ลูกน้อยในช่วงแรกเกิดถึงขวบปีแรกต้องการการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอเพื่อการเจริญเติบโตที่ดีของร่างกาย ฉะนั้น การดูแลร่างกาย จิตใจ และจัดสภาพแวดล้อมเพื่อให้ลูกสามารถนอนหลับสนิทและหลับยาวนานตามเวลาอย่างเหมาะสม ถือเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งค่ะ
อาบน้ำให้สบาย
เมื่อได้อาบน้ำที่มีอุณหภูมิอุ่นกำลังดี คลายความเหนียวเหนอะหนะ และสวมใส่เสื้อผ้าที่นุ่มสบาย ไม่หนาหรือบางจนเกินไป ลูกน้อยจะรู้สึกสบายตัว อารมณ์ดี และช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
กินให้อิ่มพอดี
การที่ลูกได้ทานนมอย่างเพียงพอก่อนเข้านอน จะช่วยให้ลูกนอนหลับสบายและยาวนานไม่ตื่นมาร้องกวนบ่อยๆ ค่ะ แต่ควรระมัดระวังเรื่องการให้นมมากเกินไปจนเกิดอาการแหวะนม หรืออาการท้องอืดแน่นเฟ้อ จนกลายเป็นสาเหตุให้ลูกหลับไม่ลง
นวดผ่อนคลาย
หลังอาบน้ำถ้านวดตัวสัมผัสลูกอย่างแผ่วเบา ให้ทั่วตัวและแขนขา จะช่วยสร้างความผ่อนคลายช่วยให้ลูกเคลิ้มหลับง่ายสบายตัวค่ะ
กอดและสัมผัสอ่อนโยน
การกอดและสัมผัสอันอ่อนโยนจากคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงการตบก้น ลูบหลัง ขณะที่ลูกกำลังจะหลับ จะช่วยให้ลูกรู้สึกสบายตัว และอบอุ่นใจที่มีพ่อแม่คอยอยู่ใกล้ๆ ส่งผลให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นค่ะ
แกว่งไกวเหมือนในท้องแม่
เด็กเล็กเมื่อถูกจับนอนในเปลและแกว่งไปมาเบาๆ หรือคุณพ่อคุณแม่อุ้มกอดแล้วโยกตัวไปมาเบาๆ จะสามารถนอนหลับได้ง่าย ทั้งนี้ มีการสันนิษฐานว่าลูกน้อยเคยชินจากการโยกตัวเช่นนี้มาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาค่ะ
จัดบรรยากาศผ่อนคลาย
บรรยากาศในห้องนอนมีส่วนสำคัญต่อการนอนหลับของลูก ควรปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม ไม่ร้อนเกินไปจนลูกอึดอัด เหงื่อออก และไม่เย็นไปจนลูกหนาวสั่นไม่สบายตัว เปิดเพลงบรรเลงเบาๆ หรือจัดบรรยากาศในห้องให้เงียบสงบ ไม่มีเสียงอึกทึกที่จะไปกระตุ้นให้ลูกตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ ปรับแสงไฟให้สลัวไม่เปิดไฟสว่างจ้ารบกวนสายตา และควรจัดบรรยากาศให้ลูกรู้ความแตกต่างของเวลาตามธรรมชาติ คือ กลางวันและกลางคืน เช่น ในช่วงกลางวันก็สามารถส่งเสียงดังตามปกติได้ แต่กลางคืนก็ปรับให้สงบลง และไม่เปิดไฟสว่าง ลูกจะค่อยๆ เรียนรู้ไปโดยธรรมชาติว่าเวลาไหนเขาควรทำอะไร
จัดสรรตารางเวลาให้ลงตัว
แม้การควบคุมเวลาของเด็กเล็กจะเป็นเรื่องยาก แต่การสร้างวินัยในการกิน นอน และเล่นตามเวลาที่กำหนด ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่พ่อแม่ควรอดทนและช่วยกันจัดสรรตารางเวลาในแต่ละวันให้ได้ค่ะ ช่วงแรกอาจจะยังไม่เป็นระบบนักเพราะลูกยังเด็กมากเกินกว่าจะคาดเดาอารมณ์และความต้องการได้ แต่หากพ่อแม่และครอบครัวช่วยกันปฏิบัติตามระบบอย่างสม่ำเสมอ นาฬิกาชีวิตในร่างกายลูกจะค่อยๆ ปรับตัวตามไปด้วยซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาวต่อสุขภาพกายและใจค่ะ
ในช่วงแรกเกิดถึง 3 เดือนเราอาจจะยังไม่ต้องเคร่งครัดมากเรื่องเวลากินเวลานอน ปล่อยไปตามธรรมชาติและเชื่อในสัญชาตญาณของคุณพ่อคุณแม่เอง แต่หลังจาก 3 เดือนขึ้นไปก็ค่อยๆ ปรับให้เป็นระบบมากขึ้น ทำได้เช่นนี้ในระยะยาวร่างกายลูกจะปรับได้ตามธรรมชาติว่าตอนนี้ถึงเวลารับประทานอาหาร ตอนนี้ถึงเวลานอน ตอนกลางวันให้ชวนลูกเล่นเยอะๆ นอนกลางวันน้อยลง พอตอนกลางคืน เมื่อจับอาบน้ำ กินนม ลูกจะหลับได้ง่ายและยาวนานเพราะร่างกายต้องการชาร์จพลังค่ะ
ตรวจเช็คสภาพร่างกาย
มีหลายกรณีที่ลูกน้อยหลับยากเพราะมีอาการจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น เป็นหวัด ปวดท้อง ท้องอืด ทำให้ไม่สบายตัว ดังนั้น หากลูกน้อยนอนไม่หลับ คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการต่างๆ เช่น มีไข้ มีน้ำมูก หรือท้องอืดหรือไม่ โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิดที่ยังดูดนมไม่เก่ง ลูกอาจดูดนมไม่ถูกวิธีจนเกิดลมในท้อง ทำให้ท้องอืดท้องเฟ้อ ควรจับเรออย่างถูกวิธีเพื่อไล่ลมหลังอาหารทุกครั้งเท่าที่จะทำได้ค่ะ
เปลี่ยนผ้าอ้อมอย่างเหมาะสม
ความเปียกชื้นเลอะเทอะจากการขับถ่ายอาจทำให้ลูกไม่สบายตัวจนหงุดหงิดงอแง ซึ่งมีผลกระทบต่อการนอนหลับของลูกอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นตรวจเช็คเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้ของเสียหมักหมมค้างอยู่นานเกินไป และควรเลือกใช้ผ้าอ้อมที่เหมาะกับขนาดตัวลูก วัยของลูก เช่น ผ้าอ้อมสำหรับทารกแรกเกิดที่มีขอบเว้าตรงสะดือ หรือผ้าอ้อมชนิดกางเกงสำหรับเด็กเริ่มคลานและเดิน และเลือกผ้าอ้อมที่เหมาะกับสถานการณ์ เช่น ผ้าอ้อมสำหรับกลางวันที่มีการระบายความร้อนได้ดี และผ้าอ้อมสำหรับกลางคืนที่เน้นการซึมซับได้ยาวนานไม่รบกวนการนอนหลับ เมื่อก้นของลูกแห้งสบาย ลูกจะสบายตัว หลับง่ายและหลับได้ยาวนานขึ้นค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.momypedia.com และ http://www.themilitarywifeandmom.com
วันที่สร้าง 28/12/2016