‘ผื่นลมพิษ’ เป็นผื่นผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในทุกเพศ ทุกวัย โดยในเด็กเล็กก็สามารถพบผื่นลมพิษได้ ซึ่งผื่นจะมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากผื่นอื่น ๆ ทั่วไป โดยจะมีลักษณะเป็นผื่นบวมแดง (Flare) นูน (Wheal) ขึ้นมา มักจะมีอาการคันมาก ผื่นมีขอบเขตแดงนูนเป็นวงที่ชัดเจน และหายไปได้เองอย่างรวดเร็วใน 2-3 ชั่วโมง และมักจะอยู่ไม่นานเกิน 24 ชั่วโมง และนอกจากผื่นลมพิษแล้ว ก็ยังมีเรื่องของ ลูกน้อยเป็นผื่น...ปัญหาที่กวนใจคุณพ่อคุณแม่เป็นประจำ
‘ผื่นลมพิษ’ ในเด็ก เกิดจากสาเหตุอะไร?
- การติดเชื้อ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของลมพิษเฉียบพลันในเด็ก โดยเวลาที่เจ้าตัวน้อยมีอาการป่วยเป็นหวัด ไอน้ำมูก หรือไวรัสลงกระเพาะ มีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว ก็มักจะพบว่ามีผื่นลมพิษขึ้นร่วมด้วย เมื่ออาการเจ็บป่วยดีขึ้น ผื่นก็จะค่อย ๆ ยุบหายไปได้เอง โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นการติดเชื้อจากไวรัส ซึ่งมักจะหายได้เอง
- การแพ้อาหาร จะเกิดผื่นลมพิษแบบฉับพลันทันทีภายใน 30 นาที หลังจากทานอาหารที่แพ้เข้าไป ซึ่งอาหารที่มักจะพบว่าทำให้เกิดอาการแพ้ได้บ่อย ได้แก่ ไข่ ถั่ว อาหารทะเล นมวัว เป็นต้น
- การแพ้ยาชนิดต่าง ๆ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาลดไข้ ยากันชัก มักจะเกิดอาการหลังจากทานยาเหล่านี้เข้าไป
- แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ยุง มด ผึ้ง ต่อ แตน เป็นต้น
- สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น ไรฝุ่น ฝุ่นละออง สารเคมี ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์ต่าง ๆ มลพิษจากสิ่งแวดล้อม
- สิ่งกระตุ้นอื่น ๆ ทางกายภาพ เช่น อุณหภูมิจากความร้อนหรือเย็น เหงื่อ แสงแดด หรือน้ำหนักกดทับ เช่น การขูดขีดที่ผิวหนัง
เช็กอาการ ‘ผื่นลมพิษ’ กับคุณหมอ
- ผื่นลมพิษ ผื่นคันที่เกิดขึ้นบนผิวหนังมีขนาดเล็ก เป็นปื้นนูนแดงกระจายทั่ว ซึ่งผื่นจะยุบได้เองใน 3 – 4 ชั่วโมง มักไม่มีอันตรายนอกจากอาการคัน
- ผื่นที่มีอาการนูนบวม ซึ่งมักเกิดในบริเวณเนื้ออ่อน เช่นเปลือกตา ริมฝีปาก เป็นต้น และอาจมีอาการหายใจไม่สะดวกร่วมด้วย
- อาการแพ้ขั้นรุนแรง มักมีอาการทั่วร่างกายหรือมีอาการแสดงหลายระบบ เช่น ผื่นลมพิษ ปากบวม ตาบวม หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว ปวดท้อง อาเจียน และอาจหมดสติ
โรคลมพิษในเด็ก เกิดขึ้นได้ 2 แบบ
- ลมพิษชนิดฉับพลัน คือ โรคลมพิษที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ผื่นจะขึ้น ๆ ยุบ ๆ และหายไปได้เองภายใน 6 สัปดาห์
- ลมพิษชนิดเรื้อรัง คือ โรคลมพิษที่ผื่นจะขึ้น ๆ ยุบ ๆ อยู่เป็นเวลานานเกิน 6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มักจะหาสาเหตุไม่ได้ จึงมักจะมีอาการผื่นลมพิษเป็น ๆ หาย ๆ นานเป็นเดือนหรือเป็นปี
‘ผื่นลมพิษ’ แตกต่างจาก ‘ผื่นผ้าอ้อม’ อย่างไร
- ตำแหน่ง ผื่นผ้าอ้อมจะเป็นผื่นที่เกิดจากการระคายเคืองของผิวหนังที่สัมผัสกับความอับชื้น หรือระคายเคืองจากปัสสาวะ และอุจจาระ จึงมักเกิดผื่นอยู่ในบริเวณที่สวมใส่ผ้าอ้อม ในขณะที่ผื่นลมพิษจะขึ้นกระจายทั่วตัว
- ลักษณะ ผื่นผ้าอ้อมมักจะเป็นผื่นแดงปื้นไม่นูน ผิวอาจเปิดเป็นแผลตื้น ๆ และเจ็บ ขอบเขตไม่ชัดเจน แต่ผื่นลมพิษจะแดงนูน ขอบเขตชัดและมีอาการคัน
วิธีป้องกันและดูแลเบื้องต้นให้กับเจ้าตัวน้อย
- หลีกเลี่ยงต้นเหตุ สิ่งที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ เช่น อาหารและยาที่ทราบว่าเป็นสาเหตุ
- รักษาสุขภาพร่างกายเจ้าตัวน้อยให้แข็งแรงไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วย
- เมื่อเกิดผื่นลมพิษเฉียบพลัน คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ยาแก้แพ้ช่วยบรรเทาอาการให้ลูกน้อยก่อนได้ ยาแก้แพ้ที่ใช้กันทั่วไปสําหรับเด็ก ได้แก่ cetirizine, loratadine และ diphenhydramine
- ประคบเย็นเพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน สามารถทายาคาลาไมน์ เพื่อช่วยลดอาการคันให้กับเจ้าตัวน้อย
- หากลูกมีอาการรุนแรง เช่น ผื่นลมพิษมีขนาดใหญ่ ลูกน้อยงอแงมาก มีไข้สูง ซึม หายใจไม่สะดวก หากผื่นไม่หายภายใน 24 ชั่วโมง ควรพาเค้าไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมต่อไปนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจากคุณหมอแอน พญ.ปิยะรัตน์ เลิศบรรณพงษ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
เพื่อให้ผิวของลูกน้อยห่างไกลจากความอับชื้น ผ้าอ้อมที่ใส่ต้องแห้งสบายทันที ซึมซับไวขึ้นถึง 150%(3) ด้วยแผ่นซูเปอร์ ดราย ไดมอนด์ ชีท เราขอแนะนำ ‘ผ้าอ้อมเบบี้เลิฟ เพลย์แพ้นท์ พรีเมียม’ สูตรใหม่!
ตามไปช้อปผ้าอ้อมคุณภาพพรีเมียม ในราคาน่าเลิฟได้ที่ BabyLove Online Shop
(3) เปรียบเทียบกับสูตรก่อนหน้า
วันที่สร้าง 28/05/2024