แม้จะดูแลรักษาความสะอาดให้กับลูกน้อยเป็นอย่างดี แต่คุณพ่อคุณแม่หลายคนก็คงพบกับปัญหาผดผื่นในเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ผื่นคัน ผื่นแดง ผื่นแพ้ ทำให้เรารู้สึกเป็นห่วงจนต้องหาสาเหตุและวิธีดูแลกันยกใหญ่ เมื่อลูกมีผื่นขึ้นตามร่างกาย เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง มาดูกันเลยค่ะ
ผดผื่นทารกเกิดจากอะไร
- ผิวของเด็กทารกบอบบาง ระคายเคืองได้ง่าย ด้วยเซลล์ผิวหนังแท้และหนังกำพร้ายังไม่ยืดหยุ่น แข็งแรง จึงไวต่อสิ่งที่มากระทบอย่างมาก เป็นเหตุทำให้อาการผดผื่นคัน ผิวหนังอักเสบแดง มักพบได้บ่อยในเด็กแรกเกิด
- อากาศร้อนอบอ้าว ความอับชื้น การใส่เสื้อผ้าหรือผ้าอ้อมที่ไม่ระบายอากาศ ล้วนเป็นปัจจัยทำให้เกิดผื่นตามมา จากการที่ลูกเหงื่อออกเพราะร่างกายระบายความร้อนเพื่อปรับอุณหภูมิให้เย็นลง แต่เพราะต่อมเหงื่อของเจ้าตัวน้อยยังทำงานได้ไม่ดี จึงเกิดการอุดตัน เจ้าผดผื่น ผดใส ผดแดง และผดลึก จึงมักเกิดขึ้นตามมาในหน้าร้อน
- การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะกับผิวลูก ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้าที่สวมใส่ สบู่ แป้ง ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม สิ่งเหล่านี้อาจมีสารระคายเคืองต่างๆ ที่สัมผัสผิวลูก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีเป็นส่วนผสมหลัก หากทำความสะอาดออกไม่หมด สารเคมีที่ตกค้างก็ทำให้ผิวลูกระคายเคืองจนเกิดผื่นได้ ในบางครั้งสารระคายเคืองอาจไม่ได้มาจากผลิตภัณฑ์ที่เด็กใช้โดยตรง แต่มาจากผลิตภัณฑ์ที่ผู้เลี้ยงดูใช้ไปสัมผัสกับผิวเด็ก อาทิ ลิปสติก โลชั่นทามือ ก็ได้ค่ะ
- ในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ พันธุกรรมความไวของเซลล์จากครอบครัวที่เป็นภูมิแพ้สามารถส่งต่อถึงลูกได้ ทำให้เด็กบางคนไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ เพียงแค่สัมผัสสิ่งที่แพ้แค่เล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็น เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ หรือแม้แต่เหงื่อของตัวเอง ก็เกิดผื่นแพ้ได้แล้ว นอกจากนี้ การแพ้อาหารในเด็กก็เป็นตัวการที่ทำให้เกิดผื่นแพ้ได้เช่นกัน เราจึงต้องระวังเรื่องอาหารการกินของเด็กเป็นพิเศษ
- บางครั้งผื่นเกิดจากเชื้อไวรัส เมื่อลูกไม่สบายมีไข้ อาจจะมีไข้ออกผื่นตามมาได้ค่ะ
ผดผื่นที่พบบ่อยในเด็กเล็ก
1. ผดผื่นจากต่อมเหงื่อ
ในช่วงที่อากาศเย็นสบายจะไม่ค่อยพบอาการนี้สักเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นช่วงที่อากาศร้อนเด็กทารกมักเป็นกันมากทีเดียวค่ะ เพราะต่อมเหงื่อของเจ้าตัวน้อยยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่ จึงอาจเกิดอาการต่อมเหงื่ออุดตันและลุกลามกลายเป็นผดผื่นได้ สำหรับต่อมเหงื่อมีการอุดตันที่ผิวหนังชั้นนอก จะมีลักษณะเป็นผดเม็ดใสๆ (ผดใส) ถ้ามีการอุดตันที่ผิวหนังชั้นกลางจะมีลักษณะเป็นผดแดง (ผดแดง) หรือถ้ามีการอุดตันที่ผิวหนังชั้นในจะมีลักษณะเป็นผดสีขุ่น (ผดลึก)
การดูแล :
คุณแม่สามารถป้องกันโดยการอาบน้ำให้ลูกบ่อยๆ ให้ลูกใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย ให้ลูกอยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ร้อนอบอ้าว เพราะยิ่งเหงื่อออกมาก ก็มีโอกาสเกิดผดได้ง่าย หากปฏิบัติดังนี้แล้วไม่หายภายใน 1 สัปดาห์ ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไปค่ะ
2. ผื่นผ้าอ้อม
