รกเกาะต่ำ... ธรรมชาติ ที่ไม่ปกติของการตั้งครรภ์

รกเกาะต่ำ... ธรรมชาติ ที่ไม่ปกติของการตั้งครรภ์ รกเกาะต่ำ... ธรรมชาติ ที่ไม่ปกติของการตั้งครรภ์ รกเกาะต่ำ... ธรรมชาติ ที่ไม่ปกติของการตั้งครรภ์

คุณแม่ครับ... หมอตรวจพบว่าคุณแม่มีรกเกาะต่ำคุณหมอกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

แล้วจะมีอันตรายมั้ยคะคุณหมอ” … คุณแม่แสดงสีหน้ากังวลใจ

บทสนทนาข้างต้นพบได้บ่อยในคลินิกฝากครรภ์ และมักจะสร้างความเครียดให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่เสมอ เพราะสิ่งตรวจพบที่คุณหมอแจ้งให้ทราบ ถือเป็นสิ่งผิดปกติโดยธรรมชาติของการตั้งครรภ์

ในการตั้งครรภ์ปกติ มดลูกจะมีลักษณะทรงรี ภายในบรรจุถุงน้ำคร่ำที่มีทารกอยู่ภายใน วางตัวอยู่เหนือทางออกของมดลูกที่เรียกว่า “ปากมดลูก” หรือ “คอมดลูก” ขณะที่รกซึ่งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนอาหารสำคัญของมารดาและทารกมักจะเกาะอยู่ในพื้นที่ส่วนบนของโพรงมดลูก เพื่อไม่ให้ขวางช่องทางคลอดไม่ว่าจะเป็นการคลอดโดยธรรมชาติทางช่องคลอดหรือโดยการผ่าตัดคลอด อย่างไรก็ตามในคุณแม่ตั้งครรภ์บางรายอาจตรวจพบการเกาะของรกที่ผิดปกติ กล่าวคือ รกย้ายมาเกาะที่ส่วนล่างของโพรงมดลูก เราจะเรียกการเกาะของรกในลักษณะนี้ว่า รกเกาะต่ำ

รกเกาะต่ำสามารถแบ่งได้หลายชนิดตามตำแหน่งของการเกาะที่ส่วนล่างของโพรงมดลูก จากรูปด้านซ้ายสุดแสดงรกเกาะต่ำที่คลุมปากมดลูกไว้ทั้งหมด รกเกาะต่ำชนิดนี้เป็นชนิดที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ขณะที่รูปกลางและรูปด้านขวา ตำแหน่งการเกาะของรกขยับออกมาจากปากมดลูก โดยรูปกลางขอบรกหรือบางส่วนของชายรกคลุมเหนือปากมดลูก ขณะที่รูปทางขวาขอบรกอยู่ใกล้แต่ไม่คลุมปากมดลูก ซึ่งจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าสองรูปแรก

ภาพแสดงรกเกาะต่ำชนิดต่าง ๆ (ภาพประกอบโดย รศ. นพ.ตรีภพ เลิศบรรณพงษ์)

การตั้งครรภ์ที่มีรกเกาะต่ำจัดว่าเป็นการตั้งครรภ์เสี่ยงสูง พบได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เคยมีรกเกาะต่ำมาก่อน เคยได้รับการผ่าตัดคลอดหรือได้รับการผ่าตัดในโพรงมดลูก ครรภ์แฝด คุณแม่ที่สูบบุหรี่ประจำ ด้วยส่วนล่างของโพรงมดลูกเป็นบริเวณที่มีกล้ามเนื้อมดลูกจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับส่วนบนของโพรงมดลูก ซึ่งกล้ามเนื้อมดลูกมีส่วนสำคัญในการหดรัดตัวเพื่อหยุดเลือดภายหลังรกคลอด ด้วยเหตุนี้ปัญหาสำคัญของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีรกเกาะต่ำ ได้แก่ เลือดออกจากโพรงมดลูก หรือ เลือดออกจากช่องคลอด ทั้งในขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด และหลังคลอด ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือตกเลือดหลังคลอด ทั้งนี้การวินิจฉัยที่แน่นอนว่ามีรกเกาะต่ำหรือไม่ สามารถทำได้โดยการตรวจอัลตราซาวด์ในระยะไตรมาสที่สาม

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีรกเกาะต่ำอย่าเพิ่งตกใจไปครับ ต่อไปนี้ผมจะแนะนำการปฏิบัติตัวหากทราบว่ามีรกเกาะต่ำ ดังนี้

  1. ฝากครรภ์ตามนัดและติดตามการดูแลอย่างสม่ำเสมอ
  2. รับประทานยาธาตุเหล็กเป็นประจำเพื่อลดภาวะซีด ทำให้สามารถทนการเสียเลือดได้มากขึ้น
  3. งดการมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากจะทำให้เกิดเลือดออกได้
  4. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงเบ่ง ซึ่งเพิ่มความดันในช่องท้องและทำให้เลือดออกได้ เช่น การเบ่งถ่ายอุจจาระ การยกของหนักมาก ๆ เป็นต้น
  5. หมั่นสังเกตอาการเลือดออกจากช่องคลอดอย่างมีสติ โดยเฉพาะในระยะไตรมาสที่สามที่เริ่มมีการแข็งตัวของมดลูกซึ่งเป็นสาเหตุให้มีเลือดออกได้ ทั้งนี้ความรุนแรงของการเสียเลือดแปรผันกับปริมาตรเลือดที่ออก สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องรีบเข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเมื่อมีเลือดออกจากช่องคลอด แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม เนื่องจากเราไม่อาจคาดเดาการเกิดเลือดออกซ้ำได้

แม้ว่าภาวะรกเกาะต่ำจะมีความเสี่ยงสูง แต่หากได้รับการดูแลและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และคุณแม่สามารถไปโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงทีเมื่อมีเลือดออก ก็จะสามารถทำให้ทีมแพทย์มีเวลาในการเตรียมการเพื่อดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้คุณแม่และลูกในครรภ์ปลอดภัยที่สุด

ขอบคุณบทความจาก ผศ. นพ.ตรีภพ เลิศบรรณพงษ์ สูตินรีแพทย์

 

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.