อาการแพ้ท้อง เป็นหนึ่งในสัญญาณการตั้งครรภ์ โดยจะเริ่มมีอาการแพ้ท้องประมาน 5-20 สัปดาห์ แต่ในบางรายอาจมีอาการแพ้ท้องตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์ โดยอาการแพ้ท้องของคุณแม่จะแตกต่างกันในแต่ละคน หรือแม้แต่คุณแม่คนเดียวตั้งครรภ์คนละครั้งกัน ก็มีอาการแพ้ท้องที่ไม่เหมือนกัน แต่เอาเป็นว่าถ้าได้รับรู้เอาไว้ว่าอาการแพ้ท้องส่วนใหญ่มีอาการแบบใด จะได้เป็นการเตรียมความพร้อมคุณแม่ในการรับมือค่ะ
เราสามารถแบ่งอาการแพ้ท้องออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. แพ้ท้องเล็กน้อย
มีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะเล็กน้อย แต่ยังพอรับประทานอาหารได้อยู่ แม้ว่าจะทานได้น้อยลง กรณีเช่นนี้ไม่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ แค่คุณพ่อตามใจคุณแม่นิดหน่อยอาการก็จะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลยค่ะ
2. แพ้ท้องปานกลาง
ในกลุ่มนี้คุณแม่จะกินอาหารได้น้อยลง อาเจียนเป็นครั้งคราว รับประทานอาหารไม่ได้เป็นบางช่วง ปัสสาวะมีสีเหลือง เนื่องจากร่างกายขาดน้ำ ในกรณีแบบนี้ อาจจะต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับน้ำเกลือหรือกลูโคส โดยแพทย์อาจจะสั่งจ่ายยาตามอาการ และให้คำแนะนำในการดูแล รวมถึงปรับวิธีการรับประทานทานอาหาร
3. แพ้ท้องรุนแรง
คุณแม่จะทานอะไรไม่ได้เลย อาเจียนอย่างหนัก ร่างกายขาดน้ำและอาหาร น้ำหนักลดลง ร่างกายทรุดโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด ในบางกรณีอาจมีความรุนแรงถึงหลอดอาหารทะลุจากการอาเจียน ไตวาย จอตาอักเสบ ในกรณีนี้ มีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกวิธี
สาเหตุของการแพ้ท้องเกิดจากอะไร
1. เมื่อมีการตั้งครรภ์ร่างกายจะมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเอชซีจีที่รกสร้างสูงขึ้น และไปกระตุ้นอาการคลื่นไส้อยากอาเจียน
2. เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติบกพร่อง ทำให้การรับกลิ่นหรือรับรสผิดเพี้ยนไปจากเดิม ซึ่งถือเป็นกลไกอัตโนมัติที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันไม่ให้คุณแม่กินอะไรโดยไม่ระมัดระวัง เพราะอาจมีสารพิษที่ทำให้ลูกได้รับอันตรายได้
3. คุณแม่ที่มีอารมณ์ที่อ่อนไหว มีความเครียด หรือความวิตกกังวล จะมีโอกาสสูงที่จะพบอาการแพ้ท้องมากกว่าคุณแม่ที่ทั่วไป และการต้องการความสนใจ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ท้องได้
อาการแพ้ท้องมีอะไรบ้าง
โดยส่วนมากมักจะมีอาการในช่วงเช้าหลังตื่นนอน ศัพท์ทางการแพทย์จึงเรียกว่า “Morning Sickness” แต่อาการแพ้ท้องนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นช่วงบ่าย หรือ ช่วงดึก โดยจะมีอาการที่แตกต่างไปของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่โดนส่วนใหญ่จะมีอาการดังนี้
1. รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน
มีอาการอึดอัดท้องและหน้าอกมากจนต้องอาเจียนออกมา อยากจะอาเจียนตลอดเวลา ซึ่งเมื่ออาเจียนตอนท้องว่างและไม่มีอะไรออกมา คุณแม่จะรู้สึกทรมานมาก ในบางกรณีอาจมีความรุนแรงถึงขั้นมีเลือดออกหลอดอาหารและหลอดลมจากการอาเจียนดังกล่าว
2. ความชอบในการกินเปลี่ยนไป
คุณแม่อาจมีอาการอยากกินอาหารที่แปลกไป เช่น อาหารที่มีรสเปรี้ยว หรือ ไม่สามารถกินอาหารที่เคยชอบได้ หรือ อยากกินของที่ไม่เคยชอบได้ เนื่องจากมีรสชาติเฝื่อนขมภายในปากสาเหตุที่มีรสขมในปากมาจากอาหารที่ไม่ย่อย ทำให้กินอะไรก็ไม่อร่อยเหมือนเดิม
3. ไวต่อกลิ่น
เป็นเหตุมาจากระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานบกพร่องในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้ได้กลิ่นที่ผิดเพี้ยนไป หรือทำให้ได้กลิ่นชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น กระเทียม เนื้อสัตว์ หรือแม้แต่น้ำหอมที่เคยชอบ อาจจะกลายเป็นเหม็นไปได้
4. รู้สึกอ่อนล้า
ความรู้สึกร่างกายเหนื่อยล้า นอนเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกเพียงพอ เป็นผลพวงมาจากการไม่สามารถกินได้อย่างปกติ กินอะไรก็ไม่อร่อย และความอ่อนเพลียจากอาการคลื่นไส้อาเจียน
แพ้ท้องทำไง จึงจะบรรเทาอาการ
1. ดื่มนมอุ่นๆ หรือเครื่องดื่มร้อน เช่น น้ำขิง เพราะน้ำขิงสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด อาการคลื่นไส้ได้ ทั้งยังมีสรรพคุณช่วยไล่ลม ลดอาการท้องอืดเฟ้อได้อีกด้วย
2. เลือกกินอาหารที่ย่อยง่ายและอุ่น คุณแม่ควรกินทีละน้อย โดยแบ่งเป็นมื้อย่อยๆ หลายๆมื้อแทนการกินมื้อเดียว เพราะการแพ้ท้องนั้น มีอาการอาเจียนเป็นหลัก ทำให้กระเพาะอาหารทำงานหนัก จึงควรกินอาหารที่ย่อยง่ายเพื่อลดการทำงานหนักของกระเพาะ
3. ออกกำลังกายเบาๆ อาทิ เดินเล่นในยามเช้า เล่นโยคะสำหรับคนท้อง ก็เป็นวิธีช่วยบริหารร่างกาย บรรเทาอาการเครียดของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะเมื่อเกิดอาการแพ้ท้องแล้วอาเจียนบ่อยจะทำให้ร่างกายบริเวณช่วงกลางลำตัวมีการปวดเกร็งได้ การออกกำลังกายจึงมีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อส่วนนี้
4. กลิ่นหอมจากธรรมชาติ สามารถช่วยบรรเทาความเครียดที่ของคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องได้ แนะนำเป็นกลิ่นธรรมชาติมากกว่ากลิ่นสังเคราะห์ เช่น กลิ่นเปปเปอร์มิ้น โดยให้ใช้ความชอบของคุณแม่เป็นหลักเลยค่ะ ว่ากลิ่นไหนดมแล้วรู้สึกผ่อนคลายที่สุด
5. ถ้ามีอาการอาเจียนมากจนกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น กินอาหารไม่ได้ หรืออาเจียนต่อเนื่อง ควรรีบพบแพทย์โดยทันที ไม่แนะนำให้ซื้อยามารับประทานเอง
อาการแพ้ท้องนั้น ถือเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกท่าน ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่อย่างใด แต่เมื่อรู้ถึงที่มา อาการ และช่วงเวลาที่มักเกิดอาการขึ้น ก็จะช่วยให้สามารถรับมือได้ไม่ยากเลยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.mamaexpert.com
วันที่สร้าง 24/11/2016