เกิดจากอาการระคายเคืองหรือแพ้สารสัมผัสภายในบริเวณที่เด็กสวมใส่ผ้าอ้อม เมื่อปล่อยให้ผิวลูกสัมผัสกับผ้าอ้อมที่เปียกปัสสาวะหรืออุจจาระนานเกินไป ทำให้เกิดอาการระคายเคือง เกิดเม็ดผื่นคันและอักเสบ โดยเฉพาะบริเวณก้น โคนขา และอวัยวะเพศ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราร่วมด้วย
การดูแล :
ป้องกันไม่ให้ผิวหนังของลูกอับชื้น โดยเลือกใช้ผ้าอ้อมที่มีเจลซึมซับ และทำด้วยวัสดุระบายอากาศได้ดี และควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกอย่างน้อยทุกๆ 2-3 ชั่วโมง หรือทุกครั้งที่ลูกถ่ายหนัก และทำความสะอาดให้ทุกครั้งก่อนเปลี่ยนผ้าอ้อมใหม่ให้ลูก โดยอาจทาขี้ผึ้งหรือครีมเพื่อช่วยป้องกันผิวหนังไม่ให้ถูกสารระคายเคือง ถ้าผื่นเป็นมากอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราแทรกซ้อน จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
3. ผื่นจากความอับชื้นและการเสียดสี
เกิดจากความอับชื้นและการเสียดสีในบริเวณข้อพับและซอกต่างๆในเด็กทารก ทำให้เกิดการอักเสบแดง อาจมีผื่นคล้ายผด หรือมีการติดเชื้อราตามมาได้ เป็นผื่นอีกชนิดที่พบมากเช่นกันค่ะ
การดูแล :
ลดความชื้นและการเสียดสีในบริเวณที่เกิดผื่น หลังอาบน้ำทำความสะอาดบริเวณซอกต่างๆ แล้วซับให้แห้ง อาจจะทาแป้งบางๆ เพื่อเพื่อดูดซับความชื้นและลดการเสียดสีให้ลูกด้วยก็ได้ค่ะ แต่ต้องระวังอย่าทามากเกินไป เพราะแป้งจะจับกับเหงื่อที่ออกในบริเวณนั้นกลายเป็นคราบหรือก้อนแป้ง ทำให้ผิวชื้นแฉะตลอดเวลา สามารถเกิดอาการระคายเคืองได้ง่ายขึ้น
4. ผื่นจากภูมิแพ้ผิวหนัง
มักจะพบได้บ่อยในเด็กช่วงขวบปีแรก เนื่องจากเซลล์ผิวหนังยังไม่แข็งแรง จึงเกิดอาการแพ้สิ่งที่มากระตุ้นได้ง่าย โดยจะมีอาการคันและเป็นผื่นเม็ดเล็กๆ ที่ผิวหนัง หากเป็นระยะเฉียบพลันจะเป็นเม็ดเล็กสีแดง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจกลายเป็นปื้นหนาทำให้เรื้อรังและรักษายากขึ้น สาเหตุอาจมาจากการแพ้ผลิตภัณฑ์ หรือสัมผัสกับสารระคายเคืองต่างๆ นอกจากนี้ การถ่ายทอดโรคภูมิแพ้ทางพันธุกรรม ก็มีผลอย่างมากเช่นกันค่ะ
การดูแล :
หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้อาการของลูกกำเริบ คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยกันสังเกตอย่างใกล้ชิดเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่น ร่วมไปกับป้องกันไม่ให้สารระคายเคืองต่างๆ มาสัมผัสกับผิวลูก อาทิ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองดูแลผิวเด็ก ซักล้างผงซักฟอกออกจากเครื่องนุ่งห่มของลูกให้สะอาด ไม่ให้ลูกรับประทานอาหารที่อาจทำให้ผื่นกำเริบ หลีกเลี่ยงการให้ลูกอยู่ในสถานที่ที่มีปัจจัยก่อให้เกิดผื่น แม้ทารกจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดผื่นแพ้สูง แต่การให้ลูกดื่มนมแม่ให้นานที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้นมวัวจะช่วยได้มาก ในกรณีที่ลูกมีอาการหนัก ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องนะคะ
การปกป้องเจ้าตัวน้อยจากผดผื่น ควรทำร่วมไปกับการดูแลสุขอนามัยของลูก และการดูแลสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัยไปพร้อมๆ กันนะคะ เพราะการกำจัดปัจจัยที่อาจทำให้ลูกเกิดผดผื่น อาทิ ไรฝุ่น ขนสัตว์ สารเคมีต่างๆ จะช่วยป้องกันการเกิดผื่นและบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้มากทีเดียว นอกจากนี้ หากลูกเกิดผื่นคันควรตัดเล็บลูกให้สั้น หรืออาจใส่ถุงมือไว้ก่อน เพราะหากลูกเกาจะยิ่งทำให้ผื่นเห่อ อีกทั้งเล็บยาวๆ ยังอาจทำให้ผิวหนังถลอก ซึ่งจะทำให้เกิดแผลลุกลามติดเชื้อได้ง่ายด้วยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.todayhealth.org และ http://www.si.mahidol.ac.th
วันที่สร้าง 28/12/2016