ในปัจจุบันมีโรคต่างๆ มากมายหลายชนิดที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ในเด็กเล็ก เรามาทำความรู้จักโรคยอดฮิตในเด็กเล็กที่พบได้บ่อยๆ ว่ามีโรคอะไรบ้าง และเราจะมีวิธีดูแลและป้องกันลูกน้อยจากโรคต่างๆ เหล่านี้กันได้อย่างไรกันค่ะ
1.ไข้หวัด ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมีหลายสายพันธุ์สามารถเป็นได้ตลอดทั้งปี
- อาการของไข้หวัด จะเริ่มจากมีอาการคัดจมูก น้ำมูกใสๆ จามบ่อย คอแห้ง เจ็บคอ เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดหัว ไอแห้งๆ หรือไอแบบมีเสมหะ แต่มีน้ำมูกหรือเสมหะนานเกิน 1สัปดาห์ น้ำมูกอาจเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือเขียว จากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้เกิดอาการ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบตามมาได้
- การป้องกันโรคหวัดในเด็กที่ดีที่สุดคือพยายามหลีกเลี่ยงที่ที่มีคนหนาแน่น, ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย รักษาสุขอนามัยหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
2. ไข้หวัดใหญ่
- เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีทั้งสายพันธุ์ A และ B สามารถติดต่อกันได้ง่าย ผ่านทางลมหายใจ ไอ จาม และยังสามารถติดต่อได้ทางละอองฝอยของน้ำมูกและน้ำลาย รวมทั้งจากมือของเด็กที่มีเชื้อโรค แล้วนำมือเข้าปากหรือป้ายจมูก
- อาการจะเริ่มจากมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดตามตัว อ่อนเพลีย และต่อมาจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ และอาจมีอาการของระบบอื่นๆ ได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตาแดง อาการที่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาคือ ลูกจะมีไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดหัว เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว อ่อนเพลียมาก และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น โรคปอดบวมได้
- การป้องกันคือ พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
3. หลอดลมอักเสบจากเชื้อ RSV เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ เมื่อติดเชื้อไวรัส RSV ในทางเดินหายใจส่วนล่างแล้ว ผู้ติดเชื้อร้อยละ 70 มักเกิดอาการปอดบวมและหลอดลมฝอยอักเสบ
- อาการของโรค RSV ในเด็กโต อาจมีอาการคล้ายเป็นหวัดธรรมดา คือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล อาจมีอาการเสียงแหบจากกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอแบบมีเสมหะร่วมด้วย ซึ่งจะหายได้ใน 5-7 วัน แต่ในเด็กเล็กจะมีอาการที่รุนแรงกว่า คือ จะมีอาการหอบ เหนื่อย หายใจลำบาก มีน้ำมูกเสมหะมากและเหนียว หรือหายใจมีเสียงวี้ดแบบหลอดลมฝอยอักเสบ เมื่อไอมากอาจมีอาการอาเจียน ซึม ตัวเขียว กินข้าว น้ำ นมไม่ได้ ในเด็กเล็กที่อ่อนแอมาก เช่น เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีโรคหัวใจ โรคปอด และหอบหืดอยู่แล้ว อาจมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว โดยอาจมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ หรือหายใจล้มเหลว จนต้องนำเข้าหอพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
- การป้องกัน พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ และโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
4. ไข้อีดำอีแดง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย group A streptococci โดยแพร่กระจายเชื้อผ่านทางน้ำลาย น้ำมูก โดยการไอ จาม
- อาการมักจะเริ่มด้วยการมีไข้/เจ็บคอ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดท้องตามมาได้ และจะมีผื่นเป็นตุ่มเล็กๆ สีแดงที่เริ่มจากบริเวณคอและขาหนีบ หลังจากนั้นจะกระจายไปทั่วตัว คลำแล้วผิวสากคล้ายกระดาษทราย กดแล้วจาง ลักษณะลิ้นเป็นฝ้าหนาขึ้น มีสีออกชมพูคล้ายผลสตรอเบอรี่ การรักษา คือ การรับประทานยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลินให้ครบ 10 วัน
- การป้องกัน พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
5. มือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสได้หลายชนิด เช่น Enterovirus และ Coxsackievirus สามารถติดต่อกันได้โดยง่ายจากการสัมผัส น้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ และน้ำในตุ่มพองของผู้ป่วยโดยเข้าทางปากโดยตรง หรืออาจจะติดมากับมือ ของเล่น การไอจาม การใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกัน
- อาการจะมีไข้สูง เจ็บคอ มีแผลเกิดขึ้นในปาก/ลิ้น เพดานปากและกระพุ้งแก้ม ทำให้เจ็บปากทานไม่ได้และงอแง มีผื่นบนฝ่ามือ/ฝ่าเท้า ในบางรายอาจพบที่ก้นด้วย โดยผื่นที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสและแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ บางครั้งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่โดยส่วนใหญ่โรคนี้ไม่มีความรุนแรงจะมีไข้ประมาณ 3 วัน และหายเป็นปกติภายใน 7-10 วันค่ะ
