“หมอคะ เมื่อไรจะได้ทำอัลตราซาวน์” เป็นคำถามยอดฮิตในคลินิกฝากครรภ์ เพราะคุณแม่ทุกคนล้วนมีความกังวลใจว่าลูกจะแข็งแรงมั้ย หรือมีความอยากรู้ว่าลูกจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง และคิดว่าการตรวจอัลตราซาวน์น่าจะให้คำตอบได้ วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่หมอจะได้เล่าเรื่องการตรวจอัลตราซาวน์ให้คุณแม่ได้อ่านกัน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเกิดประโยชน์มากที่สุด
การตรวจอัลตราซาวน์เป็นกระบวนการสืบค้นเพิ่มเติมรูปแบบหนึ่งที่นิยมทำในขณะตั้งครรภ์ เช่นเดียวกับการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ ดังนั้นลำดับแรกที่คุณแม่ต้องทำความเข้าใจคืออัลตราซาวน์คืออะไร
การตรวจอัลตราซาวน์ เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง สะท้อนและสร้างเป็นภาพโดยอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้แพทย์สามารถตรวจและวินิจฉัยทารกในครรภ์ผ่านภาพที่เกิดขึ้นได้ หลักฐานทางการแพทย์ในปัจจุบันพบว่าการตรวจอัลตราซาวน์นั้นไม่มีอันตรายกับทารกในครรภ์แต่อย่างใด ดังนั้นจึงสามารถทำได้หลายครั้งในขณะตั้งครรภ์ และไม่เหมือนการตรวจเอกซเรย์ซึ่งใช้รังสีเอกซ์ที่สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้หากได้รับปริมาณรังสีเอกซ์ขนาดสูงเกินไป อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าการสืบค้นเพิ่มเติมแล้ว หมอไม่แนะนำให้ทำอย่างพร่ำเพรื่อในทุก ๆ ครั้งที่มาฝากครรภ์ แต่แนะนำให้ทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เนื่องจากการตรวจอัลตราซาวน์มากเกินจำเป็น อาจสร้างความเครียดและความกังวลใจให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ได้
หมอเคยมีประสบการณ์ของคุณแม่ที่มีความเครียดและความกังวลใจมากตลอดการตั้งครรภ์ แม้ว่าผลสุดท้ายเจ้าตัวเล็กจะคลอดออกมาปกติ เพราะได้รับการตรวจอัลตราซาวน์บ่อยเกินจำเป็น แต่ไม่สามารถมองเห็นภาพอวัยวะบางอย่างของทารกในครรภ์ได้อย่างชัดเจน หรือบางรายอาจเห็นภาพแต่ไม่ชัดเจนพอ จนทำให้แปลผลการตรวจผิดไป
แล้วอย่างนี้จะตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงบ่อยแค่ไหนดีล่ะครับ... คำตอบคือ แนะนำให้ตรวจอัลตราซาวน์ตามข้อบ่งชี้ โดยแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
- เพื่อกำหนดอายุครรภ์และกำหนดวันคลอดที่แน่นอนในไตรมาสแรก โดยเฉพาะในคุณแม่ที่จำประจำเดือนครั้งสุดท้ายไม่ได้ คุณแม่ที่เคยผ่าตัดคลอดมาก่อน หรือการตรวจร่างกายพบขนาดของมดลูกไม่สอดคล้องจากอายุครรภ์ที่นับจากประจำเดือน เป็นต้น
- เพื่อตรวจหาความผิดปกติของโครงสร้างทารกในครรภ์ในไตรมาสที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจอวัยวะสำคัญที่มีผลต่อการดำรงชีวิต ได้แก่ สมอง และ หัวใจ ในระยะนี้หากทารกในครรภ์อยู่ในท่าที่เหมาะสม จะสามารถมองเห็นเพศได้อย่างชัดเจน
- เพื่อตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ในไตรมาสที่สาม ว่าสอดคล้องกับอายุครรภ์และเป็นไปตามเกณฑ์ปกติหรือไม่
อย่างไรก็ตามคุณแม่บางรายอาจได้รับการตรวจอัลตราซาวน์มากกว่านี้ ขึ้นกับวิจารณญาณของแพทย์ผู้ดูแลรักษาและการตรวจพบที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ยังมีสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่คุณแม่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจอัลตราซาวน์ในขณะตั้งครรภ์ นั่นก็คือ การตรวจอัลตราซาวน์เป็นเพียงการสืบค้นเพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการดูแลขณะตั้งครรภ์ แต่ไม่สามารถให้คำตอบเรื่องความแข็งแรงหรือความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ได้ทั้งหมด และในความเป็นจริง ความสมบูรณ์แข็งแรงของเจ้าตัวเล็กนั้นจะได้รับการตรวจประเมินโดยทีมแพทย์อย่างละเอียด ตั้งแต่ภายหลังคลอดเรื่อยไปจนตลอดระยะวัยเด็กตามลำดับ
ถึงตอนนี้... คุณแม่น่าจะได้คำตอบแล้วว่าการตรวจอัลตราซาวน์บ่อย ๆ ในขณะตั้งครรภ์นั้น ดีหรือไม่... จริงมั้ยครับ
ขอบคุณบทความจาก ผศ. นพ.ตรีภพ เลิศบรรณพงษ์ สูตินรีแพทย์
วันที่สร้าง 16/08/2017