สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ย่อมมีความกังวลกับอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับลูกแม้เพียงเล็กน้อย เพราะในช่วงแรกเกิด ร่างกายของทารกยังมีพัฒนาการไม่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะผิวหนังที่บอบบาง ระบบขับถ่าย และการย่อย ล้วนยังทำงานได้อย่างไม่เต็มที่ ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้นในทารกแรกเกิด
คุณพ่อคุณแม่จึงควรช่วยกันสังเกตอาการของลูก และให้การดูแลตามอาการอย่างถูกต้องตามหลัก เพื่อช่วยให้ลูกน้อยมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง โดยเรามีวิธีการเตรียมรับมืออาการของทารกแรกเกิดที่พบได้บ่อย ดังนี้ค่ะ
1. ตัวเหลือง
สาเหตุหลัก
- สำหรับเด็กส่วนมาก อาการตัวเหลืองเกิดจากระบบการทำงานของตับยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ส่วนใหญ่เมื่อลูกกินนมแม่อย่างสม่ำเสมอ อาการก็จะลดลงเรื่อยๆ เองค่ะ
ลักษณะ
- อาการตัวเหลืองในทารกหลังคลอด เป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อย คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นได้จากอาการเหลืองได้จากบริเวณใบหน้า ตาขาว ลำตัว
การดูแล
- ในช่วงแรกเกิด คุณแม่ควรให้ลูกได้ดูดนมแม่โดยเร็ว และให้ลูกได้ดูดนมเฉลี่ยวันละ 10-12 ครั้ง เพื่อช่วยให้ลำไส้ของลูกเคลื่อนตัวทำงานได้ดี และขับสารสีเหลืองหรือบิลิรูบิน (Billirubin) ออกไป
- แม้จะมีความเชื่อที่ว่าเด็กตัวเหลืองเกิดจากการกินน้ำน้อย แต่คำกล่าวนี้ ไม่เป็นจริงแต่อย่างใด จึงไม่จำเป็นต้องให้ทารกดื่มน้ำ แต่ให้ดื่มนมแม่ต่อไป เพราะว่าในนมแม่มีทั้งน้ำและสารอาหารครบถ้วนแล้วค่ะ
- อาการนี้ ส่วนใหญ่จะหายภายใน ไม่เกิน 2 อาทิตย์ ยกเว้นบางรายที่อาจจะเหลืองได้นานถึง 1-2 เดือน แต่ถ้าอาการเหลืองเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หรือพบว่ามีอุจจาระสีขาวซีดร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์ค่ะ เพราะเป็นไปได้ว่าสาเหตุอาจมาจากความผิดปกติอื่นๆ ซึ่งควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ
2. อุจจาระบ่อย
สาเหตุหลัก
- ทารกแรกเกิดที่ทานนมแม่จะมีการขับถ่ายบ่อยเป็นปกติค่ะ โดยเฉพาะเด็กที่กินนมแม่ จะขับถ่ายคล่องกว่าเด็กที่กินนมผง เนื่องจากนมแม่มีส่วนประกอบที่ทำให้ถ่ายง่ายอยู่หลายอย่าง เช่น เวย์โปรตีนที่ย่อยง่าย มีน้ำตาลแลคโตส (Lactose) และโอลิโกแซคคาไรด์ (Oligosaccharide) ซึ่งช่วยเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดดี เช่น เชื้อแลคโตเบซิลัส (Lactobacillus) นอกจากนั้นยังมีฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งช่วยให้ลำไส้เคลื่อนตัวเร็ว เป็นสาเหตุที่ช่วยให้ลูกขับถ่ายง่ายและมีอุจจาระนิ่ม ซึ่งอาการเช่นนี้ไม่ใช่อาการท้องเสียแต่อย่างใด
ลักษณะ
- เด็กแรกเกิดมักมีการขับถ่ายอุจจาระที่บ่อยกว่าปกติ ในช่วงแรกอาจบ่อยได้ถึง 8-10 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายทุกครั้งเมื่อดื่มนม ลักษณะอุจจาระเป็นเนื้อเหลว หรือเนื้อปนน้ำ โดยเฉพาะในเด็กที่ทานนมแม่ และสีอุจจาระมักจะเป็นสีเหลืองทอง
การดูแล
- ปริมาณการถ่ายอุจจาระของลูกจะค่อยๆ ลดลง และถ่ายห่างขึ้นเรื่อยๆ จนเหลือ 1-2 ครั้งต่อวัน ตอนช่วงอายุประมาณ 1-2 เดือนค่ะ
- ในช่วงอาทิตย์แรกของลูก ปริมาณการถ่ายอุจจาระถือเป็นหนึ่งในอาการที่บอกว่าลูกทานนมได้เพียงพอหรือไม่ ถ้าทานนมได้เพียงพอก็จะถ่ายอุจจาระบ่อย 4-5 ครั้งต่อวันขึ้นไป
- เพื่อป้องกันผื่นผ้าอ้อม ในช่วงแรกคลอดที่ลูกถ่ายบ่อย คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมและทำความสะอาดให้ลูกทุกครั้งหลังการถ่ายอุจจาระ เพื่อไม่ให้ผิวบอบบางของลูกน้อยเกิดอาการระคายเคือง
