แม้จะได้ชื่อว่า “ผื่นผ้าอ้อม” เเต่เเท้จริงเเล้ว ผื่นผ้าอ้อมไม่ได้เกิดจากตัวผ้าอ้อมโดยตรงนะคะ แต่เป็นผื่นที่เกิดขึ้นในบริเวณที่สวมใส่ผ้าอ้อม ซึ่งการระคายเคืองนั้นเกิดจากการแพ้สารสัมผัส หรือหากปล่อยให้ผิวของลูกสัมผัสกับผ้าอ้อมที่เปียกปัสสาวะหรืออุจจาระนานเกินไป จึงก่อให้เกิดผื่นแดงขึ้น ซึ่งไม่ว่าลูกจะใส่ผ้าอ้อมผ้าสาลู หรือผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็สามารถเกิดผื่นผ้าอ้อมได้เช่นกันค่ะ แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ ผื่นผ้าอ้อมถือเป็นเรื่องปกติ โดยเด็กเล็กในช่วงอายุ 3-18 เดือนเป็นกันมากกว่าครึ่งเลยทีเดียว ขอเพียงเราทำความเข้าใจถึงสาเหตุ วิธีป้องกันและรักษาที่ถูกต้อง ก็จะสามารถดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลจากผื่นผ้าอ้อมได้ค่ะ
อาการผื่นผ้าอ้อมเป็นอย่างไร?
สังเกตได้จากผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับผ้าอ้อมเกิดเป็นผื่นแดง โดยมักเกิดบริเวณขาอ่อนด้านใน บริเวณซอกเนื้อ ข้อพับ ขาหนีบ บางครั้งอาจเกิดผื่นขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ รวมทั้งรอบบริเวณที่สัมผัสกับผ้าอ้อมด้วย ซึ่งหากปล่อยไว้นาน อาจมีการติดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนจนอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดผื่นผ้าอ้อมแล้ว จะทำให้ลูกน้อยมีอาการเจ็บ งอแง ไม่สบายตัว และปัสสาวะลำบากได้ค่ะ
ทำไมจึงเกิดผื่นผ้าอ้อม?
สาเหตุของผื่นผ้าอ้อมที่เกิดจากสารสัมผัสมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน เนื่องจากทารกมีผิวบอบบาง บางครั้งแค่เพียงผิวหนังเกิดการเสียดสีกับผ้าอ้อม เพราะใส่ผ้าอ้อมแน่นเกินไป ก็ทำให้เกิดการระคายเคืองและเกิดผื่นคันได้เช่นเดียวกัน หรือในบางครั้ง เมื่อลูกมีผื่นแดงขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าสาเหตุของการระคายเคืองอาจมาจากสารสัมผัสใน สบู่เหลว แป้ง หรือ ทิชชู่เปียก ที่ลูกใช้อยู่ คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตอาการของลูก ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์หรือลองใช้สินค้าใหม่ๆ
แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ “ความเปียกชื้น” จากการที่ผิวหนังในบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมสัมผัสกับปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเวลานาน หนังกำพร้าจะเปื่อย เมื่อมีการเสียดสีกับผ้าอ้อม ทำให้มีรอยแดงหรือผิวถลอก นอกจากนี้โดยปกติผิวหนังคนเราจะมีภาวะความเป็นกรด ซึ่งจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แต่เมื่อ “สภาพความเป็นกรดถูกทำให้เป็นด่าง” ด้วยสารแอมโมเนียจากปัสสาวะ จะทำให้ผิวหนังติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ยิ่งเมื่อผสมกับอุจจาระของทารกด้วยแล้ว ซึ่งในอุจจาระแค่ 1 มิลลิกรัมก็มีเชื้อโรคนับล้านตัว
ดังนั้นถ้ามีอุจจาระปนเปื้อนผิวหนังที่เปียกชื้น เชื้อโรคจะเจริญเติบโตได้ดี เพราะแอมโมเนียยังเป็นสารอาหารของแบคทีเรียด้วย จึงยิ่งเสริมให้เชื้อโรคเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในระยะแรกที่เริ่มเป็นผื่นอาจเกิดจากการระคายเคือง เเต่เมื่อปล่อยไว้นานจนภูมิต้านทานผิวลดลง ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อ ทั้งจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียในบริเวณนี้ได้ง่ายขึ้นค่ะ
จะป้องกันและดูแลผื่นผ้าอ้อมได้อย่างไร?
