ร้อนนี้ระวัง! เพื่อนหมอชวนเช็กอาการ ‘อาหารเป็นพิษในเด็ก’
‘อาหารเป็นพิษในเด็ก’ คือ ภาวะที่เกิดจากการทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย ซึ่งในเด็กเล็ก โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 5 ปี มีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้สูงกว่าในช่วงวัยอื่น เนื่องจากเด็กในช่วงวัยนี้ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงมากพอที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้เท่ากับช่วงวัยอื่น และมักจะมีอาการรุนแรงกว่าแม้จะติดเชื้อเดียวกันกับผู้ใหญ่ ซึ่งในช่วงหน้าร้อนก็ยังมี โรคฮีทสโตรก ที่ต้องระวังเช่นกัน คุณแม่สามารถดูแลได้ด้วย “8 วิธีป้องกันลูกน้อย จาก 'ฮีทสโตรก'”
สาเหตุอะไรบ้างนะ? ที่ทำให้เกิด ‘อาหารเป็นพิษในเด็ก’
โรคท้องเสียที่พบในเด็กมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัส รองลงมาคือการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้ออื่น ๆ เช่น เชื้อปรสิต หรือสารพิษที่สร้างขึ้นจากแบคทีเรีย โดยจะมีระยะฟักตัวส่วนใหญ่ประมาณ 1 - 3 วัน โดยเชื้อโรคอาจจะเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น จากการทานอาหารที่ไม่สะอาด หรือมือที่ไม่สะอาด เจ้าตัวน้อยหยิบจับอาหารหรือเอามือเข้าปาก หรืออาจมากับของเล่นที่ไม่สะอาดแล้วเค้าเอาไปอมเข้าปากก็ได้ค่ะ
อาหารประเภทไหนบ้างที่ต้องระวังให้เจ้าตัวน้อยมากเป็นพิเศษ
- นมที่ทิ้งไว้นานแล้ว เช่น บางครั้งลูกทานนมไม่หมดในครั้งเดียว คุณแม่ควรเก็บนมไว้ไม่เกิน 2ชั่วโมง หากยังทานไม่หมดควรทิ้งไปนะคะ
- อาหารดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น เนื้อสัตว์ดิบ อาหารทะเล ซูชิ ไข่ดิบ นมและผลิตภัณฑ์จากนมที่ยังไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ
- น้ำแข็ง, น้ำแข็งใส หรือน้ำเปล่าที่ไม่สะอาด
- น้ำผึ้ง
- ผัก ผลไม้สดที่ล้างไม่สะอาด
- อาหารกระป๋อง หรืออาหารซองที่หมดอายุ
เช็กอาการ ‘อาหารเป็นพิษในเด็ก’ ที่พบได้บ่อย
- เจ้าตัวน้อยมีอาการคลื่นไส้
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือมีมูกเลือด จนบางครั้งเจ้าตัวน้อยอาจถ่ายมากจนมีอาการก้นแดงได้ค่ะ
- มีไข้
ในบางครั้งลูกอาจมีเพียงแค่อาการใดอาการหนึ่งก็ได้ เช่น ท้องเสียอย่างเดียว โดยไม่มีภาวะอาเจียนร่วมด้วยก็ได้
อาการไหนที่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์
โดยทั่วไปโรคท้องเสียส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงสามารถหายได้เอง ซึ่งหากเจ้าตัวน้อยมีอาการดังนี้ควรรีบพาไปหาหมอ
- ไข้ขึ้นสูง ซึม หรือมีอาการชัก
- ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกเลือด
- อาเจียนบ่อยมากจนมีอาการขาดน้ำ
- ไม่ยอมดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทุกชนิดและ/หรือไม่ยอมดื่มนมหรือกินอาหาร
- ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่แล้วแต่เจ้าตัวน้อยยังดูมีอาการเพลียหรือซึมอยู่
- ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ มากกว่า 10 ครั้งต่อวัน
- ปัสสาวะลดลง หรือไม่ปัสสาวะเลยเกิน 6-8 ชั่วโมง
วิธีป้องกัน ‘อาหารเป็นพิษในเด็ก’
ก็คือการรักษาความสะอาดเพื่อกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าปาก
- คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนจะหยิบจับอาหารหรือชงนมให้เจ้าตัวน้อย
- ล้างทำความสะอาดขวดนม , จุกนม หลังการใช้ทันที และฆ่าเชื้อโดยการต้มจนเดือดอย่างน้อย 10 - 15 นาที
- ถ้ายังทานนมไม่หมดควรมีฝาครอบจุกให้มิดชิดและไม่ควรทิ้งไว้นานเกิน 2 ชม.