3. ผื่นตามร่างกาย
สาเหตุหลัก
- เนื่องจากผิวของเด็กทารกแรกเกิดมีลักษณะบอบบาง ระคายเคืองได้ง่าย ด้วยเซลล์ผิวหนังแท้และหนังกำพร้ายังไม่ยืดหยุ่น แข็งแรง จึงไวต่อสิ่งที่มากระทบอย่างมาก เป็นเหตุทำให้อาการผดผื่นคัน ได้ง่ายค่ะ
ลักษณะและการดูแล
- มีผื่นหลายชนิดที่เกิดขึ้นเป็นปกติในเด็กแรกเกิด เช่น
ผื่นแดงที่มีตุ่มน้ำเล็กๆ ตรงกลาง (Erythema Toxicum)
มักเกิดตอนช่วง 2-3 วันแรก เป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว ไม่เป็นอันตรายและสามารถจางหายไปได้เองในเวลาไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องใช้ยาใดๆ ค่ะ
ผดร้อน (Miliaria Rubra)
มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสๆ เล็กๆ มักขึ้นบริเวณหน้าผาก หนังศีรษะ เมื่อขึ้นแล้วก็จะค่อยๆ ลอกเป็นแผ่นเล็กๆ ออกไปได้เอง โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันไม่ให้ลูกเกิดผดร้อน โดยให้ลูกใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ให้ลูกอยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเท ไม่ร้อนอบอ้าว เพราะยิ่งเหงื่อออกมาก ก็มีโอกาสเกิดผดได้ง่าย
ต่อมไขมันอักเสบ (Seborrheic Dermatitis)
หรือที่เรียกย่อๆ กันว่า “โรคเซ็บเดิร์ม” มีลักษณะเป็นตุ่มแดงร่วมกับเกล็ดสีเหลืองๆ ตามหนังศีรษะ คิ้ว หรือบริเวณที่มีการทำงานของต่อมไขมันมาก ผื่นอาจมากขึ้นช่วง 1-2 เดือนแรกแล้วค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อมีอาการควรให้แพทย์วินิจฉัย เพื่อการดูแลที่เหมาะสมค่ะ
ผื่นผ้าอ้อม (Diaper dermatitis)
เกิดจากอาการระคายเคืองหรือแพ้ผิวสัมผัส เมื่อปล่อยให้ลูกใส่ผ้าอ้อมที่เปียกปัสสาวะหรืออุจจาระนานเกินไป แต่ไม่ต้องเป็นห่วงไปค่ะ เพราะผื่นผ้าอ้อมสามารถป้องกันได้ไม่ยาก โดยคุณพ่อคุณแม่ควรเลือกใช้ผ้าอ้อมที่มีผิวสัมผัสอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ เหมาะสำหรับเด็กแรกเกิด และสามารถดูดซึมของเหลวได้ดี จะช่วยลดอาการอับชื้น ร่วมกับการเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูปทุกครั้งที่ลูกถ่ายอุจจาระหรือทุกๆ 2-3 ชั่วโมง และทาครีมกันผื่นผ้าอ้อมทุกครั้ง เพียงเท่านี้ก็ช่วยปกป้องผิวที่บอบบางของลูกน้อยจากผื่นผ้าอ้อมได้แล้วค่ะ
4. หายใจแรง หรือมีเสียงครืดคราด
สาเหตุหลัก
- ทารกแรกเกิดมักหายใจแรง หรือมีเสียงครืดคราด สืบเนื่องมาจาก ช่องลมของลูกยังเล็กอยู่ นอกจากนี้กระดูกอ่อนของหลอดลม ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแรงของท่อหลอดลมให้ไม่แฟบแบนขณะมีลมหายใจผ่านเข้าออก ก็ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เมื่อท่อหลอดลมแฟบก็ทำให้เกิดเสียงครืดคราดในลำคอได้ค่ะ
ลักษณะ
- บางครั้งลูกน้อยอาจมีอาการหายใจเร็วและแรงเป็นช่วงๆ สลับกับช่วงที่มีการหายใจเป็นปกติ โดยเฉพาะเวลานอนหลับ และลูกน้อยก็มีท่าทีหลับสบาย ไม่ได้แสดงอาการหายใจลำบากแต่อย่างใด การหายใจลักษณะนี้ถือเป็นอาการปกติของลูกน้อยช่วงแรกเกิด ไม่ได้เป็นอันตรายและสามารถหายได้เองค่ะ
การดูแล
- นอกจากนี้ ในบางกรณี เสียงหายใจครืดคราด อาจเกิดจากน้ำมูก หรือนมที่ขย้อนขึ้นมา มาขวางข้างในรูจมูก ถ้าใช้น้ำเกลือหยอดล้างจมูก เสียงครืดคราดก็จะหายไปได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณหมอแอน - พญ. ปิยะรัตน์ เลิศบรรณพงษ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท และ เว็บไซต์ และ เว็บไซต์ http://www.thaibreastfeeding.org, http://www.medicarezine.com, http://www.rakluke.com
วันที่สร้าง 28/12/2016