นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ลูกน้อยออกจากครรภ์อันอบอุ่นของคุณแม่ ได้ออกมาสัมผัสโลกภายนอกที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ในช่วงแรกนี้ ลูกต้องเรียนรู้และปรับตัวอย่างมากให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการดูดนมจากเต้าคุณแม่เพื่อบรรเทาความหิว เรียนรู้ที่จะสื่อสารบอกความต้องการด้วยการร้องไห้ เมื่อผ่านพ้นช่วงปรับตัวใน 1-2 อาทิตย์แรกไปแล้ว ลูกก็จะมีพัฒนาการก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้สามารถช่วยกันติดตามได้ว่า ลูกน้อยมีพัฒนาการสมวัยหรือไม่อย่างไร เราจึงขอนำพัฒนาการทารกที่สำคัญในช่วง 4 เดือนแรกหลังคลอดมาฝากกันค่ะ
ลูกน้อยวัย 30 วันแรก
- ลูกน้อยจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการปรับตัว โดยกิจกรรมหลักก็คือ การกินนมและนอน มีช่วงที่ตื่นขึ้นมาเป็นเวลาสั้นๆ แต่ถึงกระนั้น สมองของลูกก็พร้อมที่จะเรียนรู้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเวลาตื่นหรือนอน
- เด็กในวัยนี้จะมีปฏิกิริยาสะท้อนกลับตามธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นก่อนที่การมองเห็นจะดีขึ้นและกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น อย่างเช่น ลูกจะกำมือแน่นเมื่อสัมผัส สะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงดัง รวมทั้งจะดูดของที่เข้าไปในปากโดยอัตโนมัติ
- พัฒนาการทางร่างกายของลูกวัยนี้จะยังงอแขนขาเป็นส่วนใหญ่ และชอบบิดตัว
- สำหรับการมองเห็น ตาของทารกจะสามารถมองเห็นได้ในระยะ 1 ฟุต ดังนั้นลูกจะเห็นหน้าคุณแม่ได้ชัดเจนขณะให้นม มองจ้องหน้าได้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ บางครั้งอาจยิ้มโดยไม่มีความหมาย
- ลูกจะใช้การร้องไห้เพื่อสื่อสารบอกความต้องการหรือการไม่สบายตัว
ลูกน้อยวัย 1 เดือน
- ลูกน้อยเริ่มปรับตัวได้ดี มีเวลากินนม ตื่นนอน เข้านอน ค่อนข้างชัดเจนขึ้น เริ่มจะนอนหลับกลางคืนได้ยาวขึ้นกว่าเดือนแรก
- ลูกจะเริ่มมีการพัฒนาของกล้ามเนื้อมากขึ้น มือยังกำแน่นอยู่ คอแข็งขึ้น แต่ก็ยังสามารถชันคอ ผงกศีรษะได้ช่วงสั้นๆ เท่านั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรจะประคองคอของลูกด้วยความระมัดระวัง
- ลูกเริ่มมองเห็นได้ดีขึ้น บางครั้งลูกจะสามารถหันหน้าไปด้านข้างเองได้ ตาเริ่มมองตามสิ่งต่างๆ ที่อยู่ใกล้ๆ และเคลื่อนที่ช้าๆ ได้ในช่วงรัศมีประมาณ 30-60 องศา มองจ้องหน้าได้นานขึ้น เริ่มโฟกัสได้ และเลียนแบบสิ่งที่เห็น อาทิ หากพูดคุยด้วยทารกก็จะพยายามขยับริมฝีปาก
- ในช่วงนี้ ทารกจะเริ่มทำเสียงอืออา ส่งเสียงในลำคอได้บ้างแล้ว
ลูกน้อยวัย 2 เดือน
- ลูกปรับตัวได้ดีเริ่มมีเวลากินและนอนที่ชัดเจน หลับกลางวันน้อยลง เริ่มเล่นมากขึ้น และสามารถนอนหลับเวลากลางคืนได้นานขึ้น
- ช่วงเดือนนี้ กล้ามเนื้อของลูกจะแข็งแรงขึ้น ลูกจะชันคอได้นานและแข็งขึ้น ขาเริ่มแข็งแรง เหยียดขาและถีบขาได้แรงขึ้น เริ่มกำมือหลวมๆ ทารกบางคนจะสามารถถือของชิ้นเล็กๆ ในมือได้
