RSV (Respiratory syncytial virus) เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ พบได้บ่อยในช่วงหน้าฝน ไวรัสนี้มักจะทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ โดยทำให้หลอดลมมีการสร้างสิ่งคัดหลั่ง เช่น เสมหะ ออกมาในปริมาณมากร่วมกับมีการหดตัวของหลอดลมเนื่องจากเยื่อบุหลอดลมและทางเดินหายใจบวมอักเสบ ทำให้เกิดอาการหอบ เหนื่อย และหายใจลำบาก
การติดต่อ ติดต่อกันได้ง่ายมากเพียงการสัมผัสใกล้ชิด หรือ สัมผัสสารคัดหลั่งทางตา หรือจมูก และทางลมหายใจ โดยมีระยะฟักตัว 2-6 วันแล้วจึงจะแสดงอาการ ภายหลังการได้รับเชื้อผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ตั้งแต่หลังติดเชื้อ 2–3 วันไปจนถึง 2–3 สัปดาห์ ดังนั้นในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการแสดงควรลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นโดยการใส่ผ้าปิดปาก
อาการ
- สามารถเกิดอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อยเหมือนหวัดธรรมดา มีไข้ไอ น้ำมูก ไปจนถึงมีอาการหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หอบเหนื่อยมากจนมีภาวะหายใจล้มเหลวต้องใช่เครื่องช่วยหายใจ
- อาการมักจะรุนแรงมากในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี, เด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่มีโรคประจำตัวเช่นโรคปอดหรือโรคหัวใจ
- โดยทั่วไปในเด็กเล็กจะมีอาการรุนแรงมากกว่าในผู้ใหญ่ เด็กส่วนใหญ่จะมีอาการคล้ายไข้หวัดนำมาก่อน 2-3 วันแล้วจากนั้นจะเริ่มมีอาการไข้สูง ไอมากขึ้น ไอมากกว่าหวัดปกติ ไอมากจนอาเจียน นอนไม่ได้ มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว หายใจมีเสียงวี้ดและเสียงครืดคราด ถ้าเป็นมากจะหายใจหอบจนอกบุ๋ม หน้าอกโป่ง หายใจออกลำบาก ซึมลง ตัวเขียว
การรักษา โรค RSV เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาเฉพาะ เป็นเพียงการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ, ล้างจมูกเพื่อช่วยเอาน้ำมูกออกมา, ระวังการขาดน้ำเพราะจะยิ่งทำให้เสมหะเหนียวข้น ในเด็กบางรายเสมหะข้นเหนียวและมีจำนวนมาก อาจต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก ก็จะช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น หอบเหนื่อยลดลง ส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ บางครั้งอาจมีภาวะติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน, มีหูอักเสบ หรือปอดอักเสบตามมาก็อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
การป้องกัน โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและสามารถเป็นซ้ำได้อีก จึงควรป้องกันการติดเชื้อนี้โดยการหมั่นให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ หมั่นทำความสะอาดของเล่น รวมไปถึงงดพาเด็กไปในที่ชุมชนแออัด แยกเด็กเมื่อมีการเจ็บป่วยเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายโดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี
การหมั่นล้างมือให้ตัวเองและลูกน้อยบ่อยๆ ถือเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดในการป้องกันการเจ็บป่วยแทบทุกโรค เพราะการล้างมือสามารถลดเชื้อโรคที่ติดมากับมือทุกชนิดได้ถึงร้อยละ 70 นอกจากนี้การดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่นรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายในอากาศที่ถ่ายเท ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา ก็ถือเป็นอีกทางในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงปราศจากโรค
พญ.ปิยะรัตน์ เลิศบรรณพงษ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
วันที่สร้าง 16/07/2018