8 เคล็ดลับพัฒนาสมองเจ้าตัวน้อยในช่วงขวบปีแรก

8 เคล็ดลับพัฒนาสมองเจ้าตัวน้อยในช่วงขวบปีแรก 8 เคล็ดลับพัฒนาสมองเจ้าตัวน้อยในช่วงขวบปีแรก 8 เคล็ดลับพัฒนาสมองเจ้าตัวน้อยในช่วงขวบปีแรก

          ในช่วงขวบปีแรก นับตั้งแต่วินาทีที่ลูกน้อยลืมตาดูโลก ถือเป็นระยะเวลาอันสำคัญ ในการเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองให้เจ้าตัวเล็กเติบโตเป็นเด็กที่ฉลาด มีพัฒนาการที่ดีได้ตั้งแต่แรกเริ่มได้เลยค่ะ

          สำหรับสมองของทารกหลังคลอดนั้น จะมีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ประกอบด้วยเซลล์สมองนับ 100 ล้านล้านเซลล์ โดยจะไม่เพิ่มจำนวนอีก แต่จะมีการแตกแขนงประสาทเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว เติบโตขยายเครือข่ายเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเคลื่อนไหวของร่างกาย ควบคุมการเจริญเติบโต การใช้ประสาทสัมผัสปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้าง เรียนรู้และจดจำสิ่งต่างๆ จนกระทั่งลูกมีอายุ 2 ขวบ การพัฒนาของสมองก็จะลดลง

          จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ช่วงขวบปีแรก คือเวลาทองของการเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองให้แก่ลูกน้อย และคนสำคัญที่สุดที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยได้ ก็คือคุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ ดังนั้น เรามารู้จักเคล็ดลับง่ายๆ ในการเลี้ยงดูเพื่อส่งเสริมให้ลูกเป็นเด็กฉลาดทั้งทางด้านอารมณ์และสติปัญญากันนะคะ

             1. นมแม่ คืออาหารที่ดีที่สุดของลูก

จากการวิจัยพบว่า สารที่ปรับการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทและสมองให้สมบูรณ์ รวมถึงฮอร์โมนซึ่งใช้ในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกายและสมองของลูกน้อย สามารถพบได้ในนมแม่เท่านั้น อย่างที่ไม่สามารถมีนมชนิดใดมาแทนที่ได้เลย

ไม่เพียงแต่สารอาหารเปี่ยมคุณค่าที่ลูกจะได้รับ ขณะคุณแม่ให้นมลูก ยังเป็นเวลาที่เจ้าตัวน้อยจะได้รับความอบอุ่นมั่นคงจากอ้อมกอดของคุณแม่ และเป็นเวลาที่ลูกน้อยได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า จากการสบตากับคุณแม่ ได้รสชาติของนม ได้กลิ่น ได้ยินเสียง และได้สัมผัสอันนุ่มนวลของคุณแม่อย่างเต็มที่

การให้นมแม่ จึงช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านต่างๆ ให้ลูกน้อยเติบโตอย่างสมบูรณ์ทั้งร่างกายและสมอง มีสุขภาพจิตที่ดี ฉลาดทั้งด้านอารมณ์และสติปัญญา เพราะได้สารอาหารครบถ้วน ทั้งยังได้อยู่ใกล้ชิดคุณแม่ ดังนั้น เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย คุณแม่จึงควรให้นมลูกตั้งแต่แรกเกิด – 6 เดือนเป็นอย่างน้อยค่ะ

              2. เข้าใจในเสียงร้อง

ในช่วงขวบปีแรกถือเป็นวัยอ้อแอ้ที่เจ้าตัวน้อยยังไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูดได้ การร้องไห้จึงเป็นวิธีแสดงออกความต้องการของลูกให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบค่ะ ซึ่งเด็กแต่ละคนก็มีวิธีที่ใช้ในการสื่อสารไม่เหมือนกัน คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตว่า จากการร้องแต่ละครั้งนั้น ลูกต้องการอะไร

การร้องไห้ของลูก อาจจะสื่อได้ทั้ง ความหิว ความเหนื่อย เรียกร้องความสนใจ รู้สึกเจ็บปวด หรือเตือนว่ากำลังรู้สึกไม่สบายตัว รวมถึงร้องไห้เพราะกำลังป่วย ซึ่งจะมีเสียงร้องผิดแผดไปจากปกติค่อนข้างชัดเจน

เมื่อลูกร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรตอบสนองในสิ่งที่ลูกต้องการให้ถูกต้อง เมื่อเข้าใจว่าลูกต้องการอะไร ก็จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ (basic trust) ให้กับลูกได้ ซึ่งการตอบสนองความต้องการของลูกอย่างเหมาะสมนี้ ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยให้กับลูกนั่นเองค่ะ  

