เคล็ด (ไม่) ลับ ฉบับคุณหมอ กระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยวัย 0-6 เดือน

เคล็ด (ไม่) ลับ ฉบับคุณหมอ กระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยวัย 0-6 เดือน เคล็ด (ไม่) ลับ ฉบับคุณหมอ กระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยวัย 0-6 เดือน เคล็ด (ไม่) ลับ ฉบับคุณหมอ กระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยวัย 0-6 เดือน

ตั้งแต่วินาทีที่คุณแม่ได้ให้กำเนิดลูกน้อยออกมาสู่โลกใบใหญ่ใบนี้ ทุก ๆ วันที่ผ่านไป ลูกน้อยจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าอัศจรรย์อยู่ตลอดเวลา สมองน้อย ๆ จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่แรกเกิดที่เด็กส่วนใหญ่จะเอาแต่นอนและดื่มนม ก็จะค่อย ๆ เริ่มชันคอ พลิกตัว เริ่มยิ้มหัวเราะได้ในเวลาไม่นาน และการเลือกใช้ผ้าอ้อมให้เหมาะสมกับวัยก็มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของลูกน้อยไม่แพ้กัน

คุณหมอจึงมีเคล็ดลับสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สามารถนำไปใช้ในการกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยแต่ละช่วงวัยได้อย่างเหมาะสมมาฝากกันค่ะ

ช่วงแรกเกิด - 1 เดือน ช่วงนี้ลูกน้อยเพิ่งออกมาสู่โลกภายนอกได้ไม่นาน มักจะนอนเสียเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีตื่นลืมตาบ้างเป็นพัก ๆ เป็นช่วงที่ลูกน้อยตื่นทานนมบ่อย ๆ ทุก 3 ชั่วโมง ทั้งกลางวันและกลางคืน ลูกน้อยจะมองเห็นได้ในระยะใกล้ ๆ ไม่สามารถจ้องได้นาน ๆ บางครั้งก็อาจจะยิ้ม แต่เป็นยิ้มที่ไม่มีความหมาย และสื่อสารบอกความต้องการกับคุณพ่อคุณแม่ผ่านการร้องไห้

การส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อยช่วงแรกเกิด - 1 เดือน

  • ตอบสนองเมื่อลูกน้อยร้องไห้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้าง Basic trust ให้ลูกน้อย
  • ส่งเสริมเรื่องการทานนมให้อิ่มและนอนหลับให้ได้อย่างเพียงพอ
  • ฝึกการมองเห็น ด้วยการให้ลูกน้อยมองจ้องหน้าคุณพ่อคุณแม่ในระยะใกล้ ๆ
  • พูดคุยกับลูกด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล เพื่อช่วยกระตุ้นการได้ยินและสร้างความคุ้นเคย
     

เด็กช่วงอายุ 1 - 3 เดือน ช่วงนี้ลูกน้อยจะเริ่มตื่นและนอนเป็นเวลามากขึ้น จะเริ่มนอนหลับกลางคืนยาวขึ้นและนอนหลับช่วงกลางวันน้อยลง ในวัยนี้ลูกน้อยจะเริ่มมีพัฒนาการด้านการมองเห็นที่ดีขึ้น  สามารถมองเห็นได้ไกลและชัดเจน ลูกน้อยจึงเริ่มจ้องหน้าและยิ้มให้คุณพ่อคุณแม่ เริ่มควบคุมกล้ามเนื้อส่วนคอให้ชันขึ้นเองได้ เริ่มบังคับมือน้อย ๆ ให้เคลื่อนไหวได้ ควบคุมมือโดยเอาใส่ปากตัวเองและอมมือ ส่งเสียงอืออาเหมือนพูดคุย  และเริ่มยิ้มแบบมีความหมาย (Social smile)

การส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อยอายุ 1 - 3 เดือน

  • ฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ในช่วงกลางวันที่ลูกน้อยเริ่มตื่นมาเล่นมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจจะช่วยฝึกชันคอโดยการทำ Tummy time คือการจับให้ลูกน้อยนอนคว่ำเป็นช่วงสั้น ๆ เพื่อให้ลูกน้อยพยายามยกศีรษะขึ้นได้เอง หรืออุ้มพาเดินไปรอบ ๆ เพื่อให้ลูกน้อยได้ชูคอมองสิ่งต่าง ๆ
  • ช่วยกระตุ้นการมองเห็น ด้วยการแขวนโมบายหรือภาพที่มีสีตัดกัน เช่น ดำ แดง เหลือง หรือใช้ของเล่นที่มีสีสันขยับไปทางซ้ายและขวาเพื่อให้ลูกมองตาม หรือพยายามคว้าของเล่น เพื่อเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กและความสัมพันธ์ของมือและตา (Hand-Eye Coordination)
  • ฝึกพัฒนาการทางสังคม ด้วยการพูดคุย สบตา และยิ้มให้กับลูกน้อยบ่อย ๆ

เด็กช่วงอายุ 3 - 6 เดือน ช่วงนี้เป็นช่วงที่ลูกน้อยจะเริ่มมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่แข็งแรงขึ้น สามารถพลิกคว่ำและหงายไปมาได้ คืบไปข้างหน้าเองได้ หรืออาจนั่งโดยการช่วยพยุงได้ ส่วนกล้ามเนื้อมัดเล็กจะเริ่มจับของด้วยมือน้อย ๆ ทั้ง 2 ข้าง และเปลี่ยนมือไปมาได้ เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง ยิ้ม คุย หัวเราะลงลูกคอ ทำเสียงหลากหลายมากขึ้น ใช้ท่าทาง และส่งเสียงสื่อสารเมื่อต้องการความช่วยเหลือ
 

การส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อยอายุ 3 - 6 เดือน

  • ฝึกพลิกคว่ำหรือหงายบนพื้นที่เรียบ ไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป
  • ฝึกจับของด้วย 2 มือ เช่น หัดให้ถือขวดนม หรือถือของเล่น
  • ฝึกเล่นกับตัวเองในเงากระจก ลูกจะสามารถแยกตัวเองและเงาในกระจกได้
  • ฝึกเรียกชื่อให้ลูกหันตามเสียง

คุณพ่อคุณแม่จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาเพียง 6 เดือน ลูกน้อยมีการเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด การช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูกให้เหมาะสมตามช่วงวัยจะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดีสมวัย และยังช่วยเพิ่มความรักและความผูกพันระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยอีกด้วยค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณหมอแอน พญ.ปิยะรัตน์ เลิศบรรณพงษ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.