สำหรับคุณแม่ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนมีอายุครรภ์มากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าสรีระร่างกายย่อมมีความเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ต้องปรับอิริยาบถต่างๆ ในชีวิตประจำวันกันพอควร โดยเฉพาะเรื่องการนอน เนื่องด้วยหน้าท้องที่โตขึ้นมักจะเป็นอุปสรรคทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดและนอนได้ลำบาก โดยพบว่าปัญหาการนอนคุณแม่ที่มักเป็นกันคือ นอนไม่หลับ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย แต่หากปล่อยปัญหาไว้เรื้อรังอาจส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพกายใจของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ เราจึงอยากขอแนะนำ ท่านอนคนท้องที่ถูกต้อง นอกจากจะช่วยให้คุณแม่นอนหลับสบาย ไม่รู้สึกอึดอัด และป้องกันไม่ให้เกิดตะคริว หรือเกิดอาการเจ็บเสียดท้องน้อยได้ด้วยค่ะ
ท่านอนคนท้องอ่อน (อายุครรภ์ไม่เกิน 4 เดือน หรือ 16 สัปดาห์)
แม้ในช่วงเริ่มตั้งครรภ์การเปลี่ยนแปลงภายนอกอาจดูไม่มากนัก แต่ภายในร่างกายคนท้องจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนแล้ว ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกง่วงมากกว่าปกติ และอยากนอนมากขึ้น คุณแม่ก็ควรพักผ่อนให้เต็มที่ ดังนั้น เมื่อมีช่วงว่าง อาจงีบหลับเป็นพักๆ ในช่วงกลางวัน เพียงแต่ต้องระวัง หากนอนกลางวันมากเกินไป อาจทำให้นอนไม่หลับตอนกลางคืนได้เช่นกัน
ท่านอนที่แนะนำสำหรับคนท้องอ่อน คือ ท่านอนหงาย ค่ะ เนื่องจากการขยายตัวของมดลูก ร่วมกับน้ำหนักจากทั้งมดลูกเอง น้ำหนักของเด็ก รก น้ำคร่ำ ที่มากขึ้นตามลำดับ การนอนตะแคงจะทำให้มดลูกล้มถ่วงไปข้างใดข้างหนึ่ง แล้วไปดึงรั้งปีกมดลูกอีกด้านจนเกิดอาการเจ็บเสียดปีกมดลูกได้ การนอนหงายจึงเป็นท่าที่ทำให้คนท้องหลับสบายได้มากกว่าค่ะ เพียงแต่ในช่วงนี้ เวลานอนไม่ควรหงายหลังลงไปเลย หรือลุกขึ้นมาตรงๆ ทื่อๆ แบบที่ทำอย่างปกตินะคะ แนะนำให้ใช้วิธีตะแคงนอนลง และตะแคงลุกขึ้น โดยนั่งลงข้างเตียงก่อน แล้วค่อยๆ ตะแคงโดยใช้มือช่วยพยุงรับน้ำหนัก จนเมื่อนอนในท่าตะแคงเรียบร้อย ค่อยพลิกตัวนอนหงายอีกทีค่ะ
ท่านอนคนท้องแก่ (อายุครรภ์ 4 เดือน หรือ 16 สัปดาห์ขึ้นไป)
เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 4 ท้องน้อยของคุณแม่จะป่องออกมาค่อนข้างชัดเจนแล้ว หน้าท้องที่โตขึ้นมักเป็นอุปสรรคให้คนท้องนอนลำบาก รู้สึกอึดอัด จึงไม่ควรนอนหงายในช่วงท้องแก่ เพราะอาจทำให้หน้ามืด ตาลาย วิงเวียนศีรษะ เนื่องจากน้ำหนักของมดลูกที่มากขึ้นไปกดทับเส้นเลือดใหญ่ทางด้านหลัง ทำให้เลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจและไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้น้อยลง ยิ่งถ้านอนหงายเป็นเวลานานอาจหมดสติและเป็นอันตรายได้ค่ะ แต่เมื่อมีอาการหน้ามืดดังกล่าว แก้ได้ด้วยการนอนตะแคง ยกขาสูง ดื่มน้ำให้มาก
