10 เรื่องน่ารู้คุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่

10 เรื่องน่ารู้คุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่ 10 เรื่องน่ารู้คุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่ 10 เรื่องน่ารู้คุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่

ยินดีต้อนรับสู่โลกของคุณแม่มือใหม่ คุณแม่คงตื่นเต้นและอยากรู้เรื่องราวดี ๆ ที่ช่วยให้การตั้งครรภ์มีคุณภาพ เพื่อสุขภาพแข็งแรงและปลอดภัยของลูกน้อยและคุณแม่ บทความนี้คุณหมอจะมาบอก 10 เรื่องน่ารู้เพื่อคุณแม่มือใหม่จะได้นำไปใช้ประโยชน์ แล้วสำหรับคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้อง เรามี ‘เคล็ดลับปราบอาการแพ้ท้อง เตรียมความพร้อมสำหรับคุณแม่ในการรับมือ’ เข้าไปอ่านกันได้เลย

มาดู 10 เรื่องน่ารู้คุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่

1. วิตามินโฟลิค ของดีราคาย่อมเยา แต่ประโยชน์มหาศาล
คุณแม่ที่วางแผนจะตั้งครรภ์หรือเริ่มตั้งครรภ์อ่อน ๆ หมอแนะนำให้รับประทานวิตามินโฟลิคทุกวัน วันละ 1 เม็ด เพื่อประโยชน์ในการสร้างเสริมการเจริญเติบโตของระบบประสาททารกในครรภ์ และลดความพิการของระบบประสาท หากเป็นไปได้แนะนำให้รับประทานล่วงหน้าเมื่อเริ่มวางแผนจะตั้งครรภ์หรือเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ โดยรับประทานต่อเนื่องไปจนครบอายุครรภ์ 3 เดือน

2. อาการแพ้ท้อง
​อาการแพ้ท้องเป็นเรื่องปกติของการตั้งครรภ์ และยังเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าฮอร์โมนการตั้งครรภ์อยู่ในระดับปกติ ทำให้โอกาสแท้งบุตรลดลง ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ โดยทั่วไปอาการแพ้ท้องจะเริ่มต้นเมื่ออายุครรภ์ได้ประมาณ 6-8 สัปดาห์ และมีอาการต่อเนื่องจนมากที่สุดเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 10 สัปดาห์ จากนั้นจะค่อย ๆ ลดลงจนหายไปเมื่อผ่านไตรมาสแรก หรืออายุครรภ์ 14 สัปดาห์ไปแล้ว อาการแพ้ท้องที่เกิดขึ้นในระยะไตรมาสแรกจะตรงกับระยะพัฒนาการของอวัยวะทารกในครรภ์ ราวกับว่าธรรมชาติตั้งใจให้คุณแม่แพ้ท้องเพื่อปฏิเสธอาหารหรือปัจจัยภายนอกที่อาจกระทบต่อพัฒนาการของตัวอ่อนนั่นเอง

3. อย่าลืมคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์
ทารกกลุ่มอาการดาวน์มีปัญหาสำคัญด้านพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญา ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของครอบครัวและเป็นปัญหาเชิงสังคมในอนาคต ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้การคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์เป็นมาตรฐานที่จำเป็นขณะตั้งครรภ์ ทั้งยังมีราคาย่อมเยาและมีทางเลือกในการตรวจคัดกรองที่หลากหลาย สามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่ไตรมาสแรก ดังนั้นหมอจึงแนะนำให้ทุกการตั้งครรภ์ควรได้รับการคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์หากไม่มีข้อติดขัดด้านค่าใช้จ่าย และเมื่อพบความผิดปกติของการคัดกรองจะได้ทำการวางแผนการดูแลรักษาแต่เนิ่น ๆ

4. เจาะเลือดและฉีดวัคซีน... ป้องกันโรค ป้องกันลูก
เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งในการตั้งครรภ์ คือ การป้องกันการติดเชื้อจากคุณแม่สู่ลูกหรือการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของลูกผ่านคุณแม่ ดังนั้นการเจาะเลือดคุณแม่และการฉีดวัคซีนจึงเป็นสิ่งสำคัญขณะตั้งครรภ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบันมีการเจาะเลือดเพื่อการคัดกรองที่สำคัญ ได้แก่ 1) พาหะโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย 2) เบาหวานขณะตั้งครรภ์ และ 3) โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งหากตรวจพบความผิดปกติ หมอสามารถวางแผนการดูแลรักษาเพื่อให้การตั้งครรภ์ปลอดภัยมากขึ้น ลดความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์และขณะคลอด
         สำหรับวัคซีนที่แนะนำให้คุณแม่ฉีดขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ 1) วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2) วัคซีนโควิด-19 เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงกว่าคนทั่วไป และ 3) วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เพื่อส่งต่อภูมิคุ้มกันไปสู่ทารกในครรภ์ตั้งแต่แรกเกิด

