การตรวจคัดกรองขณะตั้งครรภ์จำเป็น... จริง ๆ หรือ

การตรวจคัดกรองขณะตั้งครรภ์จำเป็น... จริง ๆ หรือ การตรวจคัดกรองขณะตั้งครรภ์จำเป็น... จริง ๆ หรือ การตรวจคัดกรองขณะตั้งครรภ์จำเป็น... จริง ๆ หรือ

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์คงสงสัยกันใช่มั้ยครับว่าเวลาตั้งครรภ์คุณหมอจะตรวจอะไรกันนักหนา ทั้งตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอัลตราซาวด์ และอื่น ๆ อีกมากมาย และคงสงสัยว่ามันจำเป็นจริง ๆ หรือที่ต้องตรวจมากมายขนาดนี้

คำตอบคือ... จริงครับ

การตั้งครรภ์ทุกครั้งล้วนมีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่คุณแม่หลาย ๆ คนมีอายุมากขึ้น มีโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เป้าหมายหลักของการตรวจคัดกรองทั้งหลายจึงมุ่งเน้นไปที่การหาความเสี่ยงที่จะกระทบกับการตั้งครรภ์และพยายามวางแผนหรือให้การดูแลรักษาก่อนเข้าสู่ระยะคลอด เพื่อให้คุณแม่มีความเสี่ยงในระยะคลอดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

แล้วคุณหมอตรวจอะไรกันบ้าง ผมจะเล่าให้ฟัง

นอกจากการตรวจความดันโลหิต และการตรวจปัสสาวะเพื่อดูระดับน้ำตาลและโปรตีนหรือไข่ขาว ซึ่งต้องได้รับการตรวจทุกครั้งที่ไปฝากครรภ์แล้วแล้ว หากเราอ้างอิงการตรวจคัดกรองตามรายไตรมาส ก็จะมีการตรวจคัดกรองที่สำคัญ ดังนี้

ไตรมาสแรก (อายุครรภ์ 0-14 สัปดาห์) ประกอบด้วย

  1. การตรวจเลือดฝากครรภ์ครั้งที่ 1 ได้แก่
    1. ความเข้มข้นเลือด
    2. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ การติดเชื้อซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบชนิด บี และ เอช ไอ วี
    3. โรคหรือพาหะโรคธาลัสซีเมีย
    4. ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (เฉพาะกลุ่มเสี่ยง)
  2. การตรวจพิเศษอื่น ๆ ได้แก่
    1. การตรวจอัลตราซาวด์เพื่อกำหนดอายุครรภ์ (เฉพาะรายที่มีข้อบ่งชี้)
    2. การตรวจคัดกรองทารกดาวน์ ไตรมาสที่ 1

ไตรมาสที่สอง (อายุครรภ์ 14-28 สัปดาห์) ประกอบด้วย

  1. การตรวจเลือด ได้แก่
    1. ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (เฉพาะกลุ่มเสี่ยง) ครั้งที่ 2
  2. การตรวจพิเศษอื่น ๆ ได้แก่
    1. การตรวจอัลตราซาวด์เพื่อดูโครงสร้างของทารกในครรภ์
    2. การตรวจคัดกรองทารกดาวน์ ไตรมาสที่ 2 ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจในไตรมาสแรกได้
    3. การวินิจฉัยทารกในครรภ์ (กรณีมีข้อบ่งชี้) เช่น การเจาะน้ำคร่ำในคุณแม่ที่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ทารกดาวน์ หรือ ในคุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
    4. การตรวจความยาวปากมดลูก เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด

ไตรมาสที่สาม (อายุครรภ์ 28-40 สัปดาห์) ประกอบด้วย

  1. การตรวจเลือดฝากครรภ์ ครั้งที่ 2 ได้แก่
    1. ความเข้มข้นเลือด
    2. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ การติดเชื้อซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบชนิด บี และ เอช ไอ วี
  2. การตรวจพิเศษอื่น ๆ ได้แก่
    1. การตรวจอัลตราซาวด์เพื่อประเมินการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ (เฉพาะรายที่มีข้อบ่งชี้)

แม้จะมีการตรวจคัดกรองมากมายอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ในขณะคลอดก็ยังคงมีอยู่ เช่น การเกิดครรภ์เป็นพิษ ภาวะตกเลือดหลังคลอด หรือแม้แต่การคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น และคุณหมอทุกท่านก็ล้วนเตรียมพร้อมสำหรับความเสี่ยงดังกล่าวเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย

ถึงตอนนี้คุณแม่หลาย ๆ ท่านคงจะนึกภาพออกแล้วนะครับว่าจะเกิดความเสี่ยงมากมายเพียงใด หากคุณแม่ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองใด ๆ เลยเมื่อตั้งครรภ์ ดังนั้นลองถามคุณหมอดูนะครับว่ามีการตรวจใดบ้างที่แนะนำให้ทำเพื่อลดความเสี่ยงลงให้ได้มากที่สุด... 

ขอบคุณบทความจาก ผศ. นพ.ตรีภพ เลิศบรรณพงษ์ สูตินรีแพทย์

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.