ช่วง 3 เดือนแรกตั้งแต่ลูกน้อยกำเนิดมาบนโลกนี้ถือเป็น “ช่วงเวลาปรับตัว” ที่คุณแม่หลายท่านยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่าเกิดทุกความรู้สึกปะปนกันทั้งความสุข สนุก ตื่นเต้น ชื่นใจ สมหวัง ผิดหวัง ท้อแท้ หวาดกลัว และเหน็ดเหนื่อย แต่ทุกความรู้สึกนี้ก็ถูกปูพื้นฐานไว้ด้วยความรักและความตั้งใจที่ดีซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้คุณแม่และคุณลูกปรับตัวและเติบโตไปด้วยกันในทุกๆ วันค่ะ
ความพิเศษของการเลี้ยงดูทารกในช่วงวัย 1-3 เดือนก็คือ ร่างกายของลูกยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ จึงมีรายละเอียดที่ควรระมัดระวังและใส่ใจหลายอย่าง เรามีเคล็ดลับน่ารู้ที่มักเกิดขึ้นกับเด็กวัย 1-3 เดือนมาฝาก เพื่อให้คุณแม่ได้ทำความรู้จักธรรมชาติของเจ้าตัวน้อย และปรับตัวให้รู้ทันความต้องการด้านต่างๆ ของลูกได้มากที่สุดค่ะ
เรื่องการกิน
ช่วง 3 เดือนแรกทารกต้องการกินนมบ่อยเป็นพิเศษ สาเหตุเพราะขนาดกระเพาะอาหารที่มีขนาดเล็ก ทำให้ทานนมได้ครั้งละไม่มาก อิ่มง่าย แต่หิวบ่อย ความถี่ของการดื่มนมอาจอยู่ในราวทุก 1-3 ชั่วโมง (แตกต่างกันไปในทารกแต่ละคน) ซึ่งระบบการกินนี้ก็มักจะสัมพันธ์กับระบบการนอนด้วย ทารกมักนอนหลับหลังทานนมอิ่ม และมักจะตื่นเมื่อหิว ฉะนั้น เมื่อลูกยิ่งโต กระเพาะยิ่งจุนมได้มากขึ้น ก็จะส่งผลต่อระยะเวลาการนอนที่ยาวนานขึ้นตามไปตามลำดับด้วยค่ะ
เรื่องการอึ
คุณแม่มือใหม่หลายท่านตกใจกับการที่ลูกในช่วงวัยนี้ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ และบ่อยครั้งมาก จนดูเหมือนอาการท้องเสียของผู้ใหญ่ แต่นั่นเป็นธรรมชาติที่ปกติของทารกในช่วงวัยนี้ค่ะ การถ่ายเหลวเช่นนี้ไม่ใช่อาการท้องเสีย แต่เป็นเพราะระบบย่อยอาหารและน้ำย่อยของลูกยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ลูกจึงถ่ายแทบทุกครั้งหลังทานนม ที่สำคัญ ความถี่ในการถ่ายอุจจาระยังเป็นตัวประเมินว่าลูกทานนมได้ดีหรือไม่อีกด้วยนะคะ โดยเฉพาะเด็กที่ทานนมจากเต้า เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าทานไปมากน้อยแค่ไหน วิธีที่คุณหมอใช้เป็นเกณฑ์ชี้วัด ก็คือ ถ้าทานนมได้ดีก็จะส่งผลให้ถ่ายบ่อย (อาจถึง 8-10ครั้ง/วัน) และเมื่อร่างกายเติบโตขึ้น ความถี่ในการถ่ายอุจจาระของลูกก็จะค่อยๆ ห่างออกไป และรวมเป็นครั้งเดียวทีละมากๆ ตั้งแต่หลังอายุประมาณ1 เดือนค่ะ
เรื่องการสะอึก
เด็กช่วงแรกเกิดจะเกิดอาการสะอึกแทบทุกครั้งหลังจากทานนมอิ่มค่ะ แต่อาการสะอึกนี้สามารถหายได้เองในเวลาไม่นาน และถือเป็นอาการตามธรรมชาติอันเกิดจากการที่กล้ามเนื้อกระบังลมยังทำงานไม่สัมพันธ์กันดีพอ คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องให้ลูกดื่มน้ำเพื่อให้หยุดสะอึกนะคะ เพราะนั่นอาจทำให้ลูกน้อยยิ่งแน่นท้องมากขึ้นค่ะ
เรื่องการแหวะนม