หลักการดูแลผื่นผ้าอ้อมที่ดีที่สุดคือควรป้องกันไม่ให้เกิดผื่น ดีกว่าปล่อยให้เกิดผื่นขึ้นแล้วจึงให้การรักษานะคะ การป้องกันสามารถทำได้โดยดูแลผิวหนังบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมอย่างถูกต้อง ดังนี้ค่ะ
- เปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูปทุก 2-3 ชั่วโมง หรือทุกครั้งที่ลูกถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ โดยเฉพาะในกรณีที่ลูกมีผื่นแพ้ผ้าอ้อมอยู่แล้ว ถ้าเด็กถ่ายอุจจาระต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมทันที
- ทำความสะอาดทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูป โดยใช้น้ำสะอาดชำระปัสสาวะ อาจใช้สบู่อ่อนของเด็กที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนใกล้เคียงผิวหนังล้างเฉพาะบริเวณที่เปื้อนอุจจาระ หลังจากนั้นใช้น้ำล้างสบู่ออกให้หมด แล้วซับเบาๆ ด้วยผ้าให้แห้ง อย่าใช้ผ้าถูนะคะ เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้
- ใช้ผลิตภัณฑ์เคลือบผิวทาบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม อาทิ ครีมหรือ Ointment ที่มี Zinc Oxide หรือ Petrolatum (วาสลีน) หรือ dimethicone เพื่อเคลือบปกป้องผิวไม่ให้เกิดการระคายเคือง ป้องกันไม่ให้ผิวหนังสัมผัสกับสารเคมี ความชื้นและช่วยลดลดการเสียดสี ซึ่งการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เคลือบผิวหนังที่เหมาะสมกับลูกจะช่วยลดผื่นบริเวณนี้ได้ค่ะ
- เลือกผ้าอ้อมที่เหมาะกับสภาพผิวและขนาดตัวลูก มีส่วนสำคัญอย่างมากในการป้องกันการเกิดผื่น และการระคายเคือง
ดังนั้นควรเลือกใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่สามารถดูดซับของเหลว และระบายความชื้นได้ดี โดยผิวสัมผัสด้านในผ้าอ้อมสำเร็จรูป ยังคงแห้งอยู่เสมอ ด้วยวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปในปัจจุบัน มีความสามารถในการดูดซับของเหลวได้มาก และสามารถระบายอากาศได้ดีอีกด้วย ทำให้ผิวลูกน้อยแห้งสบาย ทั้งนี้ควรเลือกขนาดผ้าอ้อมให้พอดีกระชับกับตัวเด็ก ถ้าขนาดเล็กไปจะทำให้เกิดการเสียดสีตามบริเวณขอบยางยืดจนผิวระคายเคือง แต่ถ้าขนาดใหญ่ไปก็จะไม่กระชับ อาจทำให้สิ่งขับถ่ายรั่วออกไปปนเปื้อนภายนอกได้ค่ะ นอกจากนี้ ถ้าหากลูกเกิดผื่นผ้าอ้อม บางครั้งอาจ เป็นการแพ้หรือการระคายเคืองส่วนบุคคล หากเป็นเช่นนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ - หลีกเลี่ยงการใช้แป้งเด็ก ไม่ควรทาบริเวณขาหนีบและอวัยวะเพศของลูก เพราะแป้งจะจับกับเหงื่อที่ออกในบริเวณนั้นกลายเป็นคราบหรือก้อนแป้ง ทำให้ผิวชื้นแฉะตลอดเวลา สามารถเกิดอาการระคายเคืองและเป็นผื่นผ้าอ้อมง่ายขึ้น
- ให้ผิวหนังได้สัมผัสอากาศบ้าง โดยลดการใส่ผ้าอ้อมลงมากขึ้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือหลังจากที่ลูกขับถ่ายใหม่ๆ เพราะจะยังไม่ถ่ายอีกในทันที ผิวลูกจะได้แห้ง ไม่เปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะถ้าลูกเป็นผื่นผ้าอ้อม จะต้องลดเวลาการใส่ผ้าอ้อมลงอีก และดูแลผิวลูกให้ดีขึ้น จนกระทั่งลูกไม่มีปัญหาผื่นผ้าอ้อมนะคะ
- ใส่ผ้าอ้อมให้หลวมหน่อย อย่าใส่ผ้าอ้อมให้แน่นจนเกินไป การสวมเสื้อผ้าและผ้าอ้อมให้ทารก ควรให้มีช่องว่างหลวมๆ ให้อากาศระบายได้ และควรหลีกเลี่ยงผ้าที่แนบติดตัว เพื่อป้องกันความอับชื้นค่ะ
- หลีกเลี่ยงสารเคมีที่ลูกอาจระคายเคือง ไม่ควรซักผ้าของลูกด้วยผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่ผสมน้ำหอมและน้ำยาปรับผ้านุ่มเพราะอาจทำให้ผิวของลูกน้อยระคายเคืองได้ แม้แต่ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กบางยี่ห้อ ก็อาจทำให้ลูกน้อยเกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน จึงควรศึกษาส่วนประกอบให้แน่ใจว่าปลอดภัย ไม่มีสารที่ลูกแพ้ แล้วค่อยตัดสินใจใช้นะคะ
- ให้ทารกกินนมแม่ให้นานที่สุด เพราะนมแม่มีส่วนช่วยลดค่าความเป็นด่างในอุจจาระได้ ทำให้มีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การให้ลูกกินนมแม่ยังช่วยกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันต้านทานการติดเชื้อ ทำให้ลูกมีโอกาสใช้ยาปฏิชีวนะน้อยลง ซึ่งยาปฏิชีวนะนี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้องเป็นผื่นผ้าอ้อมได้ด้วยค่ะ
- อาหารอาจมีส่วนทำให้แพ้ เมื่อลูกเริ่มกินอาหารเสริมได้แล้ว แนะนำให้ลูกค่อยๆ กินไปทีละอย่างนะคะ รอสัก 2-3 วันค่อยให้ลองกินอาหารชนิดใหม่ วิธีนี้จะช่วยให้คุณแม่รู้ว่าผื่นผ้าอ้อมเป็นผลมาจากการแพ้อาหารชนิดนั้นๆ หรือไม่ค่ะ
- พาลูกไปพบแพทย์ ในกรณีที่ลูกเป็นผื่นผ้าอ้อม เมื่อดูแลรักษาเเล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรพาลูกไปให้คุณหมอวินิจฉัยก่อนจะเกิดการติดเชื้อนะคะ ไม่แนะนำให้ซื้อยาทาเองเพราะอาจมีอันตรายได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.mamaexpert.com
วันที่สร้าง 30/11/2016