ลูกทานยาก แก้ไม่ยาก กับ 7 ขั้นตอนที่พ่อแม่ช่วยลูกน้อยได้ง่าย ๆ

ลูกทานยาก แก้ไม่ยาก กับ 7 ขั้นตอนที่พ่อแม่ช่วยลูกน้อยได้ง่าย ๆ ลูกทานยาก แก้ไม่ยาก กับ 7 ขั้นตอนที่พ่อแม่ช่วยลูกน้อยได้ง่าย ๆ ลูกทานยาก แก้ไม่ยาก กับ 7 ขั้นตอนที่พ่อแม่ช่วยลูกน้อยได้ง่าย ๆ

          ความปรารถนาของพ่อแม่ย่อมอยากเห็นลูกน้อยเจริญเติบโตอย่างสมวัยเเละเเข็งแรง แน่นอนว่าการได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนก็เป็นส่วนสำคัญ แต่ดูเหมือนปัญหาเรื่องลูกกินยากมักเป็นอุปสรรคใหญ่ที่หลายครอบครัวต้องพบเจอ แต่อย่าเพิ่งหนักใจเพราะลูกกินยาก ไม่ยากเกินแก้ ด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้ค่ะ

 

1. เช็คกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโต

ก่อนอื่นเรามาสังเกตกัน ว่าอาการกินยากของลูกส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางร่างกายหรือไม่ เพราะบางครั้งเด็กอาจกินน้อยไปหน่อย แต่ถ้าการเติบโตยังเป็นไปตามวัยก็ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงค่ะ ลองเช็คจาก2-3 เดือน อาจต้องพาน้องไปพบคุณหมอเพื่อตรวจร่างกายกันสักนิด หากมีความผิดปกติจะได้รักษาได้ทันการ

 

2. กินอาหารให้เหมาะตามช่วงวัย

สำหรับทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือน นมแม่ถือเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับช่วงนี้ จึงควรให้กินนมเป็นอาหารหลัก เพราะระบบย่อยอาหารยังไม่พร้อมเต็มที่ จนเมื่อลูกมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป เราค่อยเริ่มให้กินนมควบคู่กับกินอาหารเสริมทีละชนิด อาทิ ข้าวบด ไข่แดงต้มสุก ฟักทองนึ่ง ตำลึงบด โดยเริ่มจาก 1-2 ช้อนชาก่อน ระหว่างนี้คอยสังเกตด้วยว่า ลูกแพ้อาหารชนิดใดหรือไม่ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงอาหารที่ลูกแพ้ได้ถูกค่ะ

 

3. ฝึกทักษะการกินตั้งแต่เล็ก

ลูกจะกินอาหารง่ายขึ้น หากได้ฝึกทักษะในการกินอาหารตั้งแต่อายุน้อยๆ อย่างเป็นขั้นตอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามช่วงวัย เช่น เมื่ออายุ 6-8 เดือน ให้ลูกหัดหยิบอาหารเข้าปากกินเอง ควบคู่ไปกับระวังเรื่องการสำลักอาหาร ตั้งแต่อายุ 9-10 เดือน หัดให้ลูกดื่มน้ำจากถ้วยเอง ด้วยการใช้ถ้วยพลาสติกมีหูจับ 2 ด้าน จะได้ใช้สองมือช่วยประคอง เมื่ออายุ 12-15 เดือน ให้ลูกเริ่มหัดใช้ช้อนตักอาหารกินเอง แม้ช่วงแรกอาจทำเลอะไปหน่อย แต่การให้ลูกได้ลองหัดและฝึกบ่อยๆ จะทำให้การกะระยะและการทำงานประสานกันของตาและมือในการหยิบจับดีขึ้น เมื่อลูกทำได้และได้แรงเสริมทางบวกจากพ่อแม่ จะสร้างความภูมิใจให้เด็กพยายามมากขึ้น จนเมื่อลูกตักกินเองได้แล้ว ก็ไม่ควรป้อนอาหารลูกอีก เพราะการพยายามป้อนและยัดเยียดให้ลูกกินอาจส่งผลทางลบในระยะยาว ทำให้ลูกไม่ยอมกินข้าว เพราะมีความรู้สึกที่ไม่ดีกับการกินค่ะ

 