- การป้องกัน พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ รับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอและดื่มน้ำสะอาด โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
6. ท้องเสียจากเชื้อไวรัส เช่น Norovirus หรือ Rotavirus โรคนี้เกิดจากการที่มีเชื้อไวรัสเข้าปากลูกโดยตรงจากการสัมผัสกับผู้ป่วย
- อาการทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ปวดหัว มีไข้ หากมีอาการรุนแรงถ่ายเหลวมากๆ จะเกิดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ทำให้ช็อก อาจเสียชีวิตได้ การรักษาคือการให้สารน้ำทดแทนให้เพียงพอกับปริมาณที่ถ่ายเลว ทานอาหารอ่อนๆ
- การป้องกันคือ พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ รับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม และดื่มน้ำสะอาด ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส rota เพียงชนิดเดียว ซึ่งเริ่มให้ตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไปและไม่เกินอายุ 4 เดือนสำหรับโดสแรก
7. ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี (dengue virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ สามารถแพร่ได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ
- อาการของโรคคือ มีไข้สูงหลายวัน ปวดศีรษะ ซึม ปัสสาวะน้อย อาจมีอาการหวัด ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย จะมีไข้อยู่ประมาณ 4-5 วัน จากนั้นไข้จะลงและมีผื่นขึ้น ในบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนเลือดออกจากเกร็ดเลือดต่ำ หรือสูญเสียน้ำออกไปนอกหลอดเลือดทำให้เกิดอาการช็อกได้ ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถกำจัดเชื้อไข้เลือดออกได้
- การป้องกันไข้เลือดออกคือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด ลดปริมาณยุงลายโดยกำจัดแหล่งน้ำที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง ใช้มุ้งหรือติดตั้งมุ้งลวดกันยุง ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งแนะนำให้ฉีดในคนที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้วเท่านั้น สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบขึ้นไป
8. อีสุกอีใส เกิดจากเชื้อไวรัส ติดกันง่ายมาก โดยการสัมผัสคนที่กำลังป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส หรือทางการไอจาม
- อาการเริ่มแรกจะมีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว ทานข้าวน้อยลง และเริ่มมีตุ่มแดงขึ้นตามตัว แขนขา และขึ้นที่หน้า หลังจากนั้น ตุ่มแดงจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสขอบแดง และเมื่อใกล้หายจะเปลี่ยนเป็นตุ่มขาวๆ แล้วตกสะเก็ดและค่อยๆ หลุดออกไป เหลือรอยแผลเป็นดำๆ เด็กบางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ซึ่งเกิดจากการแกะเกาตุ่มทำให้เกิดแผลเป็นหนอง และเด็กเล็กที่มีภูมิต้านทานไม่ดี อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนทำให้มีอาการปอดบวม สมองอักเสบ เยื่อสมองอักเสบ ถึงขั้นเสียชีวิตได้
- การป้องกัน พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ และฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใสซึ่งสามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
9. โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่นที่กลับมาเจอมากขึ้นอีกครั้ง เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งพบได้ในจมูก และลำคอของผู้ป่วย ซึ่งติดต่อกันได้ง่ายมากโดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศเมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไปก็ทำให้เป็นโรคได้ ผู้ติดเชื้อจะเป็นโรคเกือบทุกราย โรคหัดเคยมีอุบัติการณ์ลดลงไปหลังมีการเริ่มฉีดวัคซีนแต่กลับมามีการระบาดใหม่อีกครั้งในหลายประเทศจากกลุ่มคนที่ต่อต้านวัคซีน ไม่ยอมรับวัคซีนโรคหัด
- อาการเริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ และกลัวแสง 1-2 วัน ก่อนผื่นขึ้นจะพบจุดขาวๆ เล็กๆ มีขอบสีแดงๆ อยู่ในกระพุ้งแก้ม เรียกว่า Koplik’s spots อาการต่างๆ จะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้น และจะสูงเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ของไข้ ลักษณะผื่นนูนแดง ติดกันเป็นปื้นๆ โดยจะขึ้นที่หน้า บริเวณชิดขอบผม แล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายไปทั่วตัว ซึ่งกินเวลาประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง ผื่นระยะแรกมีสีแดงจะมีสีเข้มขึ้น เป็นสีแดงคล้ำหรือน้ำตาลแดง ซึ่งคงอยู่นาน 5-6 วัน กว่าจะจางหายไปหมด กินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุยหลังจากนั้นได้
- การป้องกัน พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ และฉีดวัคซีนป้องกันหัดซึ่งสามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
บทความจาก พญ.ปิยะรัตน์ เลิศบรรณพงษ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
วันที่สร้าง 14/05/2019