5. อัลตราซาวน์เป็นทุกอย่าง แต่ไม่ใช่ทุกสิ่ง
มีความเข้าใจผิดเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการตรวจอัลตราซาวน์ในปัจจุบัน อย่างเช่น หากผลอัลตราซาวน์ปกติ ลูกต้องแข็งแรง จริง ๆ แล้วประโยชน์สำคัญของการอัลตราซาวน์ คือ การตรวจภาพเงาของทารกในครรภ์เพื่อพิจารณาความสมบูรณ์ของโครงสร้างทารกในครรภ์ ดังนั้นการตรวจอัลตราซาวน์แล้วไม่พบความผิดปกติ สะท้อนว่าโครงสร้างร่างกายหรืออวัยวะของทารกในครรภ์น่าจะปกติหรือหากผิดปกติก็ไม่น่าร้ายแรงถึงชีวิต และด้วยการตรวจเพื่อดูภาพเงานี้เอง จึงมีโอกาสผิดพลาดได้บ้าง โดยเฉพาะเรื่องเพศ คุณแม่จึงไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใดอัลตราซาวน์แล้วระบุเพศหนึ่ง แต่เมื่อคลอดกลับกลายเป็นอีกเพศหนึ่งได้ โดยทั่วไปการตรวจอัลตราซาวน์ขณะตั้งครรภ์สามารถทำได้ 3 ระยะ ได้แก่ 1) การตรวจเพื่อกำหนดอายุครรภ์และดูโครงสร้างในไตรมาสแรก 2) การตรวจโครงสร้างและอวัยวะของทารกในครรภ์ในไตรมาสที่ 2 และ 3) การตรวจการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ในไตรมาสที่ 3

6. คุณแม่มีภาวะซีด แก้ง่ายด้วยยาบำรุงเลือด
คุณแม่หลายคนมักสงสัยและถามหมอเสมอว่าเวลาตั้งครรภ์ต้องบำรุงอะไรดี ฟันธงตรงนี้ว่ามีแค่ 2 ข้อ คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และบำรุงร่างกายด้วยธาตุเหล็กหรือยาบำรุงเลือด เพราะการตั้งครรภ์มักทำให้คุณแม่ซีดลง ดังนั้นการรับประทานธาตุเหล็กจะช่วยแก้ไขภาวะซีดและทำให้คุณแม่พร้อมเข้าสู่ระยะคลอดที่ต้องมีการเสียเลือดมากนั่นเอง

7. กินเยอะหรือกินน้อย แบบไหนดีกว่ากัน
ความเชื่อเรื่องตั้งครรภ์ต้องบำรุงเยอะ ๆ กินเยอะ ๆ ลูกจะได้สมบูรณ์แข็งแรงอาจไม่ถูกต้องเสมอไปแล้วในยุคปัจจุบัน นั่นก็เพราะคุณแม่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีภาวะขาดสารอาหารเช่นในอดีต แต่กลับพบว่าคุณแม่จำนวนหนึ่งมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนแล้วมากกว่า ทารกในครรภ์เปรียบเสมือนหนอนผีเสื้อที่เกาะกินใบไม้ที่เปรียบเสมือนน้ำหนักตัวของคุณแม่ ดังนั้นคุณแม่ที่น้ำหนักตัวมาก ก็เสมือนต้นไม้ที่มีใบมากเพียงพอต่อการเจริญของหนอนผีเสื้อ จึงไม่จำเป็นต้องบำรุงหรือใส่ปุ๋ยให้มากเกินไป ด้วยเหตุนี้การกินเยอะหรือน้อยให้ยึดหลักการในข้อก่อนหน้าเป็นอันดับแรกคือกินให้ครบ 5 หมู่ จากนั้นลองมาดูน้ำหนักตั้งต้นก่อนการตั้งครรภ์เพื่อคำนวณว่ากินได้มากน้อยเพียงใด โดยทั่วไปในคุณแม่ที่น้ำหนักตัวปกติ แนะนำให้น้ำหนักขึ้นประมาณ 10-12 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์ ขณะที่คุณแม่อ้วนหรือน้ำหนักเกิน การเพิ่มขึ้นเพียง 5-7 กิโลกรัมก็เพียงพอแล้ว

