ดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลโรคท้องร่วง

ดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลโรคท้องร่วง ดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลโรคท้องร่วง ดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลโรคท้องร่วง

          การขับถ่ายบ่อยถือเป็นเรื่องปกติของทารก โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิดมักมีการขับถ่ายอุจจาระที่บ่อยกว่าปกติ ในช่วงแรกอาจบ่อยได้ถึง 8-10 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายทุกครั้งเมื่อดื่มนม เนื่องด้วยทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน จะยังควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ การขับถ่ายจึงเป็นไปโดยอัตโนมัติ เมื่อไรที่กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ตอนปลายเต็ม กล้ามเนื้อหูรูดจะเปิดออกทันที แต่เนื่องจากร่างกายของลูกน้อยในวัยนี้ยังมีภูมิต้านทานในร่างกายน้อย ติดเชื้อได้ง่าย ในบางครั้งจึงเกิดอาการขับถ่ายที่ไม่ปกติ ที่พบได้บ่อยในเด็กทารกคือ โรคท้องร่วง เพื่อไม่ให้เจ้าโรคนี้มาเยี่ยมเยือนลูกน้อย เรามาทำความรู้จักและป้องกันไว้ก่อนดีกว่าค่ะ

 

จะทราบได้อย่างไรว่าลูกท้องร่วง? 

          คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตการขับถ่ายของเจ้าตัวน้อยให้ดีค่ะ สำหรับเด็กแรกเกิดที่กินนมแม่อย่างเดียว อุจจาระจะมีลักษณะเนื้อเหลว หรือเนื้อปนน้ำ โดยจะถ่ายประมาณวันละ 8-10 ครั้ง หรืออาจอุจจาระทุกครั้งที่ดื่มนม ซึ่งเป็นภาวะปกติ ไม่ใช่อาการท้องเสียหรือท้องร่วง

          แต่ถ้าเมื่อใดที่ลักษณะอุจจาระของลูกเหลวเป็นน้ำ มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวรุนแรงกว่าปกติและมีมูกเลือดปน กรณีนี้ไม่ธรรมดาแล้วค่ะ ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน
 

ทำไมลูกถึงท้องร่วง? 

          สาเหตุของการขับถ่ายอุจจาระไม่ปกติ และนำไปสู่อาการท้องร่วงในเด็กนั้น เกิดได้จากการติดเชื้อ ซึ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ ติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และภาวะแพ้นมวัว โดยจะมีอาการให้สังเกต ดังนี้ค่ะ
 

  • อาการท้องร่วงจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

จะมีลักษณะเป็นมูก มีเลือดปน หรือมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวรุนแรง และอาจมีอาการป่วยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีอาการงอแงหรือซึมกว่าปกติ ไม่สบายตัว ท้องอืด เป็นไข้
 

  • อาการท้องร่วงจากการติดเชื้อไวรัส

โดยเฉพาะจาก “ไวรัสโรต้า (Rotavirus)” เชื้อยอดฮิตที่พบมากที่สุดในเด็ก จากผลการตรวจเชื้อพบว่าเด็กท้องร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าประมาณ 60-70% อาการเด่นคือ ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำปริมาณมาก มักพบร่วมกับภาวะขาดน้ำรุนแรง เริ่มแรกจะมีอาการไข้สูง อาเจียนใน 2-3 วันแรกก่อนมีอาการอุจจาระ บางรายอาจมีหวัดนำมาก่อน มักเกิดในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
 

  • อาการท้องร่วงจากภาวะแพ้นมวัว

มักมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือด ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ท้องอืด อาเจียน มีผื่นตามลำตัว โดยเฉพาะตามข้อพับและแก้ม น้ำหนักไม่ค่อยขึ้น โดยในปัจจุบัน เด็กๆ มีอาการท้องร่วง โดยมีสาเหตุมาจากการแพ้นมวัวมากขึ้นด้วยค่ะ
 

เมื่อลูกท้องร่วงจะรักษาอย่างไร?

