นมแม่ สุดยอดอาหารของลูกน้อยจากธรรมชาติ

นมแม่ สุดยอดอาหารของลูกน้อยจากธรรมชาติ นมแม่ สุดยอดอาหารของลูกน้อยจากธรรมชาติ นมแม่ สุดยอดอาหารของลูกน้อยจากธรรมชาติ

          ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติและร่างกายมนุษย์ก็คือ เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ร่างกายจะเริ่มเตรียมพร้อมเพื่อการดูแลมนุษย์ตัวน้อยที่กำลังจะเกิดมา โดยจะมีการผลิตฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองเพื่อเข้าสู่กระบวนการสร้างน้ำนม ซึ่งส่งผลให้เต้านมของแม่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น เต้านม ลานนม และหัวนมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีอาการคัดหน้าอก รวมถึงอาจมีน้ำใสๆ ไหลออกมาจากหัวนม ซึ่งในแต่ละคนก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป

คู่หูฮอร์โมนที่สำคัญ

ฮอร์โมนที่ที่สำคัญต่อกระบวนการผลิตน้ำนมแม่นั้นมีอยู่ 2 ชนิด คือ โพรแลคติน และ ออกซีโทซิน ค่ะ

          เริ่มจาก โพรแลคติน ฮอร์โมน เป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างน้ำนม ซึ่งจะทำงานได้ดีเมื่อได้รับการดูดกระตุ้นที่เหมาะสม หากทารกมีการดูดนมแม่ทันทีและต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิด ฮอร์โมนโพรแลคตินก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างน้ำนมมากขึ้น แต่หากทารกไม่ได้ดูดนมแม่ หรือไม่ได้ดูดต่อเนื่องบ่อยๆ ฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะลดลงจนทำให้ต่อมใต้สมองไม่ผลิตโพรแลคตินออกมาอีก ส่งผลให้เต้านมของแม่ผลิตน้ำนมได้น้อยลง จนถึงหยุดการผลิตในที่สุด

          ออกซีโทซิน ฮอร์โมน (Bonding hormone) เป็นฮอร์โมนที่ได้ฉายาว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความรักความผูกพัน ทุกครั้งที่ทารกดูดนมแม่ สมองจะผลิตฮอร์โมนชนิดนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนจะช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเล็กๆ ที่อยู่รอบต่อมน้ำนมมีการบีบรัดท่อน้ำนม ทำให้น้ำนมไหลอย่างต่อเนื่องในขณะที่ทารกดูดนม ซึ่งภาวะเช่นนี้ก่อให้เกิดสายใยแห่งความรักความผูกพันระหว่างคุณแม่และลูกน้อยเพิ่มมากขึ้น

ลักษณะของนมแม่

  • น้ำนมเหลือง หรือโคลอสตรุ้ม (Colostrum) เป็นหัวน้ำนมที่ผลิตออกมาในช่วง 1-4 วันหลังคลอด มีลักษณะเป็นของเหลวสีค่อนข้างเหลืองอมส้ม มีปริมาณน้อย แต่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารสูงมาก สามารถช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของสมอง และช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายลูกให้แข็งแรง มีโปรตีน ธาตุเหล็ก และยังช่วยป้องกันเชื้อโรคในลำไส้ได้อีกด้วย
  • น้ำนมสีขาวขุ่น เมื่อหัวน้ำนมหมด น้ำนมแม่ในช่วง 5-14 วันจะมีลักษณะเป็นสีขาวขุ่น และข้น เพราะมีปริมาณของน้ำและไขมันสูงขึ้น
  • น้ำนมจริง หลังจากช่วง 10-14 วันเป็นต้นไป แม่และลูกเริ่มปรับตัวให้เข้ากันได้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงการดูดนมที่ถูกวิธี การดูดกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง และการปรับเวลาการกินและนอนของลูก ทำให้ร่างกายแม่ผลิตนมออกมาในปริมาณที่มากขึ้น และสม่ำเสมอขึ้น

สารอาหารในนมแม่

          สารอาหารในนมแม่ถือเป็นสารอาหารระดับพิเศษ Exclusive ที่หาได้ยากจากแหล่งอาหารชนิดอื่น แถมยังรวมคุณค่าหลากหลายอยู่ด้วยกันในหนึ่งเดียวครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสม ทั้งโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามินและแร่ธาตุ ไม่ว่าจะเป็น โปรตีนเวย์ หรือกรดอะมิโน“ทอรีน” ที่ช่วยในการสร้างสมองและจอตาของทารก  ซึ่งโปรตีนในนมแม่นี้มีคุณสมบัติที่ย่อยง่าย ทำให้ร่างกายดูดซึมไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ไขมันในนมแม่ยังให้พลังงานสูงมาก แต่ย่อยง่าย เหมาะกับทารกแรกเกิดที่กระเพาะอาหารยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ และกรดไขมัน linoleic และ linolenic ที่มีมากในนมแม่ยังมีผลดีต่อการเจริญเติบโตของสมองอีกด้วย ในนมแม่ยังเป็นแหล่งรวมของวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และ เหล็ก ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้สูงถึง 50-70 เปอร์เซ็นต์ ความพิเศษอีกอย่างก็คือวิตามินซีในนมแม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุเหล็กและสังกะสี (Zinc) ได้ดี ซึ่งทำให้สารอาหารถูกดูดซึมไปใช้ได้เต็มที่ แทนที่จะถูกขับถ่ายออกมาเสียเปล่า และที่สำคัญก็คือ ในนมแม่ยังมีฮอร์โมนและเอ็นไซม์ที่ดีต่อร่างกาย เช่น ไลเปส (lipase) ซึ่งช่วยให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อในระบบย่อยอาหารและช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย รวมทั้งฮอร์โมนชนิดต่างๆ ในนมแม่ก็ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญ กระตุ้นการเจริญเติบโตของสรีระร่างกายทั้งภายนอกและภายในค่ะ

