การคำนวณปริมาณน้ำนมที่เหมาะสมกับวัยของลูกน้อย
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงมีความสงสัยว่าลูกน้อยควรจะได้รับนมในปริมาณเท่าไรจึงจะเหมาะสมกับวัย เนื่องจากความต้องการนมของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน แตกต่างกันไปตามอายุและน้ำหนักของลูกน้อย และถึงแม้อายุจะเท่ากัน เด็กแต่ละคนก็ยังต้องการนมในปริมาณที่แตกต่างกันได้ เป็นลักษณะเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรวิตกกังวลถ้าลูกน้อยของเราอาจทานนมได้ปริมาณไม่เท่าเด็กคนอื่น ตราบใดที่ลูกน้อยยังมีการเจริญเติบโต มีน้ำหนักและส่วนสูงที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็ถือว่าลูกน้อยได้รับนมและสารอาหารในปริมาณที่เพียงพอแล้วค่ะ
ลองมาดูปริมาณการให้นมลูกน้อยในแต่ละวัยกันนะคะ ว่าลูกน้อยทานนมเท่าไรจึงจะอิ่มพอดี
อายุ แรกเกิด- 1 วัน
ปริมาณนมที่ลูกน้อยต้องการในช่วงนี้ จะต้องการนมเพียงแค่ 1 ช้อนชา หรือ 5-7 ซีซี ต่อมื้อ 8-10ครั้ง/วัน เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีการปรับตัวหลังคลอดเป็นอย่างมาก ทั้งลูกน้อยและคุณแม่ ในวันแรกๆ การสร้างน้ำนมของคุณแม่จะยังไม่มาก แต่ไม่ต้องกังวลนะคะ เพราะลูกน้อยเองก็ยังเพิ่งเริ่มต้องการนมในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขนาดกระเพาะอาหารของลูกน้อยในวัยนี้ จะต้องการนมเพียงเล็กน้อย แต่ความสำคัญอยู่ที่การพยายามให้ลูกดูด บ่อย ๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำนมให้เพิ่มขึ้นสำหรับในวันถัดไป น้ำนมในช่วงวันแรก
อายุ 3 วัน
ปริมาณนมที่ลูกน้อยต้องการในช่วงนี้ประมาณมื้อละ 0.75 – 1 ออนซ์ หรือ 25-27 ซีซี ต่อมื้อ 8-10 ครั้ง/วัน ทุก 2-3 ชั่วโมง น้ำนมของคุณแม่อาจจะเพิ่งเริ่มมาเพียงน้อยนิด แต่น้ำนมช่วงนี้จะเป็นน้ำนม น้ำเหลืองที่อุดมไปด้วยสารอาหารและภูมิต้านทานที่สำคัญที่ส่งไปให้ลูกน้อย ช่วงนี้คุณแม่จึงยังควรให้นม ทุก 2-3 ชั่วโมงเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลางวันและกลางคืน เฉลี่ยข้างละอย่างน้อย 10-15 นาที
อายุ 1 สัปดาห์
ปริมาณนมที่ลูกน้อยต้องการในช่วงนี้ประมาณมื้อละ 1.5-2 ออนซ์ หรือ 45-60 ซีซี ต่อมื้อ 8-10 ครั้ง/วัน ทุก 2-3 ชั่วโมง หรือคำนวณจาก น้ำหนักของลูกน้อย (กก.) คูณ 150 ซีซี หารด้วย 30 ช่วงนี้น้ำนมของคุณแม่จะเริ่มมีปริมาณมากขึ้นและเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวนวล ควรให้ลูกดูดทั้ง 2 เต้าในแต่ละมื้อ ข้างละ 15-20 นาที ทุก 2-3 ชั่วโมง เด็กบางคนอาจไม่สามารถทานทั้ง 2 เต้าได้ในมื้อเดียว ก็สามารถให้เต้าละ1 มื้อแล้วเริ่มให้อีกเต้าในมื้อถัดไปได้
อายุ 1 เดือน
