ลูกน้อยเป็นผื่น...ปัญหาที่กวนใจคุณพ่อคุณแม่เป็นประจำ

ลูกน้อยเป็นผื่น...ปัญหาที่กวนใจคุณพ่อคุณแม่เป็นประจำ ลูกน้อยเป็นผื่น...ปัญหาที่กวนใจคุณพ่อคุณแม่เป็นประจำ ลูกน้อยเป็นผื่น...ปัญหาที่กวนใจคุณพ่อคุณแม่เป็นประจำ

“ผื่น” เป็นหนึ่งปัญหาของลูกน้อยที่กวนใจคุณพ่อคุณแม่ทุกคนเพราะว่าเด็กทุกคนต้องเคยเป็นผื่นด้วยกันทั้งนั้น บางคนมีผื่นขึ้นตั้งแต่หลังคลอดเพียงไม่กี่สัปดาห์ บางคนมีผื่นขึ้นตอนอายุ 3-4 เดือน บางคนมีผื่นขึ้นตอนโตไปแล้วก็มี  แถมลักษณะผื่นในเด็กก็มีหลายแบบไม่ว่าจะเป็นตุ่มแดงเป็นแบบเม็ดเล็กๆ ตุ่มนูนแดงเหมือนแมลงสัตว์กัดต่อย ตุ่มแบบปื้นนูนแดง ตุ่มน้ำ นอกจากนี้ระยะเวลาที่เป็นก็ทั้งแบบไม่กี่วันก็หาย บางชนิดใช้เวลาเป็นสัปดาห์ถึงจะหาย บางชนิดเป็นๆหายๆเป็นเรื้อรังไปจนถึงตอนโตเลยก็มี สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณพ่อคุณแม่ย่อมกังวลใจเวลาลูกน้อยมีผื่นขึ้นมา วันนี้หมอเดียร์ได้รวบรวมผื่นที่มักเจอได้บ่อยในเด็กมาฝากคุณพ่อคุณแม่กันเพื่อที่จะได้สังเกตเบื้องต้นว่าผื่นของลูกน้อยเป็นอะไรกันครับ

1. ผดร้อน ผดร้อนเป็นผื่นที่เจอได้บ่อยในทารกแรกเกิดโดยเฉพาะเวลามีไข้หรืออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ และมีการรั่วของเหงื่อที่ผิวหนัง ลักษณะของผดร้อนจะมีได้หลายแบบเช่น ตุ่มน้ำเล็กๆ ตุ่มแดง ตุ่มหนอง ผื่นชนิดนี้จะเห่อเมื่ออากาศร้อนและดีขึ้นเมื่ออากาศเย็น ตำแหน่งที่พบบ่อยเช่น หน้าผาก คอ รักแร้ ข้อพับ ลำตัวส่วนบนโดยเฉพาะบริเวณที่ใส่เสื้อผ้าหนาๆ การดูแลผื่นชนิดนี้คือ ใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย หรือผ้าอ้อมที่มี Wetness Alert (แถบวัดความเปียกชื้น) หลีกเลี่ยงอากาศร้อน

2. ผื่นผ้าอ้อม ในช่วงหน้าร้อนที่มีการอับชื้นได้ง่าย บริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมมีโอกาสที่จะเกิดผื่นได้ง่ายที่สุด ลักษณะผื่นเป็นปื้นแดงจะขึ้นบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม เช่นก้น ท้องน้อย อวัยวะเพศ ต้นขาด้านใน การดูแลคือดูแลเรื่องของความสะอาดและความอับชื้นโดยเลือกใช้ผ้าอ้อมหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ช่วยดูดซับปัสสาวะได้ดี อาจใช้ครีมทาเคลือบผิวเช่น zinc, dexpanthenol หากเป็นมากอาจใช้ยาทาสเตียรอยด์

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันควรเลือกผ้าอ้อมที่ผ่านการทดสอบไฮโปรอัลเลอร์เจนิก (Hypoallergenic) ว่าไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้และควรเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกๆ 3 ชั่วโมง

3. ผื่นแพ้สัมผัส ผื่นชนิดนี้เกิดจากการสัมผัสกับสารที่แพ้เช่น น้ำยา สารเคมีหรือสารก่อการระคายเคืองต่างๆ ลักษณะผื่นเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำ ปื้นแดงราบ ปื้นนูนแดง และมักมีอาการคันร่วมด้วย อาจเกิดได้ทันทีหลังจากสัมผัสหรือใช้เวลาเป็นสัปดาห์ การดูแลคือถ้ารู้แล้วว่าแพ้อะไรก็หลีกเลี่ยง ควรเลือกเสื้อผ้าและผ้าอ้อมที่มีสัมผัสนุ่ม (Baby Soft Touch) ที่มีความอ่อนโยนต่อผิวเด็กแรกเกิด

