ปัญหาการนอนของแม่ตั้งครรภ์ เรื่องสำคัญไม่ควรนอนใจ

ปัญหาการนอนของแม่ตั้งครรภ์ เรื่องสำคัญไม่ควรนอนใจ ปัญหาการนอนของแม่ตั้งครรภ์ เรื่องสำคัญไม่ควรนอนใจ ปัญหาการนอนของแม่ตั้งครรภ์ เรื่องสำคัญไม่ควรนอนใจ

          แม้จะทราบดีว่า การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพคุณแม่และพัฒนาการทารกในครรภ์ แต่คุณแม่ตั้งครรภ์จำนวนไม่น้อยมักจะประสบปัญหาการนอน ทั้งนี้เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและระดับฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ ทำให้คนท้องนอนไม่หลับหรือหลับได้ยาก ซึ่งพบได้ในแทบทุกระยะของการตั้งครรภ์ ยิ่งถ้ามีปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเครียด วิตกกังวล ไม่ว่าจะเรื่องชีวิตประจำวัน ภาระหน้าที่ เข้ามาประกอบ จะยิ่งส่งผลต่อปัญหาการนอนคุณแม่ เพื่อป้องกันผลเสีย คนรอบข้างจึงควรให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว ควบคู่ไปกับทำความเข้าใจกับปัญหาการนอนที่คุณแม่กำลังพบเจอ เพื่อจะได้ช่วยกันแก้ไขได้ถูกจุดค่ะ

 

 

รู้จักปัญหาการนอนของแม่ระหว่างตั้งครรภ์แต่ละไตรมาส

1. ไตรมาสที่ 1 (อายุครรภ์ 1-12 สัปดาห์)

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมีระดับสูงขึ้นกว่าปกติ ส่งผลให้คุณแม่บางคนมีอาการง่วงหาวนอนมากเป็นพิเศษ แต่คุณแม่จำนวนไม่น้อยอาจรู้สึกหงุดหงิด อ่อนเพลีย ซึมเศร้า และนอนไม่หลับ หรืออาจมีอาการง่วงมาก แต่กลับนอนหลับไม่สนิท สำหรับในช่วงนี้คุณแม่อาจมีพฤติกรรมการนอนที่ผิดไปจากเดิม กลางวันหลับยาว กลางคืนตาสว่าง

การที่คนท้องนอนดึกถือเป็นเรื่องปกติค่ะ ถึงแม้จะนอนผิดเวลาไป แต่ยังไงก็ควรพักผ่อนให้ได้อย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน หากไม่สามารถข่มตานอนในตอนกลางคืนได้ ก็ควรหาเวลางีบในช่วงกลางวันแทน เนื่องจากการที่คนท้องนอนไม่พอ มักเสี่ยงต่อดันโลหิตสูง รวมถึงโรคอื่นๆ ที่อาจตามมาเมื่อร่างกายอ่อนแอ

2. ไตรมาสที่ 2 (อายุครรภ์ 13-28 สัปดาห์)

เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น น้ำหนักของทารกก็ย่อมเพิ่มขึ้น ทำให้คุณแม่รู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้ชัดเจน ทั้งนี้โดยปกติทารกในครรภ์จะมีการเคลื่อนเกือบตลอดเวลาอยู่แล้ว ทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดบ้าง บางครั้งนอนหลับอยู่ ลูกอาจดิ้นไปเตะมดลูกทำให้แม่เจ็บและสะดุ้งตื่นได้ ยิ่งเมื่อประกอบกับระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายที่ยังคงสูงอยู่ ทำให้คนท้องนอนหลับไม่ค่อยสนิทในช่วงนี้ค่ะ