- ในเด็กโตที่ทานอาหารอื่นต้องเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ มีภาชนะปิดมิดชิด ทำความสะอาดภาชนะที่ใส่เช่น จาน , ชาม , ช้อน
- อย่าลืมล้างมือให้เด็กบ่อย ๆ เพราะในวัยนี้จะชอบเอาของหรือมือตัวเองเข้าปาก ซึ่งจะเป็นการนำเอาเชื้อโรคเข้าตัวเองนั่นเองค่ะ
- ของเล่นที่สามารถล้างทำความสะอาดได้ก็ควรนำไปล้าง แต่บางชนิดที่ไม่สามารถทำความสะอาดได้ก็ควรทิ้งหรือเปลี่ยนใหม่
วิธีการดูแลเจ้าตัวน้อยในเบื้องต้น
การดูแลรักษาที่สำคัญคือ การให้เจ้าตัวน้อยกินน้ำเกลือแร่ชดเชยที่สูญเสียไปทางอุจจาระและอาเจียน โดยปกติไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ ในกรณีท้องเสียที่ไม่รุนแรง เช่น เจ้าตัวน้อยมีอาการอาเจียนไม่มาก ยังพอกินน้ำหรืออาหารเหลวหรืออาหารอ่อน ๆ ได้ จะแนะนำให้ดูแลดังนี้…
- เจ้าตัวน้อยที่เลี้ยงด้วยนมมารดา ควรให้นมมารดาต่อไป โดยให้ดูดนมบ่อยขึ้นกว่าปกติ
- เจ้าตัวน้อยที่เลี้ยงด้วยนมผสม อาจเปลี่ยนเป็นสูตรไม่มีน้ำตาลแลคโตสชั่วคราว
- ในเด็กโตให้อาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม , โจ๊ก ที่ไม่มัน โดยให้ทานทีละน้อย ๆ แต่อาจต้องเพิ่มให้บ่อยกว่าปกติ
ถ้าลูกน้อยสามารถดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่และทานอาหารหรือนมได้ ถึงแม้จะยังถ่ายอยู่ แต่ไม่มีอาการอ่อนเพลีย และดูสดใสขึ้น แสดงว่าสามารถทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ได้ด้วยสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทันและพอเพียง ก็จะให้ดื่มต่อไปจนกว่าจะหยุดถ่าย แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 2 – 3 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาต่อไปค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจากคุณหมอแอน พญ.ปิยะรัตน์ เลิศบรรณพงษ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ดูแลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บกันไปแล้ว อย่าลืมเลือกผ้าอ้อมให้เหมาะกับช่วงหน้าร้อน ซึ่งในช่วงนี้ควรเลือกผ้าอ้อมที่แห้งไวสบายทันที! ซึมซับไวขึ้นถึง 150%(3) ด้วยแผ่นซูเปอร์ ดราย ไดมอนด์ ชีท เราแนะนำ ‘ผ้าอ้อมเบบี้เลิฟ เพลย์แพ้นท์ พรีเมียม’ สูตรใหม่! ตามไปช้อปผ้าอ้อมคุณภาพพรีเมียม ในราคาน่าเลิฟได้ที่ BabyLove Online Shop
(3) เปรียบเทียบกับสูตรก่อนหน้า
วันที่สร้าง 29/04/2024