          การรักษาอาการท้องร่วง ไม่มียารักษาโดยเฉพาะนะคะ จะอาศัยการรักษาตามอาการและการรักษาแบบประคับประคอง โดยคุณหมอจะดูอาการว่าลูกน้อยมีอาการจากสาเหตุใด

          หากเกิดภาวะขาดน้ำ คุณหมอจะให้น้ำตามปริมาณที่เหมาะสมกับอาการ โดยการให้น้ำทางปาก แต่ถ้ารับน้ำทางปากไม่ได้ เกิดอาการขาดน้ำปานกลางถึงขาดน้ำมาก จำเป็นต้องให้น้ำทางหลอดเลือดดำ รวมถึงให้ยาลดไข้เป็นระยะถ้ามีไข้ และให้ยาลดการอาเจียน

          หากลูกมีอาการท้องร่วงเมื่อดื่มนมทั่วไปที่มีแล็กโทส จะต้องเปลี่ยนให้ลูกดื่มนมที่ไม่มีแล็กโทสแทน และเมื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำแล้ว ให้เริ่มอาหารทางปากได้ทันทีโดยให้เป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย ควรให้ทีละน้อย แต่บ่อยๆ

          นอกจากนี้ คุณหมออาจพิจารณาการให้จุลินทรีย์ชีวภาพโพรไบโอติก (Probiotics) ได้แก่ แล็คโตแบซิลลัส จีจี (Lactobacillus GG) ซึ่งมีการศึกษาพบว่าช่วยลดระยะเวลาการนอนในโรงพยาบาลจากอาการท้องร่วงที่เกิดจากไวรัสโรต้าได้
 

ท้องร่วง กันไว้ดีกว่าแก้

          อาการท้องร่วงจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เกิดจากการได้รับเชื้อเข้าสู่ปากโดยตรง โดยเฉพาะหนูๆ ที่อยู่ในช่วงวัยนักสำรวจ หยิบจับอะไรก็จะเอาเข้าปาก จึงทำให้รับเชื้อได้ง่าย โดยเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก และอาจเกิดจากการไอจามรดกัน

          การระมัดระวังเรื่องความสะอาดจึงเป็นเกราะป้องกันให้ลูกพ้นจากอาการท้องร่วงได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลเรื่องความสะอาดสิ่งของต่างๆ ที่ลูกจะหยิบได้ หรือของเล่นที่ลูกชอบเล่น รวมถึงอุปกรณ์สำหรับเด็กต่างๆ ในเด็กเล็กที่ดื่มขวดนมก็ควรล้างขวดนมให้สะอาดและนำไปต้มหรือนึ่งทุกครั้ง ก่อนการนำมาใช้ใหม่

          นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการพาลูกไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ และห้างสรรพสินค้า คุณพ่อคุณแม่ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย เมื่อปฏิบัติได้ตามนี้ ก็จะช่วยป้องกันให้ลูกน้อยไม่ติดเชื้อและปลอดภัยจากอาการท้องร่วงได้สบายแล้วค่ะ

 

วัคซีนโรต้า ป้องกันอาการท้องร่วง

          เนื่องด้วยโรคท้องร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าในเด็กเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในวงการแพทย์จึงมีการผลิตวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคร้อยละ 74-85 ป้องกันความรุนแรงได้ร้อยละ 90-100 และมีความปลอดภัยสูงในการนำมาใช้

          การให้วัคซีนโรต้าสำหรับเด็กเล็กนั้น สามารถให้ได้ในเด็กอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไปที่สุขภาพปกติดี โดยการหยอดวัคซีนให้ 2-3 ครั้งแล้วแต่ชนิดของวัคซีน แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ซึ่งเด็กควรได้รับวัคซีนให้ครบก่อนอายุ 6 หรือ 8 เดือน ขึ้นกับชนิดของวัคซีน

          อย่างไรก็ดี วัคซีนทุกชนิดสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เด็กที่ได้รับวัคซีนโรต้าอาจมีไข้ เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว อาเจียนและงอแง แต่มีโอกาสน้อย และไม่พบว่าเกิดอาการข้างเคียงรุนแรง ทั้งนี้ แม้ลูกจะได้รับวัคซีนแล้ว แต่ก็อาจมีโอกาสเกิดท้องร่วงจากไวรัสโรต้าได้ เนื่องจากไม่มีวัคซีนชนิดใดป้องกันโรคได้ 100% แต่วัคซีนป้องกันโรค จะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานและลดความรุนแรงของโรคได้

          ดังนั้นสำหรับเด็กที่ได้รับวัคซีนครบ ถึงแม้จะติดเชื้อไวรัสนี้ก็มักมีอาการไม่รุนแรง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้วค่ะ จึงถือว่าเป็นวัคซีนทางเลือกที่จะช่วยป้องกันโรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้า และลดความรุนแรงของอาการจากหนักให้เป็นเบาได้ค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.momypedia.com และ http://www.vejthani.com

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.