          นอกจากนี้ ปัญหาการนอนที่ตามมาจากขนาดมดลูกที่โตขึ้น ก็คือ มดลูกไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ เป็นเหตุให้คุณแม่ต้องลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำบ่อยๆ อีกทั้งท้องที่โตขึ้นอาจทำให้คุณแม่หายใจไม่สะดวก เพราะตัวเด็กไปกดทับปอดนี่แหละค่ะ ช่วงนี้คุณแม่จึงไม่ควรนอนหงายเลย เปลี่ยนเป็นนอนตะแคงจะรู้สึกสบาย หายใจได้โล่งกว่า

3. ไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ 29-40 สัปดาห์)

จากการขยายขนาดท้องมากขึ้น ตามขนาดของลูกน้อยในครรภ์ ในช่วงนี้คุณแม่จึงมักมีอาการปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดที่ หลัง ขา อวัยวะเพศ เชิงกราน บางครั้งอาจมีอาการปวดหัวร่วมด้วย ยิ่งเมื่อขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นของทารกดันกระบังลม ก็ส่งผลให้หายใจไม่สะดวก คุณแม่จึงควรนอนในท่าตะแคงเพื่อให้หลับสบายได้มากขึ้น

 

เคล็ดลับคนท้องหลับสบาย

          จากปัญหาแต่ละไตรมาสที่กล่าวมา อาจทำให้คุณแม่หลับได้ยาก ซึ่งการพักผ่อนไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลเสียต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ เพื่อการนอนหลับสนิทและยาวนาน คุณแม่และคนในครอบครัวสามารถช่วยกันให้คุณแม่ตั้งครรภ์หลับสบายได้ ดังนี้ค่ะ

  • ความเครียดจากการทำงานหรือสิ่งแวดล้อมมีผลต่อการนอน จึงควรช่วยกันกำจัดสาเหตุของความเครียดวิตกกังวลต่างๆ เมื่อคุณแม่สบายใจ ก็จะนอนหลับได้ง่ายขึ้นค่ะ
  • ออกกำลังกายตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ อาจจะทำกายบริหาร เดินเล่น โยคะ ในท่าทางที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตราย จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดความเมื่อยล้า การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ทั้งยังส่งผลดีต่ออารมณ์ของคุณแม่ ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น
  • สร้างบรรยากาศในการนอนให้เหมาะสม กำจัดสิ่งรบกวนการนอนให้มากที่สุด และปรับเปลี่ยนเครื่องนอนให้เหมาะกับสรีระคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยอาจมีหมอนเสริมหลายใบหน่อย เพื่อรองรับน้ำหนักและบรรเทาอาการปวด
  • ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจก่อนการนอน อาจใช้วิธีอาบน้ำอุ่น ช่วยคลายกล้ามเนื้อ ฟังดนตรีที่ผ่อนคลาย ให้คุณพ่อช่วยนวดด้วยโลชั่นที่มีกลิ่นหอม หรืออ่านหนังสือก่อนนอน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์มักปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติอยู่แล้ว ถ้าตื่นขึ้นมากลางดึกอาจทำให้กลับไปนอนต่อได้ยาก
  • เข้านอนเป็นเวลา แม้ในขณะตั้งครรภ์ คุณแม่อาจหลับได้ยากหน่อย แต่ถ้าพยายามปรับเวลาตื่นและนอนเป็นประจำทุกวัน ร่างกายก็จะปรับตัวได้เองค่ะ

 

          การดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่คุณแม่และคนในครอบครัวควรช่วยกัน ให้คุณแม่ได้นอนหลับอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง สำหรับคุณแม่ที่ประสบปัญหาการนอน ก็ไม่ควรวิตกจนเกินไปค่ะ ถ้ายิ่งเครียดก็ยิ่งนอนไม่หลับ สุขภายกายและใจของคุณแม่มีผลต่อทารกในครรภ์อย่างมาก อย่างไรก็ดี หากทำตามคำแนะนำแล้ว คุณแม่ยังนอนไม่หลับตลอดทั้งคืนต่อเนื่องกันยาวนาน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วยค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.pregnancysquare.com และ http://www.mamaexpert.com

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.