เข้าใจพัฒนาการทางร่างกายของทารกแรกเกิด

เข้าใจพัฒนาการทางร่างกายของทารกแรกเกิด เข้าใจพัฒนาการทางร่างกายของทารกแรกเกิด เข้าใจพัฒนาการทางร่างกายของทารกแรกเกิด

          คงไม่มีอะไรที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่เป็นห่วงได้มากเท่ากับสุขภาพที่ดีและพัฒนาการที่สมวัยของเจ้าตัวน้อย โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากที่ลูกน้อยถือกำเนิดขึ้นมา และต้องปรับตัว ทำความคุ้นเคยกับโลกใบใหม่ ก็ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกทั้งดีใจและเป็นห่วงไปพร้อมๆ กัน สำหรับคุณพ่อคุณแม่เอง การทำความเข้าใจพัฒนาการของลูกในช่วงสัปดาห์แรก ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเตรียมพร้อมเพื่อการเลี้ยงดูที่เหมาะสมให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีต่อไปในระยะยาว พร้อมแล้วไปพบกับคำตอบของพัฒนาการทารกในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอดกันค่ะ

 

ปฏิกิริยารีเฟล็กซ์

          เรียกอีกอย่างว่าปฏิกิริยาสะท้อนกลับ เป็นพฤติกรรมทารกที่เริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้วติดต่อมาจนกระทั่งคลอด เป็นพัฒนาการสำคัญของทารกแรกเกิดที่จะตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้าโดยอัติโนมัติ ซึ่งเป็นพัฒนาการปกติที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของทารก ปฏิกิริยานี้จะเกิดขึ้นบ่อยในช่วงเดือนแรก และหลังจากนั้นก็จะค่อยๆ หายไป ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจสอบพัฒนาการที่สมบูรณ์ครบถ้วนของลูกผ่านปฏิกิริยาสะท้อนกลับได้ ดังนี้ค่ะ

  • เมื่ออุ้มลูกในท่ายืน และปล่อยให้เท้าสัมผัสพื้นเล็กน้อย >> ลูกจะชักขาขึ้นละม้ายคล้ายการเดินบนอากาศ
  • เมื่อถูกอุ้มอย่างรุนแรง เสียงดัง หรือแสงจ้าบาดตา >> ลูกจะสะดุ้งตกใจพร้อมกับแอ่นหลังขึ้นมา ศีรษะห้อยไปด้านหลัง แขนขากางกว้างออก และกลับมาอยู่ในท่าห่อตัวอย่างรวดเร็ว
  • เมื่อร้องไห้จ้าเพราะตกใจเสียงร้องไห้ของตนเอง >> ลูกจะสงบได้ด้วยการวางมืออุ่นๆ ไว้ที่ร่างกายลูก หรืออุ้มพาดบ่าไว้
  • หากแตะฝ่ามือหรือฝ่าเท้าลูก >> ลูกจะจับนิ้วไว้แน่น และสามารถดึงตัวเองขึ้นจากที่นอนได้
  • หากแตะหลังมือหรือหลังเท้าด้านนอก >> นิ้วมือและนิ้วเท้าของลูกจะกางออก เรียกว่า Babinski Reflex
  • เมื่อแตะที่มุมปากลูก >> ปากก็จะเผยอตามและหันมาหานิ้วมือที่แตะ ทำท่าทางพร้อมจะดูดนม
  • เมื่อแตะสันจมูกหรือเปิดไฟใส่หน้า >> ลูกจะหลับตาปี๋
  • จิ้มที่ฝ่าเท้าเบาๆ >> เข่าและเท้าจะงอ
  • เมื่ออุ้มเอาส่วนอกจุ่มน้ำ >> ลูกจะทำท่าว่ายน้ำ
  • ดึงลูกขณะที่นอนอยู่ให้ขึ้นมาสู่ท่านั่ง >> ลูกจะพยายามตั้งหัวให้ตรง ตาเบิกกว้าง ไหล่ตึง เรียกว่าปฏิกิริยาตุ๊กตาจีน

          ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่ตรวจสอบแล้วไม่พบปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ อาจเป็นสัญญาณผิดปกติของพัฒนาการ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขอย่างถูกต้องค่ะ

 

