เคล็ดลับกระตุ้นพัฒนาการทางภาษา

เคล็ดลับกระตุ้นพัฒนาการทางภาษา เคล็ดลับกระตุ้นพัฒนาการทางภาษา เคล็ดลับกระตุ้นพัฒนาการทางภาษา

          แม้ว่าพัฒนาการเด็กด้านการพูดในช่วงปีแรกจะยังไม่เด่นชัดเท่าไหร่ เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เด็กบางคนทำได้แค่ส่งเสียงอ้อแอ้ บางคนเริ่มพูดได้ไม่กี่คำยังสื่อสารโต้ตอบไม่ได้ แต่ช่วงปีแรกนี้นี่แหละค่ะ ที่นับเป็นช่วงสำคัญที่จะช่วยปูพื้นฐานไปสู่พัฒนาการทางภาษาขั้นต่อไป ซึ่งตามปกติในราว 6-12 เดือนลูกจะเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ในลักษณะที่ต้องการสื่อสารกับเรา เริ่มพยายามเลียนเสียงผู้ใหญ่ เริ่มสนใจที่จะแยกแยะเสียงต่างๆ พอช่วง 12-15 เดือน ลูกมักจะเริ่มเปล่งเสียงคำแรกออกมา และเริ่มพัฒนาทักษะการเชื่อมโยงคำกับความหมาย เริ่มพูดหลายคำมากขึ้น สะสมคำศัพท์มากขึ้น และโต้ตอบสื่อสารกับผู้อื่นได้บ้างในช่วง 2-3 ปี

          อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทางภาษาเป็นเรื่องธรรมชาติที่เราไม่อาจไปเร่งรัดหรือบังคับกันได้ค่ะ ไม่มีกฎตายตัวแน่นอนว่าลูกจะพูดคำแรกได้ตอนอายุเท่าไหร่ ลูกจะพูดเมื่อพร้อมที่จะพูด บางคนเริ่มพูดเร็ว บางคนเริ่มพูดช้า ซึ่งไม่เกี่ยวกับความสามารถของสมองหรือระดับสติปัญญาแต่อย่างใด คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเครียดกังวลนะคะ ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด คือกระตุ้นพัฒนาการของเขาตั้งแต่ช่วงปีแรกไปเรื่อยๆ ด้วยเคล็ดลับต่อไปนี้

  1. พูดคุยกับลูกเยอะๆ แม้จะดูเหมือนเป็นการสื่อสารเพียงแค่ทางเดียว แต่เชื่อไหมคะว่าสมองของลูกกำลังเก็บรับข้อมูลและประมวลผลอยู่ตลอดเวลาค่ะ หากอยู่บ้านด้วยกันสองต่อสอง คุณแม่อาจจะพูดอธิบายไปด้วยว่าตอนนี้แม่กำลังทำอะไรอยู่ “ตอนนี้แม่กำลังจะทำอาหารนะลูก” “กำลังจะหยิบผักมาหั่น” “เรากำลังจะไปอาบน้ำกันนะ” “แม่กำลังถอดกระดุมเสื้อให้นะจ๊ะ…เม็ดที่หนึ่ง…เม็ดที่สอง…เม็ดที่สาม” “แม่กำลังจับพุงของหนู” “จับแก้มของหนู” “จับมือซ้าย จับมือขวา…” ฯลฯ พูดคุยสนทนาไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเขินเลยค่ะ เพราะนี่คือการลงทุนหยอดกระปุกเพิ่มคลังคำศัพท์ให้ลูก
  2. ภาษากายก็สำคัญ ลูกน้อยอายุราว 1 ปีสามารถเข้าใจคำศัพท์ได้ระดับหนึ่งแม้อาจจะยังพูดออกมาไม่ได้ ฉะนั้น พ่อแม่จึงควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารทางกายของลูกด้วยค่ะ เพราะมันคือการสื่อสารแบบหนึ่งที่เป็นทักษะสำคัญอันนำไปสู่พัฒนาการด้านการพูด ไม่ว่าจะเป็นการโบกไม้โบกมือ หรือชี้นิ้ว เวลาลูกชี้นิ้วไปที่สิ่งของเราอาจเชื่อมโยงท่าทางนั้นด้วยคำถามเพื่อสื่อความหมายอย่างเช่น “ลูกอย่างได้ลูกบอลนั้นหรือจ๊ะ?” หรือชวนลูกร้องเพลงและทำท่าทางประกอบเพื่อเชื่อมโยงท่าทางกับความหมายของคำได้เช่นกัน เช่น เพลง “The Wheels on the bus”
  3. พูดด้วยคำที่ถูกต้อง ในช่วงแรกที่ลูกเริ่มเปล่งเสียงคำที่มีความหมาย หรือเริ่มพูด มักจะพูดไม่ชัด ซึ่งเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการทางภาษา แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพูดไม่ชัดตามลูกไปด้วยค่ะ เพราะจะทำให้เด็กสับสนและไม่เกิดการเรียนรู้จากต้นแบบที่ถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องพูดภาษาเด็กกับลูก ใช้คำพูดที่ชัดถ้อยชัดคำออกเสียงถูกต้องตามปกติ เพียงแต่อาจจะพูดให้ช้าลง สิ่งนี้จะช่วยได้มากในการสะสมคลังคำศัพท์ให้กับลูก
  4. อ่านนิทาน/ฝึกตั้งคำถาม หาหนังสือนิทานที่มีภาพสวยๆ และเรื่องราวที่เหมาะกับวัยของลูกมาอ่านให้ลูกฟัง ใช้น้ำเสียงตื่นเต้นสนุกสนานไปตามเนื้อเรื่องเพื่อจูงใจให้ลูกสนใจฟังจนจบ นอกจากอ่านตามเนื้อเรื่องแล้ว อย่าลืมตั้งคำถามชวนให้ลูกตอบเยอะๆ ด้วยค่ะ แม้ในช่วงที่ลูกยังพูดไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่อาจแกล้งถามและตอบให้ลูกฟัง เช่น “ดูเด็กคนนี้สิ เขากำลังดีใจหรือเสียใจนะ?....เขากำลังดีใจ ดูสิ ยิ้มกว้างเลย” พอเขาเริ่มพูดได้ ก็ถามแล้วชวนให้เขาตอบเอง การตั้งคำถามแบบนี้เป็นการกระตุ้นให้เขาคิดตามและพยายามจะพูดตอบ นอกจากฝึกพูดแล้ว กิจกรรมนี้ยังช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้ลูกได้อีกด้วยค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.parents.com 

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.