4. ช่วยเหลือตามความเหมาะสม

แน่นอนว่าลูกในวัยหัดกินยังต้องการความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ค่อนข้างมาก หากลูกเริ่มมีฟันขึ้นแล้ว เราอาจลองเปลี่ยนจากการบดอาหาร มาเป็นการตัดอาหารให้เป็นชิ้นเล็กๆ ฝึกให้เขาได้เคี้ยว และเพื่อป้องกัน ลองเตรียมชนิดของอาหารให้หลากหลายประมาณ 2-3 อย่างดูค่ะ เพื่อให้ลูกได้มีโอกาสเลือกเอง และตักอาหารใส่จานให้ลูกครั้งละน้อย เขาจะได้กินหมดและภูมิใจว่าทำได้ หากไม่พอ รอให้ขอเพิ่ม แล้วค่อยเติมให้อีก โดยคุณพ่อคุณแม่ควรชมเชยให้กำลังใจเมื่อลูกกินหมดหรือยอมลองอาหารชนิดใหม่ควบคู่ด้วย แต่อย่าใช้รางวัลล่อใจเชียวค่ะ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกกินยากและเริ่มใช้การกินอาหารเป็นเงื่อนไขในการเรียกร้องขอสิ่งตอบแทนได้นะคะ

 

5. สร้างความรู้สึกที่ดีกับการกิน

ความประทับใจเเรกช่วงหัดกินถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าลูกรู้สึกว่าการกินอาหาร เป็นกิจกรรมที่น่าเบื่อหน่าย ตึงเครียด จะทำให้ลูกมีความรู้สึกที่ไม่ดีกับการกินติดตัวไป ฉะนั้นการลงโทษ ต่อว่า หรือพูดให้ลูกรู้สึกผิด จึงเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง หากลูกกินยาก อาจใช้วิธีสอบถามหรือสังเกตอาการแทน เพราะจริงๆ แล้วในเด็กเล็กนั้น ไม่มีเด็กคนใดตั้งใจอดอาหาร ถ้าหิว เด็กจะหยิบหรือตักอาหารกินเอง ดังนั้น จึงควรกำหนดมื้ออาหารให้ชัดเจน ไม่ให้กินพร่ำเพรื่อ เพราะจะทำให้ลูกไม่หิว เมื่อความอยากอาหารลดลง ก็จะไม่ยอมกินในมื้อถัดไปด้วยค่ะ

 

6. กินเป็นเวลา

สำหรับน้องคนไหนมีอาการกินช้า อมข้าวนาน คุณพ่อคุณแม่ควรกำหนดเวลาในการกินแต่ละมื้อ เช่น ไม่เกินมื้อละครึ่งชั่วโมง เมื่อหมดเวลาก็เก็บอาหาร ช่วงแรกๆ ลูกอาจโยเยขอกินระหว่างมื้อบ้าง แต่คุณพ่อคุณแม่ควรใจแข็ง พูดคุยให้เข้าใจว่าต้องกินตามช่วงมื้อ แล้วลูกจะค่อยๆ เรียนรู้และกินอาหารตามช่วงเวลาที่กำหนดเองค่ะ

 

7. มื้ออาหารประสานความสัมพันธ์ในครอบครัว

หากโอกาสเอื้ออำนวย การกินข้าวกันพร้อมหน้าพร้อมตากันจะช่วยสร้างเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว ทั้งยังช่วยกระตุ้นความอยากอาหารของลูกได้ และยังทำให้ลูกน้อยได้ซึบซับพฤติกรรมที่เหมาะสมในการรับประทานอาหารอีกด้วยค่ะ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้เเก่ลูก ถ้าลูกเห็นพ่อแม่กินผักผลไม้หรืออาหารอื่นๆ ที่เขาไม่ยอมทานอย่างเอร็ดอร่อย ลูกจะเริ่มมีความรู้สึกอยากลองขึ้นมาเอง แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณพ่อคุณแม่เลือกกินให้เห็น ลูกก็มีโอกาสเลียนแบบได้เช่นกัน

 

          เป็นไงบ้างคะ ปัญหาเรื่องลูกกินยาก จริงๆ เเก้ไม่ยากเลย เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่อาจต้องใช้ความอดทนสักนิดเเละเทคนิคอีกหน่อย แต่เมื่อลูกเรียนรู้และมีพฤติกรรมการกินที่เหมาะสม จะส่งผลดีในระยะยาวทั้งเรื่องสุขภาพของคุณลูกและความสบายใจของคุณพ่อคุณแม่แน่นอนค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.chulakid.com

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.