ผิวทารกแรกเกิด

          ทารกแรกเกิดจะมีเลือดของแม่และไขมันเคลือบอยู่ตามผิวที่เรียกว่า เวอร์นิกซ์ (Vernix) ทำหน้าที่ช่วยหล่อลื่นให้ทารกไหลลื่นออกมาจากช่องคลอดได้สะดวกยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้เห็นลูกในครั้งแรกก็จะพบว่าลูกมีผิวหนังเหี่ยวย่นจากการคุดคู้อยู่ในครรภ์มารดา และมีเมือกเลือดติดอยู่ตามตัว หลังจากคลอดเสร็จพยาบาลจะเป็นผู้ทำความสะอาดให้

          เมื่อไขมันเริ่มหลุดไปก็มักทำให้ผิวชั้นนอกของทารกแห้งและลอก แต่เพียงแค่ 1-2 สัปดาห์เท่านั้นผิวหนังเก่าก็จะค่อยๆ หลุดหายไป และกลายเป็นผิวหนังที่แสนสดใสอมชมพูขึ้นมาแทน โดยในระหว่างที่ทารกกำลังผลัดผิวใหม่ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควร แกะ เกา ขัดผิว ของลูกเลยค่ะ เพราะอาจจะทำให้ผิวลูกถลอก เป็นแผล และติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น 

          นอกจากลักษณะของผิวตามที่กล่าวมา ทารกแรกเกิดหลายคนก็มักมีปานต่างๆ แต้มตามผิว ซึ่งปานแต่ละประเภทก็ต้องการวิธีดูแลที่แตกต่างกัน ดังนี้ค่ะ

  • ปานดำแต่กำเนิด (Congenital Melanocytic Nevus) 

เมื่อแรกคลอดอาจเห็นเป็นสีค่อนข้างแดง ต่อมาภายในเวลาไม่กี่เดือนจะมีสีน้ำตาลดำเข้มขึ้น ปานดำส่วนใหญ่จะมีขนาดโตกว่าไฝธรรมดา ผิวอาจเรียบนูน หรือขรุขระเล็กน้อย และอาจมีขนปนอยู่ด้วย ปานชนิดนี้มักไม่มีอันตราย แต่ถ้ามีขนาดใหญ่อาจมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ค่ะ

  • ปานมองโกเลียน (Mongolian spot)

บ้างก็เรียก ปานเขียว ถือเป็นปานที่พบได้บ่อยที่สุดในทารกแรกเกิด ลักษณะเป็นปื้นสีเทาหรือสีน้ำเงินอ่อนขนาดใหญ่ ขนาดตั้งแต่ 0.5 – 11 ซม. มักจะพบบริเวณก้น หลัง อาจพบที่ไหล่หรือศีรษะได้บ้าง ปานชนิดนี้ไม่มีอันตรายใดๆ และมักจะจางหายไปได้เอง เมื่อลูกโตขึ้น

  • ปานโอตะ (Nevus of Ota)

อาจพบในทารกแรกเกิด หรือบางรายพบในตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว ลักษณะจะคล้ายปานมองโกเลียนที่มีสีเทาหรือน้ำเงิน แต่มักพบบริเวณโหนกแก้ม หรือขมับ ปานลักษณะนี้จะไม่จางหายไปเหมือนปานมองโกเลียน และจะไม่กลายเป็นมะเร็ง จึงไม่มีอันตรายใดๆ นอกจากไม่สวยงามเท่านั้น แต่เมื่อเด็กโตขึ้นสามารถใช้เลเซอร์รักษาได้

  • ปานแดงจากผนังเส้นเลือดผิดปกติ (Capillary Hemangioma)

ลักษณะเป็นตุ่มนูนหรือปื้นสีแดงขนาดใหญ่ ที่บริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายหากพบบริเวณรอบดวงตา อาจพบความผิดปกติของตาหรือสมองร่วมด้วย เช่น ถ้าพบปานชนิดนี้บริเวณเปลือกตาหรือขมับ อาจมีขนาดใหญ่ขึ้นเบียดตาหรือเกิดต้อหินทำให้ตาบอดได้ ปานชนิดนี้จะไม่หายไปเอง การรักษามักใช้แสงเลเซอร์ (Vascular laser) ซึ่งผลของการรักษาขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของปานแดงด้วยค่ะ

  • ปานแดงสตรอเบอรี่ (Strawberry Nevus)

