'ท้องแล้วจ้า' ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความยินดีกับคุณแม่มือใหม่ทุกท่านที่ได้ก้าวเข้าสู่บทบาทใหม่ในชีวิตคู่ และคงใจเต้นตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ ไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวหรือทำตัวอย่างไรดี ไม่ต้องเครียดไป วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังว่าต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งก็ยังมี “10 เรื่องน่ารู้คุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่” สามารถอ่านเพิ่มได้ที่นี่ คลิก
สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อรู้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์
ซึ่งอาจจะด้วยประจำเดือนที่ขาดไป หรือตรวจการตั้งครรภ์แล้วขึ้น 2 ขีดก็ตาม นั่นคือ "ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์" เพราะด้วยเทคโนโลยีและความก้าวหน้าด้านการแพทย์ทำให้ปัจจุบันการฝากครรภ์ลดความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์ได้อย่างมาก โดยทั่วไปในการฝากครรภ์ครั้งแรกจะมีกระบวนการมาตรฐานซึ่งต้องทำในช่วงไตรมาสแรก ดังนี้
1) การบันทึกประวัติ เพื่อค้นหาความเสี่ยงจากโรคประจำตัว ประวัติการรักษาต่าง ๆ การแพ้ยา รวมทั้งโรคซ่อนเร้นที่พบได้จากการตรวจร่างกาย เช่น โรคไทรอยด์ โรคหัวใจ เป็นต้น ทั้งนี้เพียงการซักประวัติก็สามารถทำให้ทราบความเสี่ยงจากโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพในอดีต เพื่อนำมาวางแผนการรักษาได้ในเบื้องต้น
2) การตรวจอัลตราซาวด์ มีประโยชน์ในการตรวจความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ของเบบี๋ในครรภ์ และอวัยวะหลักภายในช่องท้อง การวัดขนาดของเบบี๋จากการตรวจอัลตราซาวด์นั้น ยังช่วยให้ทราบอายุครรภ์ของคุณแม่ รวมทั้งกำหนดวันคลอดเบบี๋ในกรณีของคุณแม่ที่มีประจำเดือนไม่แน่นอน ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในการดูแลช่วงใกล้คลอด ช่วยลดความเสี่ยงการตั้งครรภ์เกินกำหนด ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของเบบี๋ในครรภ์ได้นั่นเอง นอกจากนี้การตรวจอัลตราซาวด์ยังทำให้คุณแม่ได้เห็นภาพเบบี๋ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในครรภ์ ก่อให้เกิดความรักและความผูกพันตั้งแต่เบบี๋ยังไม่คลอดอีกด้วย
3) การตรวจเลือดเพื่อคัดกรองความเสี่ยงที่สำคัญและพบบ่อยขณะตั้งครรภ์ มีประโยชน์และความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนการดูแลรักษาที่เหมาะสมในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่ การตรวจหาภาวะซีดและเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และพาหะโรคธาลัสซีเมีย
4) การตรวจพิเศษอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจหาความเสี่ยงทารกกลุ่มอาการดาวน์ หรือ Down syndrome เพราะเป็นอีกหนึ่งความกังวลใจของคุณแม่ตั้งครรภ์หลายท่าน ส่วนใหญ่จะพบในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่ทารกจะเป็นดาวน์ซินโดรมสูงถึง 1 ใน 250 และยิ่งอายุมากเท่าไร ความเสี่ยงก็จะยิ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบในกลุ่มแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี หรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากไม่ได้รับคำแนะนำในการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม ดังนั้นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรตรวจหาภาวะดาวน์ซินโดรมตั้งแต่เนิ่น ๆ กันนะครับ
5) การรับยาโฟลิกอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงไตรมาสแรกเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจริญผิดปกติของสมองทารก เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์ย่อมต้องการให้เบบี๋ที่กำลังจะเกิดมาร่างกายสมบูรณ์ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือบำรุงครรภ์ด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็น โดยหนึ่งในสารอาหารที่จำเป็น ก็คือ กรดโฟลิก ที่คุณแม่ควรเสริมสร้างเพื่อต้านทานความพิการของทารกแต่กำเนิด
สำหรับช่วงไตรมาสแรกหรืออายุครรภ์ 0 - 14 สัปดาห์ มีเพียง 2 อาการ ที่ต้องสังเกต ได้แก่
1) อาการแพ้ท้อง มักเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 8-12 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและจะหายไปเองเมื่อพ้นไตรมาสแรก สำหรับรายที่มีอาการแพ้ท้องรุนแรง ก็ไม่ต้องกังวลไปนะครับ เพราะมียาที่ช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้เป็นอย่างดีในปัจจุบัน
นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้อง ได้แก่ การรับประทานอาหารปริมาณน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง การดื่มหรือจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ รวมทั้งการพักผ่อนเพิ่มขึ้นเพื่อลดความอ่อนเพลียจากอาการแพ้ท้อง รวมทั้งการรับประทานยาเพื่อลดอาการดังกล่าว
2) อาการเลือดออกจากช่องคลอด เป็นอาการนำของการแท้งบุตรหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก ดังนั้นหากคุณแม่ท่านใดสังเกตพบว่ามีอาการเลือดออกจากช่องคลอดไม่ว่ามากหรือน้อยก็ตาม หมอแนะนำให้รีบไปตรวจที่โรงพยาบาลทันที เพื่อค้นหาสาเหตุและวางแผนการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป
จะเห็นได้ว่าในการฝากครรภ์ครั้งแรกมีกิจกรรมที่ต้องทำมากมาย ทั้งนี้ก็เพื่อค้นหาความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์และวางแผนการดูแลเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มคุณภาพการตั้งครรภ์นั่นเอง
ถึงตอนนี้คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมตัวให้พร้อมไปฝากครรภ์กันแล้วนะครับ ขอให้มีความสุขกับการตั้งครรภ์และผ่านการเปลี่ยนแปลงในไตรมาสแรกไปอย่างราบรื่นนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก คุณหมอตั้ว (นพ.ตรีภพ เลิศบรรณพงษ์)
ส่วนคุณแม่ท่านไหนที่เริ่มหาของใช้ไว้ให้เจ้าตัวน้อย อย่าลืมของสำคัญที่เบบี๋ต้องใส่ อย่าง ‘ผ้าอ้อมเบบี้เลิฟ อีซี่เทป’ ที่ซึมซับดียาวนาน 10 ชม.(1) และมีเทคโนโลยีทริปเปิ้ลล็อก 3 ขั้น(2) ช่วยป้องกันการรั่วซึมรอบด้าน บอกเลยช่วยคลายกังวลให้คุณแม่มือใหม่ไปได้เยอะ! คุณแม่สามารถตามไปช้อปผ้าอ้อมที่ออกแบบเพื่อเบบี๋แรกเกิดโดยเฉพาะ ได้ที่ BabyLove Online Shop
(1) ระยะเวลาการซึมซับขึ้นอยู่กับปริมาณปัสสาวะของลูกน้อยแต่ละคน โดยเปรียบเทียบภายในกลุ่มสินค้าเบบี้เลิฟเท่านั้น
(2) แผ่นซึมซับ ขอบขาตั้ง และยางยืดโอบกระชับรอบตัว ป้องกันการรั่วซึม
วันที่สร้าง 28/03/2024