8. คลอดธรรมชาติดีกว่าเยอะ
เมื่อถึงกำหนดคลอดคุณแม่หลายคนมักกังวลว่าจะคลอดเองหรือผ่าคลอดดี ด้วยพัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันการคลอดทั้ง 2 วิธีล้วนปลอดภัย หากแต่การคลอดเองได้ประโยชน์มากกว่า เช่น ฟื้นตัวง่าย น้ำนมแม่มาเร็ว ไม่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด และเสียเลือดน้อยกว่า ในคุณแม่ที่ไม่มีความเสี่ยง โอกาสคลอดเองได้ตามธรรมชาติอยู่ในอัตราร้อยละ 80 ซึ่งนับว่าสูงมาก ขณะที่การผ่าคลอดมีความเสี่ยงอันเป็นผลมาจากการผ่าตัดและสงวนไว้ในบางกรณี เช่น ทารกท่าก้น รกเกาะต่ำ เป็นต้น หมอจึงอยากสนับสนุนให้คุณแม่คลอดเอง

9. นมแม่แน่ที่สุด
​อาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกแรกเกิด คือ นมแม่ เพราะนอกจากจะมีสารอาหารครบถ้วนแล้ว ยังมีภูมิคุ้มกันโรคที่หาไม่ได้จากอาหารประเภทอื่น ๆ ทั้งนี้แนะนำให้นมแม่อย่างเดียวไปจนทารกอายุ 6 เดือน โดยไม่ต้องรับประทานอาหารอื่น สำหรับรูปแบบการให้นมนั้นหากสามารถให้นมแม่ผ่านเต้าได้ก็นับว่าได้ประโยชน์และประหยัดทั้งเงินและเวลา แต่หากไม่สามารถให้นมแม่ผ่านเต้าได้ ก็ยังมีอีกหลายวิธีที่ทารกสามารถได้นมแม่ เช่น การบีบนมออกมาป้อนด้วยช้อนหรือแก้ว จำไว้ว่าหลักการสำคัญคือทารกต้องได้นมแม่ ส่วนจะได้ผ่านกระบวนการใดก็แล้วแต่ความสะดวกของคุณแม่แต่ละคน

10. คุมกำเนิด เพิ่มความสุขในชีวิตครอบครัว
การวางแผนครอบครัวและเลือกวิธีคุมกำเนิดอย่างเหมาะสมจะทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวดีขึ้น โดยทั่วไปแนะนำว่าการเว้นระยะการมีบุตรที่เหมาะสมคืออย่างน้อย 1-2 ปีหลังคลอดบุตร เพื่อให้ลูกคนก่อนพอช่วยเหลือตัวเองได้แล้วไม่ต้องเหนื่อยคูณสองเมื่อคลอดลูกคนถัดไป

จริง ๆ แล้วยังมีเรื่องน่ารู้อีกหลายเรื่องสำหรับคุณแม่มือใหม่ แต่สำหรับ 10 เรื่องข้างต้นเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่มีประโยชน์

ทั้งนี้ขอให้คุณแม่ทุกท่านมีความสุขกับการตั้งครรภ์และสุขภาพแข็งแรงทั้งคุณแม่และลูกน้อย

ส่วนคุณแม่ที่ใกล้คลอด อย่าลืมจัดกระเป๋าเตรียมคลอด พก ‘ผ้าอ้อมเบบี้เลิฟ อีซี่เทป’ สูตรใหม่! ที่ผ่านการทดสอบ ไฮโปอัลเลอร์เจนิก ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้* อ่อนโยนต่อผิวบอบบาง แพ้ง่าย ผิวสัมผัสนุ่ม ไม่บาดผิวเบบี๋แรกเกิด และซึมซับได้ยาวนานถึง 10 ชม.** มาพร้อมเทคโนโลยีทริปเปิ้ลล็อก 3 ขั้น ป้องกันการรั่วซึม*** ช่วยคลายกังวลให้คุณแม่มือใหม่! สามารถตามไปช้อปได้ที่ BabyLove Online Shop

*ไม่ก่อให้เกิดการแพ้หรือการระคายเคืองในกลุ่มทดลอง จากผลการทดสอบ โดยบริษัท Dermscan Asia ประเทศไทย ยกเว้นการแพ้ หรือการระคายเคืองส่วนบุคคล และไม่รวมถึงการแพ้เนื่องจากการใส่ผ้าอ้อมเป็นระยะเวลานาน หากเป็นการแพ้ระคายเคืองส่วนบุคคลแนะนำให้ปรึกษาแพทย์
**ระยะเวลาการซึมซับขึ้นอยู่กับปริมาณปัสสาวะของลูกน้อยแต่ละคน โดยเปรียบเทียบภายในกลุ่มสินค้าเบบี้เลิฟเท่านั้น
​***แผ่นซึมซับ ขอบขาตั้ง และยางยืดโอบกระชับรอบตัว ป้องกันการรั่วซึม

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.