4. ผื่น Seborrheic หรือเราเรียกกันติดปากว่า เซบเดิร์ม ถ้าเป็นเด็กมักพบในช่วงอายุ 2-10 สัปดาห์ มีลักษณะเป็นขุยแห้งๆสีเหลือง น้ำตาลปนแดง อาจมีผื่นนูนแดงร่วมด้วย บางครั้งขุยเป็นมัน พบบริเวณที่มีต่อมไขมันมากเช่น ศีรษะ คิ้ว แก้ม หน้าหู หลังหู หูชั้นนอก รักแร้ และขาหนีบ มักไม่มีอาการคันหรือคันน้อย ลักษณะอาการที่พบได้บ่อยคือ ผื่นแดงปนเหลือง และมีสะเก็ดเป็นมันบนผื่น โดยมีขอบเขตชัดเจน มักพบตามศีรษะ ไรผมคิ้ว รูหู หลังใบหู ข้างจมูก คอ รักแร้ ขาหนีบ หรืออาจพบบริเวณอวัยวะเพศ หลักการรักษาคือ พยายามไม่รบกวนผิวบ่อย โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ล้างหน้าซับหน้าด้วยความนุ่มนวลไม่ขัดถูบริเวณใบหน้าแรง ๆ ไม่ควรล้างหน้าบ่อยจนเกินไป ล้างหน้าด้วยสารชำระล้างที่อ่อน ๆ ไม่ระคายผิว ในกรณีที่รอยโรคที่บริเวณใบหน้า, ลำตัว, ขาหนีบ ในช่วงแรกที่มีการอักเสบอยู่ อาจให้ยาทาสเตรียรอยด์ หลังจากเริ่มดีขึ้นแล้วให้ทายา Ketoconazole ต่อวันละ 2 ครั้งไปจนกว่าจะหายเป็นปกติ ส่วนในกรณีรอยโรคที่หนังศีรษะรักษาโดยใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของ Selenium Sulfide, Zinc pyrithione, tar หรือใช้ tioconzole ชนิดแชมพูสระผม ก็จะทำให้รอยโรคดีขึ้น

5. ผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ผื่นนี้เป็นการอักเสบเรื้อรัง จะเป็นๆหายๆ ลักษณะจะเป็นตุ่มแดง เป็นเม็ดเล็กๆขึ้นเป็นกลุ่ม อาจมีน้ำเหลืองซึม คัน ที่สำคัญผิวจะแห้งมากกว่าคนทั่วไป ตำแหน่งของผื่นขึ้นอยู่กับอายุ อาจเกิดจากการแพ้อาหารได้ ตอนโตคนไข้บางส่วนหายขาดได้ การดูแลที่สำคัญคือความชุ่มชื้นและความสะอาด การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวและให้ความชุ่มชื้นที่เหมาะสม

6. ผื่นเชื้อรา หน้าร้อนที่มีความอับชื้นมากๆ เชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้ดี ลักษณะผื่นมีได้หลายแบบตามชนิดของเชื้อราเช่น ผื่นแดง ผื่นขาว ตุ่มแดงและมักจะคัน ตำแหน่งที่พบโดยส่วนใหญ่จะเป็นที่อับชื้น หรือบริเวณอื่นๆก็ได้ การดูแลคือการดูแลเรื่องความอับชื้นและการใช้ยาทาฆ่าเชื้อรา หากเป็นมากหรือหากทาแล้วไม่ดีขึ้นอาจต้องใช้ยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทาน

แม้ว่าผื่นในเด็กจะมีมากมายหลายชนิดแต่ก็มีข้อสังเกตที่ช่วยในการแยกผื่นแต่ละชนิดออกจากกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ข้อสังเกตเหล่านี้ดูว่าผื่นของลูกน้อยน่าจะเป็นผื่นชนิดใดในเบื้องต้นได้ อย่างไรก็ดีหากไม่แน่ใจในการวินิจฉัยแนะนำว่าควรพาลูกน้อยไปพบคุณหมอเพื่อซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด คุณหมอจะได้วินิจฉัยและรักษาลูกน้อยอย่างถูกต้องครับ

บทความจาก นพ.วรุตม์ ทองใบ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.