 

การให้นมแม่แก่เด็กทารก 0-1 ปี

การให้นมแม่ในช่วงขวบปีแรกเป็นช่วงที่มีความพิเศษอย่างมาก เพราะมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงสูง ซึ่งสอดคล้องกับพัฒนาการและการเจริญเติบโตตามวัยของลูกน้อยค่ะ

ช่วงทารกแรกเกิด – 6 สัปดาห์

ในช่วงนี้ทารกมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอน ซึ่งการนอนนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตของทารกด้วย โดยในช่วงแรกทารกจะดูดนมเป็นเวลาสั้นๆ และระยะเวลาเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เมื่อมีการดูดกระตุ้นมากขึ้น นมแม่ก็จะเกิดอาการคัดตึงและผลิตน้ำนมออกมามากขึ้นไปด้วย เมื่อทารกแข็งแรงและน้ำนมแม่มีมากพอ การดูดนมจากเต้าแต่ละครั้งจะยาวนานประมาณ 30 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมพอดี

ทารกอายุ 6 เดือน 

หลังจากผ่านการให้นมแม่ล้วนที่อุดมด้วยสารอาหารมากมายมาราว 6 เดือน ทารกมักจะมีภูมิคุ้มกันที่ดี ร่างกายเติบโตแข็งแรง และมีแนวโน้มที่จะไม่แพ้อาหารง่าย จึงเป็นช่วงวัยที่ควรเริ่มต้นรับประทานอาหารเสริมและน้ำเพิ่มเติมจากนมแม่

ทารกอายุ 9 เดือน 

เป็นช่วงวัยที่ควรปรับให้ลูกได้รับอาหารเสริมอย่างน้อย 2 มื้อต่อวัน ควบคู่ไปกับการให้นมแม่

อายุ 1 ปี 

การดูดนมแม่ของลูกจะค่อยๆ ลดบทบาทลงไป และหันมารับสารอาหารจากอาหารมื้อหลักจนครบ 3 มื้อ เป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาร่างกายและจิตใจ ไปสู่ช่วงวัยที่เติบโตมากขึ้นอีกขั้น

                                       

นมแม่แน่ที่สุด

  • นมแม่เป็นนมที่เหมาะสมกับทารกตั้งแรกเกิด เพราะมีสารอาหารและภูมิต้านทานที่ช่วยให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรง ลดการเจ็บป่วย อีกทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยประหยัดเวลาในการชงนมหรือล้างขวดนม สามารถให้ลูกเข้าเต้าและดูดกลืนน้ำนมได้แทบจะทุกที่ทุกเวลา
  • นมแม่ที่อุดมด้วยสารอาหารครบถ้วนที่สุด คือ ช่วงหลังคลอดวันแรกๆ ที่จะมีน้ำนมเหลืองออกมาเรียกว่า โคลอสตรุ้ม (Colostrum) ซึ่งถือเป็นหัวน้ำนมชั้นยอดประกอบด้วยสารอาหาร พลังงาน โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ครบถ้วนในสัดส่วนที่พอดี และสร้างภูมิต้านทานต่อเนื่องจากในครรภ์ได้อีกด้วย
  • นมแม่เป็นสารอาหารและภูมิคุ้มกันชั้นเยี่ยมในช่วงแรกเกิดถึง 6 เดือนซึ่งเป็นช่วงสำคัญในการสร้างรากฐานและการเจริญเติบโตของสมองลูก ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกนี้ร่างกายของลูกยังพัฒนาไม่เต็มที่ ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง ระบบการย่อยและการดูดซึมยังพัฒนาไม่เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำย่อยแป้ง ไขมัน โปรตีน ฉะนั้น การได้รับประทานแต่นมแม่ล้วนจึงเหมาะสมกับสภาพร่างกายของลูกวัยนี้มากที่สุด
  • หลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้ทำการศึกษาวิจัยเป็นระยะเวลานานเกือบ 6 ปี จึงประกาศให้เด็กทารกดื่มนมแม่ล้วนเป็นเวลา 6 เดือน เพราะดีต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของลูกน้อย ด้วยสารอาหารสุดพิเศษที่หายากในอาหารชนิดอื่น อย่างเช่น กรดไขมันไม่อิ่มตัว DHA ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโตของสมอง และนมแม่ยังช่วยลดอัตราการเกิดท้องเสียและติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจในเด็กทารกได้ดีอีกด้วย

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.breastfeedingthai.com, http://www.thaibreastfeeding.com และ http://www.americanpregnancy.org

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.