายหลังการเจ็บครรภ์คลอด
ซึ่งระยะเวลาของการเกิดอาการหรือสัญญาณในข้างต้นไปจนเข้าใกล้กำหนดคลอดเจ้าตัวน้อย จะแตกต่างกันไปตามจำนวนการตั้งครรภ์ กล่าวคือ ยิ่งตั้งครรภ์มากครั้ง ระยะเวลาเมื่อเริ่มเจ็บครรภ์จนคลอดจะยิ่งสั้นลง โดยเฉลี่ยแล้ว คุณแม่ครรภ์แรกมักจะใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง จากเริ่มมีอาการเจ็บครรภ์จนคลอดจริง ในขณะที่ในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 ครั้งขึ้นไป ระยะเวลาดังกล่าวอาจสั้นลง เหลือเพียง 2-4 ชั่วโมงเท่านั้น
ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เข้าใกล้กำหนดคลอดเจ้าตัวน้อย และมีอาการดังกล่าวในข้างต้น หมอแนะนำให้รีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการประเมินว่าใกล้คลอดแล้วหรือยัง และเมื่อเข้าระยะใกล้คลอดหรืออายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป (ระยะนี้คือระยะครรภ์ครบกำหนด) คุณพ่อคุณแม่จึงควรเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดตลอดเวลา เนื่องจากเราไม่อาจทราบได้ว่าธรรมชาติจะทำให้เกิดการคลอดเมื่อใด
โดยสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุดในการไปคลอด คือ “สมุดหรือเอกสารฝากครรภ์” เนื่องจากเป็นเอกสารสำคัญที่สรุปข้อมูลจำเป็นสำหรับการดูแลการคลอดไว้ทั้งหมดแล้ว สำหรับสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ที่แนะนำให้เตรียมไว้ ได้แก่
- เสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวของคุณแม่
- ของใช้ต้อนรับเจ้าตัวน้อยที่ควรพกติดกระเป๋า เช่น ชุดทารกแรกเกิด ผ้าอ้อม หรือ ผ้าอ้อมสำเร็จรูปแบบเทป ผ้าห่อตัวสำหรับทารกก่อนกลับบ้าน หากเป็นไปได้อาจจัดเตรียมใส่กระเป๋าหรือตะกร้าให้พร้อมยกขึ้นรถได้ทันที
เพียงเท่านี้คุณแม่ก็พร้อมแล้วสำหรับการคลอด ขอให้มีความสุขกับการต้อนรับสมาชิกใหม่
ขอบคุณข้อมูลจากคุณหมอตั้ว (นพ.ตรีภพ เลิศบรรณพงษ์)
ซึ่งผ้าอ้อมที่ต้องมีติดกระเป๋าเตรียมคลอด เราขอแนะนำ ผ้าอ้อมเบบี้เลิฟ อีซี่เทป สูตรใหม่! ที่ผิวสัมผัสนุ่ม ซึมซับดียาวนาน 10 ชม.(1) และมีเทคโนโลยีทริปเปิ้ลล็อก 3 ขั้น (2) ช่วยป้องกันการรั่วซึมรอบด้าน และผ่านการทดสอบ ไฮโปอัลเลอร์เจนิก ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ (3) สามารถช้อปผ้าอ้อมคุณภาพดี แบบได้ส่วนลดและของแถมฟรีที่ BabyLove Online Shop
(1) ระยะเวลาการซึมซับขึ้นอยู่กับปริมาณปัสสาวะของลูกน้อยแต่ละคน โดยเปรียบเทียบภายในกลุ่มสินค้าเบบี้เลิฟเท่านั้น
(2) แผ่นซึมซับ ขอบขาตั้ง และยางยืดโอบกระชับรอบตัว ป้องกันการรั่วซึม
(3) ไม่ก่อให้เกิดการแพ้หรือการระคายเคืองในกลุ่มทดลอง จากผลการทดสอบ โดยบริษัท Dermscan Asia ประเทศไทย ยกเว้นการแพ้ หรือการระคายเคืองส่วนบุคคล และไม่รวม ถึงการแพ้เนื่องจากการใส่ผ้าอ้อมเป็นระยะเวลานาน หาก เป็นการแพ้ระคายเคืองส่วนบุคคลแนะนำให้ปรึกษาแพทย์
วันที่สร้าง 24/11/2023