ปริมาณนมที่ลูกน้อยต้องการในช่วงนี้ประมาณมื้อละ 2.5-4 ออนซ์ หรือ 80-120 ซีซี ต่อมื้อ 7-8ครั้ง/วัน ทุก 3-4 ชั่วโมง หรือคำนวณจาก น้ำหนักลูกน้อย (กก.) คูณ 120 ซีซี แล้วหาร 30 ช่วงนี้ลูกน้อยจะเริ่มนอนหลับได้ยาวขึ้นในช่วงกลางคืน จะทานนมทุก 4 ชั่วโมง และในเวลากลางวันก็ยังอาจจะต้องการทานนมบ่อยเท่าเดิมเป็นทุก 2-3 ชั่วโมงได้
อายุ 2-6 เดือน
ปริมาณนมที่ลูกน้อยต้องการในช่วงนี้ประมาณมื้อละ 4-6 ออนซ์ หรือ 120-180 ซีซี ต่อมื้อ 5-6 ครั้ง/วัน ทุก 3-4 ชั่วโมง ลูกน้อยจะเริ่มนอนหลับได้ยาวนานขึ้นในช่วงกลางคืน บางครั้งอาจหลับนาน 4-5 ชั่วโมง และในเวลากลางวันจะต้องการทานนมทุก 3-4 ชั่วโมง ลูกน้อยวัยนี้จะทานนมลดลงในความรู้สึกของคุณพ่อคุณแม่ ใช้เวลาต่อมื้อและระยะห่างมากขึ้น เริ่มเป็นวัยห่วงเล่นมากขึ้น อาจเริ่มอาหารเสริม 1 มื้อเมื่ออายุได้ 4 เดือน
อายุ 6-9 เดือน
ปริมาณนมที่ลูกน้อยต้องการในช่วงนี้ประมาณมื้อละ 6-8 ออนซ์ หรือ 180-240 ซีซี ต่อมื้อ 4-5ครั้ง/วัน หรือคำนวณจาก น้ำหนักลูกน้อย (กก.) คูณ 110 ซีซี แล้วหาร 30 ลูกจะนอนยาวในเวลากลางคืน 4-6 ชั่วโมง ตื่นมาทานนมน้อยลงแค่ 1-2 ครั้ง/คืน เริ่มทานอาหารเสริม 1-2 มื้อ มื้อนมจะลดลงเหลือ 4-5 ครั้ง
อายุ 9-12 เดือน
ปริมาณนมที่ลูกน้อยต้องการในช่วงนี้ประมาณมื้อละ 6-8 ออนซ์ หรือ 180-240 ซีซี ต่อมื้อ 4-5ครั้ง/วัน หรือคำนวณจาก น้ำหนักลูกน้อย (กก.) คูณ 110 ซีซี แล้วหาร 30 ลูกจะนอนยาวในเวลากลางคืน 6-8 ชั่วโมง อาจจะยังตื่นมาทานนมน้อยลงแค่ 1-2 ครั้ง/คืน เริ่มทานอาหาร 2-3 มื้อ มื้อนมเหลือ 4-5 ครั้ง
อายุ 1 ขวบขึ้นไป
เมื่อครบขวบปีแล้ว ลูกน้อยจะอาหารหลักครบ 3 มื้อ และเสริมนมครั้งละ 6-8 ออนซ์ หรือ 180-240 ซีซี ต่อมื้อ วันละ 3-4 ครั้งหลังอาหาร ไม่ตื่นมาทานนมกลางคืน
ในกรณีที่คุณแม่ให้นมด้วยการเข้าเต้านั้นอาจประเมินได้ยาก ว่าลูกน้อยนั้นได้รับนมไปในปริมาณที่เพียงพอหรือไม่ แต่เราพอจะมีวิธีที่สามารถสังเกตง่าย ๆ ได้ดังนี้
- น้ำหนักลูกน้อยเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ทุกเดือน เป็นสิ่งที่แม่นยำที่สุดที่จะบอกว่าลูกน้อยได้รับในในปริมาณที่เพียงพอหรือไม่ โดยต้องเทียบกับกราฟการเจริญเติบโต ไม่ดูแต่ตัวเลขเพียงอย่างเดียว เพราะเด็กอายุในแต่ละเดือนจะมีการเพิ่มของน้ำหนักที่แตกต่างกัน
- ลูกน้อยนอนหลับได้ดี ไม่งอแง
- ลูกน้อยเริ่มมีน้ำมีนวล แก้มเต่งตึงขึ้น ผิวตึงกระชับ อุ้มแล้วรู้สึกได้ถึงน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น
- ลูกน้อยปัสสาวะเป็นปกติดี สีเหลืองอ่อน เฉลี่ยประมาณ 6-8 ครั้งต่อวัน และอุจจาระอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน
บทความจาก พญ.ปิยะรัตน์ เลิศบรรณพงษ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
วันที่สร้าง 19/09/2019