Unique Trap Code 8392

'โรคไอกรน' ภัยเงียบ ที่คุณแม่ต้องพร้อมรับมือ

'โรคไอกรน' ภัยเงียบ ที่คุณแม่ต้องพร้อมรับมือ 'โรคไอกรน' ภัยเงียบ ที่คุณแม่ต้องพร้อมรับมือ 'โรคไอกรน' ภัยเงียบ ที่คุณแม่ต้องพร้อมรับมือ

โรคไอกรน , โรคไอ 3 เดือน หรือ โรคไอร้อยวัน (Pertussis หรือ Whooping cough) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ โดยมีสาเหตุมาจากเจ้าเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Bordetella pertussis โดยแบคทีเรียชนิดนี้จะทำให้เจ้าตัวน้อยเกิดอาการไอ ที่มีลักษณะพิเศษ คือ ไอติด ๆ กัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้นทำให้ลูกหายใจไม่ทัน แล้วต้องหายใจเข้าลึก ๆ จนเกิดเป็นเสียง วู๊ป (Whooping cough) สลับกันไปกับการไอเป็นชุด ๆ จึงมีชื่อเรียกว่า ‘โรคไอกรน’และบางครั้งอาการไอ อาจจะเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน จึงมีชื่อเรียกว่า โรคไอร้อยวัน

โดยโรคไอกรนสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่อาการจะรุนแรงมากในวัยเด็กโดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก ซึ่งนอกจากเจ้า ‘โรคไอกรน’ ก็ยังมี ‘โรคปอดอักเสบในเด็ก’ ที่ต้องระวัง! ให้ลูกอีกด้วยนะคะ 

การเกิด ‘โรคไอกรน’ ในวัยเด็กมักเกิดจากการได้รับวัคซีนป้องกันที่ยังไม่ครบหรืออาจยังไม่เคยได้รับวัคซีนเพราะวัคซีนป้องกันไอกรนเข็มแรกจะได้รับเมื่ออายุ 2 เดือน ทำให้เจ้าตัวน้อยขาดภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรค

‘โรคไอกรน’ เป็นโรคที่ปัจจุบันพบได้น้อยเพราะมีวัคซีนป้องกันโรค แต่เจ้าโรคไอกรนกลับมาระบาดอีกครั้ง เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ได้รับมาตั้งแต่วัยเด็กค่อย ๆ ลดลงหลังจากฉีดไป 5-10 ปี และบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจไม่ได้พาลูกไปฉีดวัคซีนกระตุ้นตามนัดในช่วงอายุ 4-6 ขวบ และ 10-12 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่วัคซีนตามวัยเริ่มห่างออกไป จึงทำให้เกิดการระบาดของโรคไอกรนขึ้นเป็นครั้งคราว

‘โรคไอกรน’ ในเด็กเล็กที่ต้องหมั่นสังเกต

‘โรคไอกรน’ เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม รดกันโดยตรง หากเจ้าตัวน้อยไม่มีภูมิคุ้มกันอาจติดเชื้อและเกิดโรคได้ง่าย โดยเด็กที่ได้รับเชื้อส่วนมากมักจะได้รับมาจากผู้ใหญ่ในบ้านที่ป่วยและมีอาการไอ ซึ่งหากผู้ใหญ่ติดแล้วส่วนใหญ่อาการของโรคไอกรนจะคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป ทำให้คุณพ่อคุณแม่อาจไม่ทันได้ระวังเนื่องจากมีอาการไม่รุนแรง ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังลูกน้อยที่อยู่ใกล้ชิดในที่สุด

ดังนั้นหากลูกน้อยมีอาการไอติดต่อกันนานมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ร่วมกับไอติดกันเป็นชุด ๆ และในช่วงสุดท้ายของการไอจะมีเสียงดัง ‘วู๊ป’ และอาเจียนหลังการไอ หรือเกิดอาการขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโรคไอกรน ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์

มาดูกันว่าเด็กกลุ่มไหนบ้างที่เสียงเป็น ‘โรคไอกรน’

  • เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนไอกรนตามวัย
  • เด็กที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ในบ้านที่กำลังป่วยเป็นโรคไอกรน

ชวนเช็กอาการ ‘โรคไอกรน’ ให้เจ้าตัวน้อย ลูกน้อยจะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อภายใน 7-10 วัน โดยจะมีอาการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ…

  • ระยะแรก (catarrhal stage) ระยะนี้อาการจะคล้ายไข้หวัด คือ ไอ มีน้ำมูก อาจจะมีไข้ต่ำ ๆ ตาแดง น้ำตาไหล ระยะนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ และเป็นระยะที่มีการแพร่เชื้อได้มากที่สุด
  • ระยะไอรุนแรง (paroxysmal stage) ระยะนี้ลูกจะมีอาการไอมากขึ้น ไอติดกันเป็นชุด ๆ ไอจนอาเจียน อาจจะมีหน้าเขียวเพราะหายใจไม่ทันโดยเฉพาะในเด็กเล็ก เป็นระยะที่ต้องเฝ้าระวังเบบี๋เป็นอย่างมาก เพราะอาจมีอาการหยุดหายใจ หรือมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ปอดอักเสบ เลือดออกในเยื่อบุตา ชักจากการขาดออกซิเจนตามมาได้ ระยะนี้อาจเป็นอยู่นานได้ถึง 2-4 สัปดาห์
  • ระยะฟื้นตัว (convalescent stage) อาการไอจะค่อย ๆ ลดลง โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งระยะของโรคทั้งหมดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์

วิธีรับมือ ‘โรคไอกรน’

  1. การรักษาโรคไอกรนคือการให้ยาปฏิชีวนะ โดยยารักษาจะได้ผลดีเมื่อได้รับในช่วง 2-3 วันแรกที่มีอาการ ดังนั้นหากสงสัยว่าเจ้าตัวน้อยอาจป่วยเป็นโรคไอกรน ควรรีบพาไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
  2. ให้ลูกน้อยพักผ่อนให้มาก ๆ งดออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน
  3. ดื่มน้ำเปล่า น้ำผลไม้ และน้ำซุปมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  4. ทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ เพื่อลดการอาเจียนหากเกิดอาการไอได้
  5. ป้องกันการแพร่เชื้อโดยการปิดปากขณะไอและล้างมืออย่างสม่ำเสมอ

การป้องกัน ‘โรคไอกรน’

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย
  2. หากผู้ใหญ่ในบ้านมีอาการคล้ายโรคหวัด ควรใส่หน้ากากอนามัยและหลีกเลี่ยงการสัมผัสเจ้าตัวน้อย
  3. การฉีดวัคซีน เป็นการป้องกันโรคไอกรนที่ดีที่สุด
  • ในเด็กเล็ก ลูกจะได้รับวัคซีนไอกรนเข็มแรกตอนอายุ 2 เดือน, เข็มที่ 2 ให้ตอนอายุ 4 เดือน, เข็มที่ 3 ให้ตอนอายุ 6 เดือน, เข็มที่ 4 ให้ตอนอายุ 1 ปี 6 เดือน, เข็มที่ 5 ให้ตอนอายุ 4-6 ปี และจะให้วัคซีนอีกครั้งตอนอายุ 10-12 ปี ซึ่งหลังจากนั้นควรได้รับวัคซีนกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี
  • ในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ แนะนำให้รับเป็นวัคซีนรวมที่มีโรคไอกรนรวมอยู่ด้วย โดยควรได้รับเมื่ออายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์
  • นอกจากนี้วิธีป้องกันอีกหนึ่งวิธีก็คือการให้วัคซีนกับผู้ใหญ่ที่อยู่ในบ้านที่มีเด็กเล็ก เพื่อป้องกันการเกิดโรคในผู้ใหญ่ที่จะแพร่เชื้อไปยังเบบี๋ได้

ขอบคุณข้อมูลจากคุณหมอแอน พญ.ปิยะรัตน์ เลิศบรรณพงษ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.