คนใกล้ตัวกับการดูแลจิตใจคุณแม่ตั้งครรภ์

คนใกล้ตัวกับการดูแลจิตใจคุณแม่ตั้งครรภ์ คนใกล้ตัวกับการดูแลจิตใจคุณแม่ตั้งครรภ์ คนใกล้ตัวกับการดูแลจิตใจคุณแม่ตั้งครรภ์

          ช่วงเวลาที่คุณแม่ตั้งครรภ์ นอกจากจะต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นกับร่างกายแล้ว ยังต้องจัดการกับการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และจิตใจด้วย หากปล่อยให้คุณแม่ผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปโดยลำพัง นั่นหมายถึงการรับศึกหนักอยู่ฝ่ายเดียว

ศึกหนักทั้งกายใจที่คุณแม่ตั้งครรภ์มักเผชิญมีอะไรบ้าง?

  • ภาวะแพ้ท้อง ที่อาจทำให้กินอาหารไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน โดยส่วนใหญ่จะมีอาการในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก
  • การถ่ายปัสสาวะบ่อยเป็นพิเศษ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะภายในช่องท้อง และอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่ายขึ้นด้วย
  • อึดอัดไม่สบายตัว เคลื่อนไหวตัวไม่สะดวก ปวดหลัง ปวดขา นอนไม่หลับ เพราะต้องแบกน้ำหนักมากเป็นพิเศษ
  • ความวิตกกังวลเป็นห่วงลูกน้อยในครรภ์ซึ่งเป็นสัญชาตญาณของความเป็นแม่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
  • ขาดความมั่นใจในตัวเอง เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากกับสรีระร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักขึ้น หรือบางคนสภาพผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป เช่น คล้ำลง เป็นสิวง่าย หรือท้องลาย

          ในช่วงแห่งความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่นี้ โดยเฉพาะภาวะวิตกกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงของการปรับตัวสู่บทบาทการเป็นคุณแม่ สามีควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างกำลังใจและให้การสนับสนุนด้านต่างๆ เพราะเป็นบุคคลที่ถือว่ามีความใกล้ชิดสนิทสนม และได้รับความไว้วางใจมากที่สุด

เคล็ดลับคุณพ่อช่วยดูแลจิตใจคุณแม่ตั้งครรภ์

  • รับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้วยกัน ไม่ปล่อยให้รู้สึกว่าภรรยากำลังรับมือกับทุกอย่างเพียงลำพัง อาจถือโอกาสเปลี่ยนแปลงตัวเองไปพร้อมกันด้วย เช่น เลิกสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือลดละการออกไปดื่มสังสรรค์นอกบ้านเพื่อใช้เวลาอยู่กับภรรยาที่เธอเองก็ต้องงดเว้นอะไรหลายๆอย่าง และไม่ได้ออกไปสังสรรค์ที่ไหนเช่นกัน
  • ช่วยเหลือโดยไม่ต้องรอให้ถาม มีอะไรหลายอย่างมากมายที่คุณสามีสามารถช่วยได้ ง่ายที่สุดคือเริ่มจากช่วยเหลือในเรื่องการดูแลเรื่องอาหารการกิน ช่วยทำงานบ้านโดยเฉพาะงานหนักๆ ที่ต้องใช้แรง ช่วยขับรถพาไปเที่ยวหรือทำธุระต่างๆ
  • หาข้อมูลเรื่องการตั้งครรภ์และการเลี้ยงลูก ด้วยการอ่านหนังสือคู่มือหรือเข้าเว็บไซต์หาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตที่มีอยู่เยอะแยะมากมาย หรือจะเป็นการพูดคุยซักถามคนรู้จักที่เคยผ่านประสบการณ์มาก่อน เพื่อเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ปล่อยให้คุณแม่ต้องรับหน้าที่นี้อยู่คนเดียว
  • คอยอยู่เคียงข้าง  นี่เป็นวิธีการให้กำลังใจที่ง่ายและดีที่สุดเลยค่ะ การได้อยู่เคียงข้างภรรยาในช่วงเวลาต่างๆ โดยไม่ทำไปแบบผ่านๆ แต่ใส่ความรู้สึกร่วมอย่างจริงใจ ไม่ว่าจะเป็นการไปหาคุณหมอเพื่อตรวจครรภ์ในแต่ละครั้ง ไปเข้าคลาสเรื่องการเลี้ยงลูก ไปอบรมเรื่องการให้นมแม่ ไปซื้อของใช้เพื่อเตรียมให้ลูก หรือตื่นมาอยู่เป็นเพื่อนกันในยามที่เธอนอนไม่หลับ สิ่งที่ดูเหมือนเล็กน้อยเหล่านี้จะกลายเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ที่จะส่งผลดีต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์
  • เอ่ยคำชมอยู่เสมอ คุณแม่ตั้งครรภ์มักเกิดความไม่มั่นใจในตัวเองจากการที่สรีระร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น หรือการใส่ใจดูแลความงามน้อยลง ไม่ได้แต่งหน้า ทาเล็บ ทำผม หรือบำรุงผิวพรรณแบบที่เคยทำก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งอาจกลายเป็นความกังวลน้อยใจกลัวสามีจะไม่รักเหมือนเดิม ฉะนั้น เพื่อเติมความมั่นใจส่วนนี้ คุณพ่อควรหมั่นชมภรรยาอยู่เสมอ เป็นการมอบกำลังใจเล็กๆ น้อยๆ เหมือนคอยรดน้ำให้ต้นไม้สดชื่นอยู่เสมอไม่เหี่ยวเฉา
  • เป็นคู่สนทนาที่ดี ที่จริงแล้วเคล็ดลับข้อนี้เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่ตลอดอยู่แล้ว แต่ในยามที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ด้วยฮอร์โมนและร่างกายที่เปลี่ยนแปลงมากมายทำให้คุณแม่อาจจะมีอารมณ์อ่อนไหวบอบบางมากเป็นพิเศษ ฉะนั้น คุณพ่อควรเป็นผู้ฟังที่ดี คอยรับฟังปัญหาต่างๆ อย่างตั้งใจ แม้กระทั่งในเรื่องที่ดูเล็กน้อย เพื่อให้คุณแม่ได้ระบายความรู้สึกในใจ ไม่เก็บไว้คนเดียวจนเครียดค่ะ  

         การได้รับการสนับสนุนจากสามีจะทำให้ภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์เกิดความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจและอารมณ์ ทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยและอบอุ่น ไม่เกิดความรู้สึกเดียวดาย ช่วยลดภาวะความเครียดกังวลซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์ด้วยค่ะ  

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.bellybelly.com.au

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.