              3. กอดและอุ้ม

ทารกแรกเกิดมักจะมีอาการผวาบ่อยๆ จากปฏิกิริยาโมโร หรือ Moro Reflex ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่แสดงให้เห็นพัฒนาการที่สมบูรณ์ของทารก โดยจะค่อยๆ ลดลงเมื่อลูกมีอายุ 3 เดือนขึ้นไป

แต่เนื่องจากปฏิกิริยาตอบสนองนี้ ทำให้ลูกสะดุ้งตกใจบ่อย สังเกตได้ว่า เวลาวางก็จะผวาร้องไห้ทันที แต่พออุ้มกอดก็จะสงบนิ่ง ในช่วงนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถอุ้มลูกได้เต็มที่เท่าที่ลูกน้อยต้องการ โดยไม่ต้องกลัวลูกจะติดมือเลยค่ะ โดยเฉพาะเด็กที่ผวาตกใจง่าย ก็ยิ่งต้องการการกอดและอุ้มบ่อยๆ

อาการนี้จะหายไปเมื่อลูกมีอายุ 5-6 เดือน ลูกจะต้องการการโอบกอดลดลง และเริ่มเล่นได้ด้วยตัวเองมากขึ้น แต่ถึงแม้ลูกจะไม่มีอาการผวาแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรหมั่นกอดลูกอย่างสม่ำเสมอนะคะ เพราะนอกจากเป็นการแสดงความรัก การกอดยังช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส ทำให้ลูกน้อยได้รับรู้ถึงความอบอุ่นและรู้สึกมั่นคงได้อีกด้วยค่ะ  

              4. สร้างวินัยแต่เนิ่นๆ

สำหรับเด็กขวบปีแรกนั้น แม้เราจะยังไม่สามารถสอนหรือสื่อสารกับลูกน้อยโดยผ่านคำพูด แต่การฝึกและสร้างนิสัยให้ลูกน้อยสามารถทำได้และควรทำในขวบปีแรกค่ะ เพราะถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มปลูกฝังความมีวินัยให้ลูกตั้งแต่เริ่มต้น สำหรับการสร้างวินัยในช่วงวัยนี้ คือ การฝึกให้ลูกทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา ไม่ว่าจะเป็น การกิน หรือ การนอน

แม้เด็กแรกเกิดช่วง 1 เดือนแรก ยังกินนอนไม่ค่อยเป็นเวลา และต้องตื่นมากินนมแทบทุก 3 ชั่วโมง แต่หลังจากนั้น ลูกจะเริ่มหลับกลางคืนได้นานขึ้น และกินนมเป็นรอบชัดเจนขึ้น จนเมื่อลูกมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ก็สามารถฝึกให้ลูกนอนเป็นเวลาและหลับยาวตลอดคืนได้แล้วค่ะ

สำหรับการกินของเจ้าตัวน้อย เมื่อย่างเข้าสู่วัย 4-5 เดือน คุณแม่ก็ควรป้อนนมให้เป็นเวลา และงดนมมื้อดึก เตรียมตัวลูกให้พร้อมสำหรับเข้านอนเป็นกิจวัตร ไม่ควรให้ลูกกินนมพร่ำเพรื่อนะคะ เพราะนอกจากจะทำให้คุณแม่เหนื่อยล้าแล้ว ลูกอาจจะกลายเป็นเด็กติดเต้า และไม่สนใจที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ ได้อีกด้วย

              5. เล่นกับลูก

การเล่นเป็นกิจกรรมที่สามารถช่วยพัฒนาระบบประสาทและสมอง รวมทั้งสร้างเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ ให้ลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณพ่อคุณแม่จึงควรใส่ใจใน “การเล่น” ของลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาการรอบด้านของลูกค่ะ

การเล่นที่ดีควรเหมาะกับพัฒนาการของลูกน้อยในแต่ละวัย คุณพ่อคุณแม่สามารถหาของเล่นที่ช่วยฝึกให้ลูกได้ใช้มือสำหรับหยิบจับ โดยอาจจะหาสิ่งของที่มีผิวสัมผัสต่างกัน มีสีสันกระตุ้นการมอง มีเสียงเพื่อกระตุ้นการฟัง เน้นความหลากหลายประเภทเพื่อให้ลูกได้ฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อและประสาทหลายๆ ส่วนค่ะ

แต่ไม่ว่าจะมีของเล่นเยอะแค่ไหน เพื่อนเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูกก็คือคุณพ่อคุณแม่นี่เอง รับรองว่าลูกจะสนุกและตั้งใจเรียนรู้มากขึ้น เมื่อมีคุณพ่อคุณแม่มาเล่นด้วย ช่วยชี้แนะ แนะนำการแก้ไขปัญหาต่างๆให้ลูกผ่านการเล่นได้ เมื่อลูกมีความสนใจ ก็จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองเพื่อการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพได้ค่ะ