นอกจากนี้ ท่านอนคว่ำ ก็ไม่เหมาะเช่นกัน ไม่ว่าจะท้องแก่หรือท้องอ่อน เพราะน้ำหนักตัวคุณแม่จะไปกดทับมดลูก ทำให้นอนไม่สบายจนหลับไม่ลง เพราะหายใจไม่ออกและเลือดไหลเวียนได้ไม่ดี ทั้งยังเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์อีกด้วย
ท่านอนที่แนะนำสำหรับคนท้องแก่ คือ ท่านอนตะแคง ค่ะ เช่นเดียวกับคนท้องอ่อน เวลานอนควรนั่งลงข้างเตียงก่อน แล้วค่อยๆ ตะแคงโดยใช้มือช่วยพยุงรับน้ำหนัก อย่าลุกพรวดพราดหรือล้มตัวลงบนที่นอนเร็วเกินไป ในช่วงท้องแก่ แนะนำให้นอนตะแคงเป็นหลักและงอเข่าเล็กน้อย โดยจะตะแคงด้านไหนก็ได้ตามคุณแม่สะดวก รู้สึกดี หายใจโล่ง เพียงแต่ต้องระวังอย่านอนตะแคงด้านใดด้านหนึ่งเป็นเวลานาน
แม้จะมีความเชื่อที่ว่า คนท้องต้องนอนตะแคงซ้ายเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง สูติแพทย์ได้อธิบายแล้วว่า จะนอนตะแคงข้างไหนก็ได้ตามแต่สะดวก ทั้งนี้ ตามสรีระวิทยาของเส้นเลือดใหญ่จะค่อนไปทางด้านขวาเพียงเล็กน้อย จึงไม่ต้องกลัวว่าการนอนตะเเคงขวา จะไปกดทับเส้นเลือดใหญ่จนเป็นอันตราย นอกจากนี้ หากคุณแม่นอนตะแคงด้านใดด้านหนึ่งนานเกินไปก็ย่อมทำให้เกิดอาการอึดอัดไม่สบายตัว คุณแม่จึงควรพลิกตัวสลับข้างกันบ้าง เพื่อไม่ให้เส้นเลือดถูกกดทับนานเกินไปนะคะ
เพื่อเพิ่มความสบายขณะนอนหลับ คุณแม่อาจใช้หมอนข้างสอดช่วงใต้ท้องและระหว่างขา แต่สำหรับคุณแม่ที่มีอาการบวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเท้า การใช้หมอนหนุนใต้เข่าและขาช่วงล่างให้สูงขึ้น ก็ช่วยบรรเทาอาการเท้าบวม ทั้งยังช่วยลดอาการปวดหลังได้ดี โดยคุณแม่อาจใช้หมอนรองปลายเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจเล็กน้อยควบคู่ไปด้วย เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น และอาจเพิ่มหมอนใบใหญ่นุ่มๆหนุนหลัง เพื่อการหลับที่ยาวนานมากขึ้นค่ะ แต่ถ้าขี้เกียจหาหมอนหลายใบ ในปัจจุบันก็มีหมอนคนท้อง ที่รองรับสรีระหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะออกจำหน่าย จะใช้แบบไหนก็ได้เลยค่ะ ขึ้นอยู่กับความสบายของคุณแม่เป็นหลัก
เพียงนอนให้ถูกท่า รับกับสรีระที่เปลี่ยนไปในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ก็สามารถนอนหลับได้อย่างสบายใจแล้วค่ะ แต่หากตื่นกลางดึก แล้วพบว่ากำลังนอนหงาย ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะการเปลี่ยนท่าตอนนอนหลับเป็นธรรมชาติของร่างกาย เพียงแต่เมื่อรู้สึกตัว ก็ปรับท่านอนให้ถูกท่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การที่คุณแม่ได้รับการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงทั้งกับตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์นะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.mamaexpert.com และ http://www.webmd.com
วันที่สร้าง 25/11/2016