คลอดธรรมชาติหรือผ่าตัดคลอด... แบบไหนดีกว่ากัน

คลอดธรรมชาติหรือผ่าตัดคลอด... แบบไหนดีกว่ากัน คลอดธรรมชาติหรือผ่าตัดคลอด... แบบไหนดีกว่ากัน คลอดธรรมชาติหรือผ่าตัดคลอด... แบบไหนดีกว่ากัน

"หมอคะ หนูจะคลอดเองไหวมั้ย"

คำถามยอดฮิตที่ผมได้รับเป็นประจำด้วยเหตุว่าคุณแม่ส่วนใหญ่หวั่นใจกับการคลอดธรรมชาติและกลัวเจ็บ 2 ต่อหากคลอดไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วคุณแม่เชื่อหรือไม่ว่า... กว่าร้อยละ 80 ของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์สามารถคลอดธรรมชาติได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงผ่าตัดคลอด

"ว่าแต่การคลอดธรรมชาติมันเจ็บมากมั้ยคะหมอ"

แล้วคุณแม่ก็ถามต่ออีกคำถาม... หมอขอตอบจริงว่า... การคลอดธรรมชาติเจ็บจริง เจ็บมาก แต่ไม่มากเกินกว่าที่แม่คนหนึ่งจะทนเพื่อลูกได้

การคลอดธรรมชาติเป็นกลไกโดยธรรมชาติที่สร้างมาเพื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยเฉพาะ ดังนั้นการคลอดด้วยวิธีนี้จึงเป็นทางเลือกแรกที่หมอส่วนใหญ่แนะนำ เพราะมีข้อดีหลายประการ ได้แก่

  1. คุณแม่หลังคลอดธรรมชาติสามารถฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากการบาดเจ็บจากการคลอดไม่มากนัก มีเพียงอาการปวดจากแผลฝีเย็บเท่านั้น ซึ่งสามารถควบคุมได้ด้วยยาแก้ปวดพาราเซตามอล
  2. คุณแม่หลังคลอดสามารถเริ่มการให้นมบุตรได้ทันทีภายหลังคลอด ทำให้โอกาสประสบความสำเร็จในการให้นมแม่สูงขึ้น
  3. คุณแม่หลังคลอดเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดน้อยกว่า เช่น ภาวะตกเลือดหลังคลอด การติดเชื้อที่แผลฝีเย็บ
  4. ทารกที่คลอดธรรมชาติจะมีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจและภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินอาหาร
  5. ขณะที่ผลกระทบของการคลอดธรรมชาตินั้นมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้ เช่น อาการเจ็บปวดบริเวณแผลฝีเย็บ หรือ ภาวะช่องคลอดหย่อนภายหลีงคลอด ซึ่งสามารถดูแลให้ดีขึ้นได้ภายหลังคลอด

อย่างไรก็ตาม มิใช่หมอจะไม่สนับสนุนการผ่าตัดคลอดเลย เพราะปัจจุบันยังแนะนำให้ผ่าตัดคลอดเฉพาะรายที่จำเป็นตามข้อบ่งชี้ เช่น

- การคลอดธรรมชาติไม่สำเร็จเนื่องจากกราฟการคลอดผิดปกติ

- ทารกมีท่าผิดปกติ เช่น ทารกท่าก้นหรือท่าขวาง

- คุณแม่ที่เคยได้รับการผ่าคลอดมาก่อน

- ทารกตัวโต (น้ำหนักตัวประมาณ 4 กิโลกรัม)

- ภาวะรกหรือเนื้องอกเกาะต่ำ

"แล้วทำไมหมอไม่ค่อยอยากให้ผ่าตัดคลอดล่ะคะ"

คำถามนี้คุณแม่ไม่ค่อยถาม แต่หมออยากบอก... ก็เพราะการผ่าตัดคลอดมันมีความเสี่ยงครับ เวลาผ่าตัดคลอด คุณแม่จะไม่เจ็บหรอกครับเพราะมีการระงับความรู้สึกด้วยการบล็อคหลังไว้แล้ว แต่จะเจ็บปวดมากหลังผ่าตัด (จะไม่ปวดได้อย่างไรครับ ก็แผลหน้าท้องยาวตั้ง 15 เซนติเมตรและลึกไปจนถึงในช่องท้อง) น้ำนมแม่ไหลช้าหลังคลอดทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยากขึ้น มีโอกาสติดเชื้อแผลผ่าตัด และอาจทำให้การผ่าตัดคลอดครั้งถัดไปยากขึ้นจากพังผืดในช่องท้อง

"ท้องนี้ อยากคลอดเองได้มั้ยคะ คุณหมอ"

คำถามนี้ล่ะครับ... ที่ผมอยากได้ยินในคุณแม่ที่มาฝากครรภ์

ขอบคุณบทความจาก ผศ. นพ.ตรีภพ เลิศบรรณพงษ์ สูตินรีแพทย์

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.