- ตาจะสามารถมองตามสิ่งต่างๆได้ในช่วงรัศมี 60-90 องศา โดยมองตามได้ต่อเนื่องจนสามารถข้ามจุดกึ่งกลางด้านหน้าของตนเองได้
- ลูกจะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้าง เริ่มยิ้ม ส่งเสียงอ้อแอ้เหมือนจะพูดคุยตอบสนอง หันหาเสียง ชอบจ้องมองสิ่งต่างๆ รอบตัว
ลูกน้อยวัย 3 เดือน
- ลูกเริ่มนอนหลับกลางคืนได้นาน ตื่นเล่นเวลากลางวันนานขึ้น
- กล้ามเนื้อของลูกแข็งแรงขึ้นมาก คอแข็ง ชันคอได้นาน สามารถชันคอได้ 45 องศาในท่านอนคว่ำ หันหน้าไปมาได้แล้ว
- สำหรับการเคลื่อนไหว ลูกจะเริ่มเหยียดขาตรง ยืนลงน้ำหนักได้ช่วงเวลาสั้นๆ เริ่มตะแคงได้ เริ่มพยายามที่จะควบคุมบังคับมือทั้งสอง โดยพยายามที่จะยกขยับมือ ลูกจะเริ่มกางนิ้ว หุบนิ้วมือได้ อาจเริ่มคว้าของใกล้ตัว ชอบใช้มือสำรวจหน้าของตนเอง บางครั้งชอบเอามือเข้าปาก
- การมองเห็นของลูกจะพัฒนาขึ้นมาก ตามองตามสิ่งที่อยู่ไกลและเคลื่อนที่ได้เป็นรัศมี 180 องศา
- ลูกจะเริ่มส่งเสียงมากขึ้น และยิ้มตอบสนองมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น บางครั้งอาจยิ้มสื่อสารกับคุณแม่ ส่งเสียงอ้อแอ้เพื่อตอบรับและทำเสียงสูงต่ำได้หลากหลายขึ้น สามารถตอบโต้สิ่งแวดล้อมต่างๆรอบตัวด้วยวิธีแสดงออกหลายวิธี เช่น หันมองหา ยิ้ม นิ่งฟัง ขยับมือแขนขา หรือส่งเสียงเรียก
ลูกน้อยวัย 4 เดือน
- ลูกน้อยมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งกล้ามเนื้อและการมองเห็น สามารถยกศีรษะชันคอได้ 90 องศาในท่านอนคว่ำ สามารถใช้แขนยันตัวขึ้นสูงได้ เริ่มตะแคงพลิกคว่ำได้
- ในวัยนี้ ตาและมือของลูกจะทำงานประสานกันได้ดียิ่งขึ้น คว้าของใกล้ตัวเองได้และกำของได้แน่น มือสองข้างสามารถมาจับกันตรงกลางได้
- พัฒนาการที่เห็นได้ชัดคือ ลูกเริ่มมีการตอบโต้ปฏิสัมพันธ์กับคุณพ่อคุณแม่ ยิ้มทักและยิ้มตอบได้ แสดงอารมณ์ท่าทางดีใจเมื่อเห็นคุณแม่ เริ่มสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว สามารถแสดงความรู้สึก ดีใจ มีความสุข ส่งเสียงอ้อแอ้โต้ตอบได้ หัวเราะส่งเสียงแหลมเวลาดีใจ ชอบเล่นน้ำลาย
คุณแม่จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาเพียงแค่ 4 เดือน สองมือของคุณแม่ได้เปลี่ยนเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งให้เติบโตขึ้น และมีพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ผ่านการเลี้ยงดูด้วยความรักจากคุณแม่ พูดคุยกับลูกอย่างสม่ำเสมอ โอบกอดสัมผัสลูกให้ลูกได้รับความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ลูกก็จะมีพัฒนาการสมวัยในทุกๆ ด้านค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณหมอแอน - พญ. ปิยะรัตน์ เลิศบรรณพงษ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท และ เว็บไซต์ http://www.maerakluke.com, http://www.baby.haijai.com
วันที่สร้าง 28/12/2016