อีกเรื่องที่คุณแม่มือใหม่มักตกใจคือ อาการแหวะนมของลูก ซึ่งไม่ได้เกิดจากความผิดปกติร้ายแรงหรือความเจ็บป่วยของร่างกาย แต่เกิดจากการที่หูรูดของกระเพาะอาหารยังปรับตัวไม่เข้าที่ คือยังไม่แน่นพอที่จะกันไม่ให้น้ำนมไหลย้อนกลับขึ้นมา สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติคือ หลังรับประทานนมให้ปรับร่างกายลูกให้ศีรษะอยู่ในตำแหน่งที่สูงไว้สักพักก่อนปรับเข้าสู่ท่านอนค่ะ เป็นวิธีที่อาจช่วยลดอาการแหวะนมให้น้อยลงได้ ซึ่งหลังจากอายุ 6 เดือนแล้ว หูรูดของกระเพาะอาหารลูกจะเริ่มทำงานได้ดีขึ้นตามลำดับค่ะ
เรื่องเสียงครืดคราดในจมูก
เมื่อคุณแม่ได้ยินเสียงครืดคราดในจมูกของลูกน้อย สันนิษฐานได้ว่าเกิดจากการมีน้ำมูกค้างอยู่ในโพรงจมูกค่ะ คุณแม่สามารถใช้น้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% ที่ใช้สำหรับการล้างจมูกโดยเฉพาะ หยอดจมูกเพื่อล้างน้ำมูกในโพรงจมูกให้ไหลกลับลงไป อาจช่วยให้เสียงครืดคราดน้อยลงหรือหายไปได้ค่ะ แต่ถ้ายังไม่มั่นใจหรือไม่รู้วิธีการใช้น้ำเกลือหยอดจมูกก็ควรปรึกษาคุณหมอเด็กเพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้องก่อนลงมือด้วยตัวเองนะคะ
เรื่องผิวบอบบาง
ผิวทารกช่วงแรกเกิดมักจะบอบบาง แพ้ง่าย ไวต่อสารเคมี หรือแม้กระทั่งอุจจาระและปัสสาวะของตัวเองด้วย จึงมักเกิดการระคายเคืองก่อให้เกิดผดผื่นคันที่ผิวหนังได้บ่อย คุณแม่จึงควรใส่ใจในเรื่องการดูแลและเลือกสรรผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผิวลูกน้อย เช่น ไม่ควรใช้น้ำอุ่นหรือร้อนจนเกินไปอาบน้ำให้ลูก เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้า หรือสบู่ที่ผ่านการรับรองว่าอ่อนโยนเหมาะกับผิวของเด็กแรกเกิด หลีกเลี่ยงการห่อตัวลูกด้วยผ้าที่หนามากเกินไปในสภาพอากาศร้อน รวมถึงการเปลี่ยนผ้าอ้อมทันทีหลังถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะเพื่อป้องกันความอับชื้นหมักหมม และที่สำคัญควรเลือกใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่มีผิวสัมผัสอ่อนโยน ปราศจากสารเคมี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบไฮโป-อัลเลอร์เจนิค ว่าไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้
เรื่องผื่นทารก
ในช่วง 3 เดือนแรก เด็กแรกเกิดมักจะมีแนวโน้มที่จะเกิดผื่นชนิดต่างๆ ขึ้นได้ เช่น ผื่นผดร้อน, ผื่นจุดแดงหลังคลอด (erythema toxicum), ผื่นต่อมไขมันอักเสบเป็นตุ่มแดงและสะเก็ดน้ำเหลืองตามหัวคิ้ว ใบหู ผมและหนังศีรษะ เป็นต้น ซึ่งอาการของผื่นต่างๆ เหล่านี้จะเริ่มดีขึ้นหลังจากที่ร่างกายของลูกปรับตัวได้ แข็งแรงขึ้น (หลังอายุ 3 เดือนโดยประมาณ) คุณแม่สามารถดูแลผิวของลูกเบื้องต้นด้วยการตรวจสอบดูว่าไม่สร้างสภาพแวดล้อมอันเป็นสาเหตุของอาการผดผื่นต่างๆ เช่น ห่อลูกด้วยผ้าหนามากเกินไป ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะกับวัยของลูก มีสารเคมีที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เปลี่ยนผ้าอ้อมน้อยครั้งจนทำให้ก้นลูกจมอยู่กับอุจจาระและปัสสาวะเป็นเวลานานเกินไป วิธีรักษาควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษาที่เหมาะสมค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณหมอแอน - พญ. ปิยะรัตน์ เลิศบรรณพงษ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
วันที่สร้าง 24/11/2016