มักพบบริเวณใบหน้าและลำคอ ลักษณะเป็นตุ่มหรือก้อนนูนสีแดงหรือม่วงเข้ม พบในช่วง 1-4 สัปดาห์หลังคลอด ระยะแรกจะขยายเร็วจนถึงอายุประมาณ 1 ขวบ จากนั้นสีจะม่วงคล้ำขึ้น โดย 85% จะหายไปได้เองเมื่อลูกอายุประมาณ 7 ขวบ และเหลือเป็นแผลจางๆ แต่ถึงแม้ปานชนิดนี้ส่วนใหญ่จะหายได้เองเมื่อลูกโตขึ้น แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น อาทิ การติดเชื้อ ถ้าเกิดแผล ซึ่งหากมีภาวะแทรกซ้อนควรรีบพาลูกพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องค่ะ

 

รูปร่างทารกแรกเกิด

          ในช่วงแรกคลอดนี้ ทารกส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักระหว่าง 2.5 – 4.5 กก. และมีความยาวตั้งแต่ 48 – 51 ซม. โดยรูปร่างของเจ้าตัวเล็กยังอาจไม่สมส่วนนัก เพราะมีขนาดศีรษะใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัว อีกทั้งมีใบหน้าอูม คอสั้น แขนขาก็สั้นไม่เข้าที่ เมื่อจับศีรษะก็จะพบว่าค่อนข้างนุ่ม เนื่องจากกะโหลกยังประสานไม่สนิทเท่าไรนัก โดยเฉพาะกระหม่อมหน้า ซึ่งจะประสานกันดีเมื่อลูกอายุ 18 เดือน ส่วนมือเท้าจะค่อนข้างเย็น อาจมีสีเขียวคล้ำ เนื่องจากระบบหมุนเวียนเลือดยังทำงานไม่ประสานกันเท่าไหร่

          ส่วนอวัยวะเพศชาย ลูกอัณฑะมักจะลงมา ในถุงอัณฑะตั้งแต่แรกคลอดอยู่แล้ว แต่ทารกบางคนก็มีไข่เพียงข้างเดียว ซึ่งอีกข้างจะตามมาในภายหลังในเวลาไม่นานนัก ปลายองคชาติจะปิดแต่สามารถปัสสาวะได้และจะเปิดภายหลังค่ะ

          สำหรับอวัยวะเพศหญิง อาจมีสีคล้ำ บวมเล็กน้อย บางคนมีมูกคล้ายตกขาวหรือเลือดออกมาจากช่องคลอด เพราะเกิดจากฮอร์โมนของแม่ที่ผ่านมาทางสายรก และจะหายไปในเวลา 1-2 สัปดาห์

 

การมองเห็น

          การมองเห็นเป็นพัฒนาการที่ทารกเพิ่งได้เรียนรู้เมื่อออกมาจากครรภ์ โดยปกติทารกจะสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ในระยะ 8-12 นิ้ว หรือประมาณช่วงห่างระหว่างใบหน้าของคุณแม่กับสายตาของลูกขณะอุ้มให้นม ทั้งนี้ ทารกจะสามารถมองเห็นได้อย่างเลือนลางและมองในลักษณะเลื่อนลอยบ้างในบางครั้ง

          ที่สำคัญดวงตาของทารกจะมีความไวต่อแสงมาก คุณพ่อคุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการพาลูกเดินไปในห้องที่มีแสงจ้า หรือออกกลางแดดแบบฉับพลัน โดยจะสังเกตได้ว่า ลูกจะหลับตาปี๋เพื่อปกป้องดวงตาของตัวเองทันที

          ทารกแรกเกิดสามารถจดจำใบหน้าคุณพ่อคุณแม่ได้ภายใน 4 วันหลังคลอด และชอบมองใบหน้าของคน เพราะมีลักษณะสีหน้าที่แสดงอารมณ์ และมีจุดโฟกัสที่ดวงตา การมองจะทำให้ลูกเรียนรู้ได้ว่าควรจะมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไร อย่างเช่น คุณแม่ยิ้มให้ ลูกก็จะเรียนรู้ที่จะยิ้มตามค่ะ 

 

การได้ยิน

          ร่างกายของทารกได้พัฒนาระบบประสาทการรับฟังตั้งแต่มีอายุประมาณ 4-5 เดือนในครรภ์คุณแม่ และทำงานทันทีตั้งแต่ออกจากท้อง ซึ่งการได้ยินเป็นประสาทสัมผัสที่ลูกน้อยใช้ค่อนข้างมาก

