วิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นขณะตั้งครรภ์

วิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นขณะตั้งครรภ์ วิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นขณะตั้งครรภ์ วิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นขณะตั้งครรภ์

วิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นขณะตั้งครรภ์

คุณแม่ตั้งครรภ์หลาย ๆ คนมักจะพยายามไขว่คว้าหาอาหารเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินและเกลือแร่หลากหลายชนิดมารับประทานเพื่อเสริมความมั่นใจให้ได้การตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์แข็งแรง แต่ในความจริงแล้วหลักการรับประทานอาหารในขณะตั้งครรภ์นั้นมีสูตรสำเร็จที่ง่ายมาก นั่นคือ การรับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ โดยเน้นอาหารสุกและสะอาด อย่างไรก็ตาม ยังมีวิตามินและเกลือแร่เสริมบางชนิดที่หมอมักจะจ่ายให้คุณแม่ได้รับประทานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่

  1. กรดโฟลิก เป็นวิตามินที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อพัฒนาการระยะต้นของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการของสมองและระบบประสาท รวมทั้งช่วยป้องกันการเกิดความพิการแต่กำเนิดบางชนิด องค์การอนามัยโลกแนะนำให้รับประทานกรดโฟลิก 400 ไมโครกรัมต่อวัน (ในท้องตลาดของประเทศไทย กรดโฟลิก 1 เม็ด มีขนาด 5 มิลลิกรัม ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการขณะตั้งครรภ์อยู่แล้ว) โดยเริ่มรับประทานตั้งแต่คุณแม่เริ่มวางแผนการตั้งครรภ์เรื่อยไปจนถึงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์หรือสิ้นสุดไตรมาสแรก ดังนั้นกรดโฟลิกจึงเป็นวิตามินตัวแรกของคุณแม่ทุก ๆ  คน
  2. ธาตุเหล็ก เป็นเกลือแร่ที่สำคัญที่สุดสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในขณะตั้งครรภ์มักจะส่งผลให้คุณแม่ทั้งหลายเกิดภาวะซีด และการคลอดเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้คุณแม่ส่วนใหญ่เสียเลือดจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้หมอมักจะทำการเสริมธาตุเหล็กให้คุณแม่รับประทานตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 เรื่อยไปจนกระทั่งหลังคลอด เพื่อให้คุณแม่มีความเข้มข้นเลือดในระดับสูง ทนต่อการเสียเลือดขณะคลอดได้มากขึ้น รวมทั้งธาตุเหล็กยังเป็นเกลือแร่ที่จำเป็นสำหรับมารดาในระยะให้นมบุตรอีกด้วย โดยทั่วไปคุณแม่จะได้รับธาตุเหล็กเสริมในขนาด 1-2 เม็ดต่อวันตามแต่ระดับความเข้มข้นของเลือด สำหรับคุณแม่ที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาการขาดสารไอโอดีน ก็อาจได้รับธาตุเหล็กผสมไอโอดีนเพื่อรับประทานในขณะตั้งครรภ์ได้เช่นกัน
  3. แคลเซียม ในขณะตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์ต้องการแคลเซียมในการสร้างกระดูกและโครงสร้างร่างกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ประมาณ 30 กรัมตลอดการตั้งครรภ์) และคุณแม่ส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการแคลเซียมเสริมมากกว่าผู้หญิงทั่วไป ยกเว้นในคุณแม่ที่เป็นครรภ์แฝดที่ต้องรับประทานแคลเซียมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นความเชื่อที่ว่าการตั้งครรภ์จะทำให้ฟันผุ กระดูกกร่อน หรือข้อเสื่อมนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด หากแต่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ยังคงต้องการปริมาณแคลเซียมต่อวันตามมาตรฐานที่สมควรได้รับในหญิงวัยเจริญพันธุ์

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับเกลือแร่แคลเซียม 1.5-2 กรัมต่อวัน โดยนับรวมแคลเซียมในอาหารที่รับประทานทั้งหมดในแต่ละวัน และมุ่งเน้นกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีอุบัติการณ์ขาดเกลือแร่แคลเซียมเป็นหลัก แคลเซียมนั้นมีในอาหารหลากหลายประเภทไม่ใช่มีแต่ในน้ำนมเท่านั้น ดังนั้นหากคุณแม่ไม่ชอบรับประทานนม ก็สามารถได้รับแคลเซียมจากอาหารแหล่งอื่น ๆ ได้ เช่น โยเกิร์ต ผักบางชนิด (คะน้า ยอดแค บรอคโคลี) ถั่วแรก งาดำ เต้าหู้ นมถั่วเหลือง ปลาแซลมอน ปลาดซาร์ดีน เป็นต้น

ขณะที่วิตามินและเกลือแร่อื่น ๆ นั้น หมอมักจะไม่ได้ให้เสริมในขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากประเทศไทยมีความสมบูรณ์ด้านอาหารและโภชนาการที่ดีอยู่แล้ว เหลือแต่เพียงว่าคุณแม่ทั้งหลายจะเลือกอย่างไรให้ได้สมดุลทั้ง 5 หมู่นั่นเองครับ

ขอบคุณบทความจาก ผศ. นพ.ตรีภพ เลิศบรรณพงษ์ สูตินารีแพทย์

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.