คุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร ฉีดวัคซีน COVID-19 ได้หรือไม่? หมอพร้อมตอบข้อสงสัย

คุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร ฉีดวัคซีน COVID-19 ได้หรือไม่? หมอพร้อมตอบข้อสงสัย คุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร ฉีดวัคซีน COVID-19 ได้หรือไม่? หมอพร้อมตอบข้อสงสัย คุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร ฉีดวัคซีน COVID-19 ได้หรือไม่? หมอพร้อมตอบข้อสงสัย

          สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ยังคงวิกฤตไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย แม้อัตราการติดเชื้อในปัจจุบันจะเริ่มลดลงแต่ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากการฉีดวัคซีนยังไม่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ ทำให้การติดเชื้อโควิด 19 ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของสังคมไทยและสังคมโลก โรคโควิด 19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสผ่านระบบทางเดินหายใจ มีความรุนแรงในการแพร่กระจายสูง เนื่องจากยังไม่เคยมีการปรากฏของโรคนี้ในที่ใดมาก่อน ทำให้ร่างกายของมนุษย์เราไม่มีภูมิคุ้มกันและไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นในชุมชนหรือสังคม ต่างจากโรคไข้หวัดใหญ่ที่ประชากรเคยติดเชื้อมาก่อนและมีวัคซีนฉีดกันอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จึงทำให้อัตราการป่วยรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตสูงมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา

         เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 สามารถติดต่อกันได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อ การไอ จาม หรือหายใจรดกัน เมื่อได้รับเชื้อจะก่อให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ บางรายอาจไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้ บางรายอาจแสดงอาการรุนแรงถึงขั้นหายใจล้มเหลวจนต้องได้รับการใส่เครื่องช่วยหายใจ แม้การรักษาในปัจจุบันจะดีกว่าในช่วงแรก ๆ ของการแพร่ระบาดเนื่องจากทีมแพทย์ผู้ดูแลมีประสบการณ์มากขึ้น อย่างไรก็ตามการป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนเป็นกลไกที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค หรือทำให้ความรุนแรงของโรคลดน้อยลงหากมีการติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้อัตราการตายของผู้ป่วยลดลงไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว และที่สำคัญคือ “กลุ่มหญิงตั้งครรภ์” ซึ่งหากมีการติดเชื้อมักมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ นอกจากการติดเชื้อโควิด 19 จะส่งผลกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์หากการติดเชื้อเกิดขึ้นขณะครรภ์ยังไม่ครบกำหนด ส่งผลให้อุบัติการณ์การคลอดก่อนกำหนดในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด 19 สูงขึ้น และทารกแรกเกิดมีภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดก่อนกำหนดตามมา

         วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มีหลายชนิด ได้แก่ วัคซีนเชื้อตาย ไวรัสเวคเตอร์ และ เอ็ม-อาร์-เอ็น-เอ (mRNA) วัคซีน ทุกชนิดอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแตกต่างกัน แต่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเสียชีวิตไม่ต่างกันมากนัก ในปัจจุบันแนะนำว่าประชากรกลุ่มเสี่ยงสูงโดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เพิ่มเติมในขณะตั้งครรภ์ โดยแนะนำให้เริ่มฉีดได้เมื่อพ้นไตรมาสแรกไปแล้วตามจำนวนที่วัคซีนแต่ละสูตรกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับอย่างน้อย 2 ครั้งขณะตั้งครรภ์ ผลการศึกษาส่วนใหญ่พบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในหญิงตั้งครรภ์ให้ผลดีและมีผลข้างเคียงไม่ต่างจากประชากรทั่วไป ทั้งยังได้ประโยชน์ในการลดความรุนแรงของโรคและลดการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ ขณะที่ผลของวัคซีนต่อทารกในครรภ์และการให้นมบุตรก็ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรงในทารกแรกเกิด และไม่มีข้อห้ามสำหรับการให้นมบุตร องค์การอนามัยยังส่งเสริมให้มารดาที่ได้รับวัคซีนสามารถให้นมแม่ได้ตามปกติโดยไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด

         แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากหญิงตั้งครรภ์ไม่ได้รับวัคซีนแล้วติดเชื้อโควิด 19.... หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด 19 มีโอกาสเกิดปอดอักเสบมากกว่าประชากรทั่วไปและมีอัตราการเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตหรือ ICU มากขึ้น บางรายจำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนดดังที่กล่าวข้างต้น ขณะมีหญิงตั้งครรภ์ส่วนหนึ่งอาจมีอาการไม่รุนแรงแต่ก็จำเป็นต้องแยกตัวเพื่อทำการรักษาทั้งในระยะคลอดและหลังคลอด แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะไม่มีข้อห้ามในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด 19 แต่กระบวนการให้นมแม่จะซับซ้อนมากขึ้น และต้องการความร่วมมือจากทั้งมารดา ครอบครัว และบุคลากรต่าง ๆ เช่น มารดาต้องอยู่ห่างจากลูกไม่น้อยกว่า 2 เมตรหากไม่ให้นมบุตร มารดาต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อทุกครั้งเมื่อให้นมบุตรและปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด เช่น การล้างมือ การทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้สะอาดอยู่เสมอ และอาจต้องมีบุคลากรช่วยเหลือภายใต้การสวมชุดปลอดเชื้อในช่วงแรก ๆ ของการคลอด เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงและข้อจำกัดด้านบุคลากรและทรัพยากรสุขภาพ สถานพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยจึงไม่สามารถสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างเต็มที่ และมักจะแยกแม่และลูกภายหลังคลอดเพื่อลดความซับซ้อนของการให้บริการและเพื่อความปลอดภัยของทารกแรกเกิด

         เล่ามาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าการได้รับวัคซีนโควิด 19 ในหญิงตั้งครรภ์มีผลดีมากกว่าผลเสีย มีประโยชน์เพิ่มความปลอดภัยขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด รวมถึงการให้นมบุตร ดังนั้นหมอขอสนับสนุนให้หญิงตั้งครรภ์ทั้งหลายที่ยังลังเล เริ่มพิจารณาและรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 กันนะครับ

         และเบบี้เลิฟเข้าใจถึงความกังวลต่าง ๆ ของคุณแม่มือใหม่ที่ต้องเลี้ยงลูกในยุคนี้ ทั้งในเรื่องของการดูแลและเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับลูกแรกเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูปให้กับลูกวัยนี้ที่มีผิวบอบบาง แพ้ง่าย ซึ่งเราก็มีตัวช่วยดี ๆ อย่าง ผ้าอ้อมเบบี้เลิฟ อีซี่เทป ที่ออกแบบมาพิเศษ ให้มีผิวสัมผัสนุ่ม ไม่ต้องกลัวแพ้ เพราะผ่านการทดสอบไฮโปอัลเลอร์เจนิก ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้* อ่อนโยนต่อผิวสัมผัสลูกน้อย และซึมซับได้ยาวนานถึง 10 ชม. เลยทีเดียว


*ไม่ก่อให้เกิดการแพ้หรือการระคายเคืองในกลุ่มทดลอง จากผลการทดสอบ โดยบริษัท Dermscan Asia ประเทศไทย ยกเว้นการแพ้ หรือการระคายเคืองส่วนบุคคล และไม่รวม ถึงการแพ้เนื่องจากการใส่ผ้าอ้อมเป็นระยะเวลานาน หาก เป็นการแพ้ระคายเคืองส่วนบุคคลแนะนำให้ปรึกษาแพทย์

ขอบคุณบทความจาก ผศ. นพ.ตรีภพ เลิศบรรณพงษ์ สูตินรีแพทย์

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.