              6. อ่านหนังสือ

หากคุณพ่อคุณแม่ อยากให้ลูกโตมาเป็นเด็กรักการอ่าน มีทักษะทางภาษาคล่องแคล่ว ก็ควรให้ลูกได้ใช้เวลาอยู่กับหนังสือตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งการอ่านหนังสือให้ลูกฟังนั้น เป็นกิจกรรมที่ให้ประโยชน์หลายอย่างในเวลาเดียวกัน อาทิ ช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษา ฝึกความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ช่วยให้ลูกเป็นเด็กช่างสังเกตต่อสิ่งต่างๆ ทั้งยังช่วยให้ลูกมีสมาธิที่ดีขึ้นได้อีกด้วย

การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง มีความสำคัญเทียบเท่ากับการพูดคุยกับลูกเลยค่ะ เพราะการอ่านจะมีโครงสร้างของรูปประโยคต่างๆ ที่เราใช้ในการสื่อสาร โดยจะช่วยให้ลูกรู้จักสังเกตและเรียนรู้การใช้ภาษาที่มีรูปแบบถูกต้อง พัฒนาการนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อคุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังอย่างสม่ำเสมอนะคะ เพราะการพัฒนาสมองไม่สามารถเกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่ต้องอาศัยการสั่งสม ซึ่งการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ตั้งแต่เจ้าตัวเล็กอยู่ในครรภ์ 4-5 เดือน และต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ได้เลยค่ะ

นอกจากนี้ ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือกับลูก ยังถือเป็นช่วงเวลาคุณภาพ (Quality time) ที่สร้างความใกล้ชิด กระชับความสัมพันธ์ครอบครัว และช่วยให้ลูกคุ้นเคยกับหนังสือมากขึ้น ทั้งนี้ ประสบการณ์การอ่านหนังสือด้วยกัน หรือการเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอน ยังช่วยสร้างความทรงจำดีๆ ที่จะติดตัวลูกไปจนโตอีกด้วยค่ะ

             7. งดใช้หน้าจอ

แม้ปัจจุบันจะมีการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูก แต่ผลเสียจากการใช้หน้าจอเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงไม่แพ้กันเลยค่ะ หลายงานวิจัย พบผลกระทบทางด้านอารมณ์ของเด็กจากการใช้อุปกรณ์หน้าจอเป็นเวลานาน ส่งผลให้เด็กฉุนเฉียวง่าย ขาดความอดทน ไม่สามารถสนใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

ในปัจจุบัน ทางการแพทย์จึงแนะนำว่า ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เล่นอุปกรณ์หน้าจอทุกชนิด ในทางกลับกัน คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยส่งเสริมให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย พัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ส่งเสริมให้ลูกได้เจอสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย สนับสนุนการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ฝึกการเข้าสังคม เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัย

นอกจากนี้ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกติดหน้าจอ ก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก เพราะโดยส่วนมาก ลูกมักจะเลียนแบบพฤติกรรมจากสิ่งที่เขาเห็น ซึมซับสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำและทำตาม การปรับพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ จึงไม่สามารถบังคับที่ตัวเด็กได้เพียงอย่างเดียว คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องพร้อมปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกันค่ะ

    8. ออกกำลังกาย

ในช่วงขวบปีแรก ลูกน้อยจะมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างรวดเร็ว การพาลูกไปออกกำลังกาย ทำกิจกรรมกลางแจ้ง จะยิ่งช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว และได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อและระบบประสาทส่วนต่างๆ ได้อย่างดี

ยิ่งในวัยนี้ เป็นช่วงที่ลูกน้อยกำลังเรียนรู้ การทรงตัว ท่าทางการนั่ง การยืน การเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง การประสานงานระหว่างมือ ตา เท้า รวมไปถึงการกะระยะ ซึ่งการส่งเสริมให้ลูกออกกำลังกายตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรง มีทักษะทางร่างกายที่ดี มีความมั่นใจในการทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น และยังส่งผลดีต่ออารมณ์ ให้ลูกเป็นเด็กแจ่มใส ร่าเริง อารมณ์ดีอีกด้วยค่ะ

ในช่วงขวบปีแรก ลูกยังอาจทรงตัวไม่ดีนัก อาจล้มบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ช่วยเหลือได้ คือการตรวจตราบริเวณที่ลูกเล่น ให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งที่เป็นอันตราย คอยระวังอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ การเลือกผ้าอ้อมที่ฟิตกระชับพอดีตัว ก็จะช่วยให้ลูกเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว เรียนรู้ได้อย่างไม่สะดุดอีกด้วยค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.rakluke.com, http://www.doctor.or.th และนิตยสารบันทึกคุณแม่

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.