ฤดูฝนที่อากาศชื้นเป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมรับมือกับโรคต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับสายฝน และอาจทำให้ลูกน้อยมีอาการเจ็บป่วยบ่อยขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ไวรัสมือ เท้า ปาก ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยป้องกันลูกน้อยได้ และอีกหนึ่งโรคยอดฮิตที่มักพบบ่อยนั่นก็คือ ‘โรคเฮอร์แปงไจน่า’ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจจะยังไม่เคยได้ยิน เลยอยากชวนทุกบ้านมาทำความรู้จักโรคนี้กันค่ะ
ทำความรู้จัก ‘โรคเฮอร์แปงไจน่า’ Herpangina
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับโรคมือเท้าปาก สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งมีหลายชนิด เชื้อที่พบบ่อย ได้แก่ ไวรัสคอก แซคกี้ เอ (Coxsackie A) และเอนเทอโรไวรัส 71 ไวรัสในกลุ่มนี้มีหลายชนิด และหลายสายพันธุ์ ซึ่งการป่วยเป็นโรคนี้แล้วครั้งหนึ่งจะทำให้ลูกน้อยมีภูมิคุ้มกันและไม่เป็นโรคจากไวรัสสายพันธุ์เดิมนี้ได้อีก แต่ก็มีโอกาสเป็นซ้ำจากการติดไวรัสสายพันธุ์อื่น
‘โรคเฮอร์แปงไจน่า’ ติดต่อกันได้อย่างไร
เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายของลูกน้อยทางปากโดยตรง จากมือที่ไปสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง หรืออุจจาระของคนที่กำลังป่วยอยู่ หรือจากการไอและจามรดกัน ซึ่งพบโรคนี้ได้บ่อยในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี หลังจากได้รับเชื้อลูกน้อยจะเริ่มมีอาการภายใน 3-6 วัน
อาการในเบื้องต้น
อาจจะคล้ายกับโรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) แต่แตกต่างกันที่ ‘โรคเฮอร์แปงไจน่า’ จะไม่มีผื่นขึ้นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าให้เห็น จะมีเพียงแผลที่เกิดขึ้นในปาก และในลำคอเท่านั้น จึงอาจทำให้สังเกตอาการของโรคนี้ได้ยากลำบาก โดยแผลมักจะมีขนาดประมาณ 2 - 4 มิลลิเมตร สีขาวหรือเทาอ่อนมีขอบแดง คล้ายแผลร้อนใน
เช็กอาการที่พบได้บ่อย ดังนี้
- มีไข้สูงเฉียบพลัน 38.5 – 40 องศาเซลเซียส
- เจ็บคอ กลืนลำบาก
- พบมีแผลในช่องปาก เพดานปาก ลิ้นไก่ ทอนซิล คอหอย
- เบื่ออาหาร ไม่ยอมทานข้าว อาเจียน
- ปวดหัว ปวดตัว
- ในเด็กทารกอาจมีอาการน้ำลายไหลมากกว่าปกติ งอแงและไม่ยอมดูดนม
ส่วนใหญ่โรคนี้ไม่รุนแรง สามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน เพียงแต่อาจจะต้องเฝ้าระวังเรื่องอาการหรือภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบได้ แต่ไม่บ่อยนัก เช่น ก้านสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตได้
การรักษา โรคเฮอร์แปงไจน่าเป็นโรคที่สามารถหายได้เอง
- การรักษาส่วนใหญ่ จะเป็นการกินยาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาชาเฉพาะที่
- รับประทานอาหารเย็น ๆ เพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวด เช่น นมเย็น น้ำเย็น เจลลี่ หรือไอศกรีม
- พยายามให้ลูกดื่มน้ำ, น้ำเกลือแร่ และรับประทานอาหารเหลว ทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
ป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร?
ในปัจจุบันเรายังไม่มีวัคซีนป้องกัน ‘โรคเฮอร์แปงไจน่า’ เพราะโรคนี้เกิดจากไวรัสหลายชนิดในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งมีวัคซีนเพียงชนิดเดียวที่ป้องกันโรคมือเท้าปาก โดยจะสามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้เพียงสาย EV-71 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบภาวะแทรกซ้อนต่อสมองได้บ่อยกว่าสายพันธุ์อื่น
วิธีป้องกันในเบื้องต้น คือ
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ทั้งก่อน/หลังรับประทานอาหาร และทุกครั้งหลังจากลูกเข้าห้องน้ำ ด้วยน้ำสบู่ และน้ำสะอาด
- ระวังการสัมผัส น้ำลาย น้ำมูก ข้าวของเครื่องใช้ของเด็กที่เป็นโรคนี้ รวมทั้งของเล่นต่าง ๆ
- ทำความสะอาดของเล่น อุปกรณ์เครื่องใช้ของเด็กให้สะอาดอยู่เสมอ
- งดใช้แก้วน้ำและสิ่งของร่วมกัน
- ควรใช้ช้อนกลางเวลารับประทานอาหาร
- สอนลูกน้อยให้รู้จักปิดปากและจมูกทุกครั้งเมื่อไอ/จาม
- หลีกเลี่ยงการพาลูกน้อยไปอยู่ในที่แออัด หรือสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- เมื่อลูกน้อยมีอาการป่วยควรให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อลดการแพร่เชื้อ
ดังนั้นในช่วงหน้าฝน คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกน้อยมากเป็นพิเศษ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ
ขอขอบคุณข้อมูล จาก พญ.ปิยะรัตน์ เลิศบรรณพงษ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ดูแลสุขภาพลูกน้อยแล้ว อย่าลืมดูแลเรื่องสุขอนามัยในการขับถ่ายของลูกน้อยด้วยนะคะ ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมทุก ๆ 2-3 ชม. และเลือกใส่ผ้าอ้อมที่ซึมซับดียาวนาน 9 ชม.(1) มาพร้อมขอบขาล็อก 2 ชั้น ที่ช่วยป้องกันการรั่วซึมออกข้างขา อย่าง ‘ผ้าอ้อมเบบี้เลิฟ เดย์ไนท์ แพ้นท์’ สูตรใหม่!
สามารถช้อปผ้าอ้อมคุณภาพดี แบบได้ส่วนลดและของแถม ที่ BabyLove Online Shop
(1)ระยะเวลาในการซึมซับขึ้นอยู่กับปริมาณปัสสาวะของลูกน้อยแต่ละคน
วันที่สร้าง 28/08/2023