“ถ้าป่วยตอนตั้งครรภ์ แนะนำให้ปฏิบัติตัวอย่างไรดีคะ คุณหมอ”
“เวลาไม่สบาย กินยาอะไรได้บ้างคะ คุณหมอ”
สองคำถามนี้นับเป็นคำถามยอดฮิตในคลินิกฝากครรภ์และมักจะสร้างความกังวลใจให้คุณแม่ทั้งหลายอยู่เสมอ เพราะกลัวว่าความเจ็บป่วยรวมถึงการกินยาจะส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์
ธรรมชาติสร้างให้คุณแม่ตั้งครรภ์อ่อนแอลง เพื่อให้ลูกในครรภ์ไม่ถูกทำร้ายจากระบบภูมิคุ้มกันอันเก่งกาจของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้การตั้งครรภ์จึงทำให้คุณแม่มีความเจ็บป่วยหรือไม่สบายง่ายกว่าคนทั่วไป และเมื่อมีอาการไม่สบายก็มักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไปเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อตั้งครรภ์ คุณแม่ทุกคนจึงมักได้รับคำแนะนำให้ป้องกันตัวเองจากความเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น การได้รับวัคซีนป้องกันโรค ใส่หน้ากากอนามัยหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสคนป่วย หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก รวมทั้งคำแนะนำในการปฏิบัติตัวพื้นฐาน เช่น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และดื่มน้ำให้เพียงพอ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ก็ยังมีโอกาสเจ็บป่วยหรือไม่สบายในขณะตั้งครรภ์อยู่ดี แล้วจะทำอย่างไรดีเมื่อไม่สบาย วันนี้หมอมีข้อแนะนำดี ๆ มาฝากกัน
การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อคุณแม่ไม่สบาย
บางครั้งการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยหรืออาการไม่สบายที่ไม่รบกวนชีวิตประจำวันมากนัก คุณแม่ก็สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้โดยไม่ต้องไปพบคุณหมอ เช่น การเช็ดตัวเพื่อลดไข้ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถกินยาสามัญเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยอย่างปลอดภัย ได้แก่
- ไข้หวัด สามารถกินยาลดไข้พาราเซตามอล (ไม่เกิน 8 เม็ดหรือ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยรับประทานในขนาด 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 1 เม็ด 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง) และยาลดน้ำมูกคลอเฟนิรามีน (ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2-3 เวลา หลังอาหารหรือก่อนนอน ยานี้มีผลข้างเคียงทำให้ง่วง ซึมได้) เพื่อบรรเทาอาการ พักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอ (2 ลิตรต่อวัน) และระมัดระวังห้ามจิบยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย สามารถใช้ยาทาหรือยานวดเฉพาะที่ตามตำแหน่งที่มีอาการปวดได้
- ถ่ายเหลวที่ไม่มีไข้หรือมูกเลือดปน สามารถดื่มน้ำเกลือแร่สลับกับน้ำต้มสุกเพื่อชดเชยการขาดน้ำและเกลือแร่ได้
- ผื่นคันตามร่างกายที่ไม่มีไข้หรือตุ่มหนอง สามารถใช้ยาทาคาลาไมน์หรือรับประทานยาคลอเฟนิลามีนเพื่อลดอาการคันได้
ทั้งนี้แนะนำให้ไปพบคุณหมอหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือมีอาการอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น
เมื่อไรต้องให้หมอดูแล
เมื่ออาการเจ็บป่วยหรือไม่สบายรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรือคุณแม่รู้สึกกังวลใจกับความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นว่าจะมีอันตรายต่อตนเองหรือลูกในครรภ์หรือไม่ แนะนำให้ไปพบคุณหมอทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอาการต่อไปนี้ ได้แก่ ไข้สูงลอยที่ไม่ดีขึ้นหลังกินยาพาราเซตามอล ไข้ออกผื่น ปวดศีรษะมาก ตาพร่ามัว หายใจหอบเหนื่อยจนนอนราบไม่ได้ ปัสสาวะแสบขัด หรือถ่ายเหลวที่มีไข้หรือมีมูกเลือด เหล่านี้เป็นอาการนำของความเจ็บป่วยที่รุนแรงขณะตั้งครรภ์ แนะนำให้ไปพบคุณหมอเพื่อรีบทำการตรวจและวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและให้การรักษาแต่เนิ่น ๆ ไม่แนะนำให้ใช้โทรศัพท์หรือสื่อสังคมออนไลน์ สอบถามคุณหมอหรือสถานพยาบาลต่าง ๆ เพราะการวินิจฉัยโรคผ่านช่องทางเหล่านี้อาจเกิดความผิดพลาดเนื่องจากข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือไม่เพียงพอ การสื่อสารทางโทรศัพท์ควรสงวนไว้สำหรับการปรึกษาข้อปฎิบัติตัวที่เหมาะสมขณะตั้งครรภ์หรือขั้นตอนการฝากครรภ์และการคลอดเป็นหลัก
จะเห็นได้ว่าการเจ็บป่วยหรือไม่สบายขณะตั้งครรภ์ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด คุณแม่สามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ในกรณีที่อาการไม่รุนแรงและไปพบคุณหมอหากอาการไม่ดีขึ้นหรือเมื่อมีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง แต่หากเป็นไปได้ การดูแลสุขภาพเพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วยหรือไม่สบายขณะตั้งครรภ์… คือสิ่งที่ดีที่สุด
ขอบคุณบทความจาก ผศ. นพ.ตรีภพ เลิศบรรณพงษ์ สูตินรีแพทย์
วันที่สร้าง 06/03/2017