          ทารกจะมีปฏิกิริยาเมื่อมีเสียงแปลกๆ เข้ามากระทบ อย่างเช่น สะดุ้งตกใจ กะพริบตาถี่ๆ ในทางกลับกันถ้าเป็นเสียงเพลงกล่อม ลูกน้อยจะนอนง่ายขึ้น ร้องไห้โยเยน้อยลง โดยพบว่าทารกชอบได้ยินเสียงที่ทอดยาวมากกว่าเสียงสั้นๆ แบบหยุดๆ หายๆ และชอบเสียงสูงมากกว่าเสียงต่ำ อีกทั้งสามารถแยกแยะเสียงของคุณแม่จากเสียงอื่นๆ ได้แล้วด้วยค่ะ
 

การสัมผัส

          แม้ในช่วงแรกเกิด ประสาทการมองและการฟังของทารกยังไม่ชัดเจนนัก แต่ลูกแรกเกิดมีความไวต่อประสาทสัมผัสทางกายอย่างมาก และยังรับรู้ได้จากการสัมผัสอีกว่าคุณแม่กำลังอยู่ในอารมณ์ใด

          นอกจากนี้ อ้อมกอดและการสัมผัสของคุณแม่ ถือเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะกระตุ้นให้พัฒนาการของลูกในหลายด้าน โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิดที่เซลล์สมองยังไม่มีการพัฒนาใดๆ การสัมผัสที่อ่อนโยนจากคุณแม่จะช่วยกระตุ้นการสร้างเครือข่ายใยประสาท ให้เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น ทั้งยังเป็นวิธีส่งผ่านความรักอบอุ่น การปลอบโยน ที่ช่วยให้ความเครียดของลูกลดลงและมีความสุขมากขึ้น แต่หากลูกน้อยยังต้องอยู่ในตู้อบ ทางการแพทย์ก็แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลูบเนื้อตัวลูกผ่านถุงมือ เพราะว่าลูกจะรู้สึกถึงการสัมผัสได้เช่นกันค่ะ
 

การได้กลิ่น

          ประสาทสัมผัสด้านการดมกลิ่นเป็นพัฒนาการสำคัญ ที่จะช่วยให้ทารกน้อยปรับตัวกับโลกภายนอก หลังจากอุดอู้ในครรภ์คุณแม่มานาน ทารกจะค่อยๆ ทำความคุ้นเคยกับกลิ่นที่ได้รับบ่อยๆ เช่น กลิ่นคุณแม่ หรือกลิ่นนม ซึ่งการให้ลูกได้สัมผัสกับกลิ่นที่คุ้นเคย จะช่วยให้ลูกรู้สึกมั่นใจและสงบสุข และปรับตัวเข้ากับสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น

          นอกจากนี้ ทารกแรกเกิดยังสามารถแยกความแตกต่างของกลิ่นได้ และมีการแสดงออกตอบสนองต่อกลิ่นที่แตกต่างกัน หากได้กลิ่นที่ไม่ชอบ ทารกก็จะหันหน้าหนี สะดุ้ง และดิ้นรนจนร้องไห้ออกมาในที่สุด แต่เมื่อได้กลิ่นที่ชอบและคุ้นเคย อย่างกลิ่นของคุณแม่ ลูกก็จะรู้สึกปลอดภัยและรับรู้ถึงความอบอุ่น ดังนั้น เมื่อลูกร้องไห้โยเยและคุณแม่เข้ามาอุ้ม ลูกก็จะรู้สึกอุ่นใจและสงบลงได้ค่ะ

 

ขาโก่ง

          คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจจะกังวลว่า ทารกแรกเกิดที่คลอดออกมาแล้วขาโก่งจะผิดปกติหรือไม่ แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องธรรมชาติที่ขาของลูกน้อยจะโก่งเล็กน้อยโดยเฉพาะขาด้านล่าง เนื่องจากก่อนคลอดทารกอยู่ในครรภ์ซึ่งมีพื้นที่จำกัด และขนาดร่างกายที่เติบโตขึ้นมากในช่วงระยะเวลาท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ ทำให้ทารกต้องอยู่ท่าที่ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าที่สุด ส่วนใหญ่จะอยู่ในท่าขัดสมาธิ ท่าไขว้ขา เป็นต้น เมื่อคลอดออกมา ท่าทางเหล่านี้จะยังคงเหลือให้เห็นอยู่บ้างในระยะแรกๆ โดยเฉพาะส่วนขาที่บริเวณหัวเข่าจะแบะออก แต่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะขาของลูกจะค่อยๆ เหยียดตรงขึ้นเรื่อยๆ สามารถยืดยาวตรงได้ในภายหลังเองค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.momypedia.com

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.