กระตุ้นพัฒนาการผ่านการเล่นกับลูก

กระตุ้นพัฒนาการผ่านการเล่นกับลูก กระตุ้นพัฒนาการผ่านการเล่นกับลูก กระตุ้นพัฒนาการผ่านการเล่นกับลูก

          นอกจากการดูแลให้ลูกน้อยได้กินอิ่มนอนหลับตามวัยที่เหมาะสมแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำควบคู่กันนั่นก็คือการส่งเสริมพัฒนาการของลูกด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเคลื่อนไหว การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ การใช้สติปัญญา การเข้าใจภาษา การช่วยเหลือตัวเอง และการรู้จักปรับตัวเข้าสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถกระตุ้นและปลูกฝังผ่านการที่คุณพ่อคุณแม่เล่นกับลูกผ่านกิจกรรมมากมายที่สอดคล้องกับพัฒนาการเด็กนั่นเอง

 

  • ช่วงแรกเกิดถึง 3 เดือน

ช่วง 3 เดือนแรกเป็นช่วงหลังคลอดที่สมองเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นเวลาที่สายใยของเส้นประสาทในสมองเจริญเชื่อมต่อกันมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณสมองสั่งการทางด้านการเคลื่อนไหวและการมองเห็น ลูกจะเริ่มมีการชันคอ ยิ้มโต้ตอบ ยิ้มทัก และมีแววตาสบตาที่เหมือนสื่อสารต่อกันได้ รวมทั้งมีการส่งเสียงร้องอืออา คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกด้วยการช่วยจับลูกนอนคว่ำท้องชิดกับพื้น (Tummy time) เพื่อกระตุ้นให้ลูกฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ หรืออาจจับลูกนอนคว่ำอยู่บนตัวคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ในท่านอนหงาย ทั้งหมดนี้ต้องทำอย่างใกล้ชิดและระมัดระวังนะคะ เพราะลูกวัยแรกเกิดยังบอบบาง การเล่นที่ดีที่สุดในวัยนี้คือ การกอดสัมผัสที่อ่อนโยนจากคุณพ่อคุณแม่ การชวนลูกพูดคุย เรียกชื่อลูก สบตาจ้องตา ร้องเพลงกล่อม ใช้ของเล่นสีสันสดใสมาจูงใจให้ลูกมองตาม และบริหารร่างกายให้แขนขาเบาๆ

 

  • ช่วง 4 เดือนถึง 6 เดือน

ช่วงวัยนี้ลูกน้อยจะเริ่มพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมากขึ้น เริ่มชันคอได้ ใช้มือหยิบจับคว้าสิ่งของได้ และเริ่มแสดงพัฒนาการทางภาษาให้เห็น เช่น ส่งเสียงอืออา ทำเสียงเลียนแบบ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นพูดคุย เล่น หัวเราะกับลูก อุ้มลูกในท่านั่งหันหน้าออกบ่อยๆ พาลูกไปทักทายกับคนที่คุ้นเคย เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย กระตุ้นด้วยการสัมผัสจุดต่างๆ ของร่างกายเด็กด้วยจังหวะหนักเบาแตกต่างกันไป หยิบของเล่นที่มีสีสันสดใสหรือเขย่าแล้วส่งเสียงได้มาจูงใจให้ลูกพยายามหยิบคว้า กระตุ้นให้ลูกใช้กล้ามเนื้อมือ และพยายามพลิกคว่ำพลิกหงายคืบคลานได้ด้วยตัวเอง เล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟังบ่อยๆ

 

  • ช่วง 7 เดือนถึง 12 เดือน

ลูกน้อยในช่วงวัยนี้เริ่มพัฒนาการเคลื่อนไหวได้มากขึ้น หลายคนเริ่มคลานได้ ลุกนั่งได้ หรือเริ่มเกาะยืน และมีพัฒนาการทางภาษาในระดับที่สื่อสารได้ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรจัดสถานการณ์ให้ลูกได้ฝึกกิจกรรมการนั่ง การคลาน และการยืนบ่อยๆ เช่น จูงใจด้วยของเล่นให้ลูกได้หันหลังเอี้ยวตัวไปหยิบของในระยะที่เอื้อมถึง จัดพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกได้เคลื่อนไหวตัวอย่างอิสระ จูงมือลูกหัดยืนหัดเดิน อุ้มลูกนั่งตัก และอ่านหนังสือภาพหรือหนังสือนิทาน ชวนพูดคุยตั้งคำถาม จูงใจให้เพลิดเพลินด้วยน้ำเสียงสูงต่ำสนุกสนาน เล่นปิดหน้าจ๊ะเอ๋ ชวนพูดคุย สอนร้องเพลง โบกมือตบมือตามจังหวะ ฝึกลูกให้หันตามเสียงเรียก ชวนเรียกชื่อฝึกให้รู้จักชื่อตัวเอง ออกเสียงคำง่ายๆ เช่น มามา ปาปา หม่ำหม่ำ

 

  • ช่วง 1-3 ปีแรก

พัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกวัย 1-3 ปีนี้เปลี่ยนแปลงจากช่วงปีแรกอย่างเห็นได้ชัด เมื่อลูกเริ่มควบคุมการทรงตัวได้เก่งขึ้น เริ่มเดินและวิ่งได้ด้วยตัวเอง เคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างอิสระและแข็งแรงขึ้น ควบคุมนิ้วมือได้ดีขึ้น เริ่มสื่อสารได้ตั้งแต่คำสั้นๆ ไปจนถึงพูดคุยโต้ตอบบทสนทนาง่ายๆ ได้ มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เริ่มยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญของพัฒนาการในช่วงวัยนี้ การเล่นกับลูกในช่วงวัยนี้คุณพ่อคุณแม่ควรชวนลูกวิ่งเล่นออกกำลังกายเพื่อให้ลูกฝึกควบคุมการทรงตัวให้ดียิ่งขึ้น ชวนขี่จักรยานสามล้อ หรือจักรยานฝึกหัดทรงตัว (Balance bike) พาไปสนามเด็กเล่น ชวนวิ่งเล่นไล่จับในสนามหญ้า เล่นลูกบอล กระโดดโลดเต้น ชวนเล่นของเล่นที่มีล้อผูกเชือกไว้ลากจูง ชวนขีดเขียนวาดรูปเล่นด้วยสีเทียน เล่นแป้งปั้นดินน้ำมันเพื่อฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กให้แข็งแรง เล่นบทบาทสมมุติกับลูกเพื่อเสริมทักษะการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ชวนเล่นบล็อกไม้ ตัวต่อรูปทรงเรขาคณิตต่างๆ ชวนอ่านหนังสือเล่านิทาน สอนร้องเพลงและท่าเต้นประกอบ ชวนลูกคุยบ่อยๆ หมั่นตั้งคำถามให้ลูกตอบ ชี้ชวนดูสิ่งต่างๆรอบตัว พาลูกไปเที่ยวเสริมประสบการณ์นอกบ้านบ้าง 

 

         ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นกิจกรรมการเล่นง่ายๆ เหมาะกับช่วงวัยต่างๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกเล่นร่วมกันเพื่อกระตุ้นพัฒนาการของเขาได้ การเล่นกับลูกบ่อยๆ ยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว สร้างความสุขในใจให้ทุกคน การเล่นที่ดีที่สุดของลูกหาใช่การเล่นกับของเล่นราคาแพงที่ไหน แต่คือการที่ลูกได้สนุกสนาน มีเสียงหัวเราะและรอยยิ้มกับคุณพ่อคุณแม่นี่เองค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.thaichilddevelopment.com

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.