ภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากอาการนอนไม่หลับ ของคุณแม่หลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากอาการนอนไม่หลับ ของคุณแม่หลังคลอด ภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากอาการนอนไม่หลับ ของคุณแม่หลังคลอด ภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากอาการนอนไม่หลับ ของคุณแม่หลังคลอด

          ในช่วงเวลาหลังคลอด น่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความภูมิใจของคุณแม่ ความตื่นเต้น และน่ายินดี สำหรับครอบครัวที่จะได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ แต่กลับไม่น่าเชื่อว่าคุณแม่หลังคลอดจำนวนมาก มีการเปลี่ยนแปลงอย่าฉับพลันทั้งทางอารมณ์และทางกายภาพ เช่น อาการซึมเศร้าเล็กน้อย ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ หงุดหงิดง่าย หรือแม้แต่ ผมร่วง อ่อนเพลีย ร่างกายอ้วนขึ้น ในกรณีที่รุนแรงมากอาจจะมีความคิดฆ่าตัวตายกันเลยทีเดียว แต่อาการซึมเศร้าหลังคลอดจะเป็นอยู่ประมาณ 7-10 วัน แต่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่พบว่าคุณแม่จะมีอารมณ์เศร้าหลังคลอดใหม่ๆ

         แต่หากมีอาการภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ “Baby Blue” เป็นนานกว่า 2 สัปดาห์ แนะนำว่าควรพบจิตแพทย์ เพื่อตรวจและวินิจฉัยต่อไป เพราะมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) ซึ่งต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

         อาการที่ดูจะน่าเป็นห่วงและส่งผลกระทบต่อคุณแม่มากคือ อาการนอนไม่หลับ เพราะการนอนคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด สำหรับคนปกติควรจะนอนให้ได้ 6-8 ชั่วโมง แต่สำหรับคุณแม่หลังคลอดนั้น ร่างกายจะค่อนข้างทรุดโทรม การนอนหลับจึงควรเพิ่มเวลาขึ้นเพื่อให้ร่างกายของคุณแม่ได้ฟื้นฟูกลับมาแข็งแรงอย่างเต็มที่

         แต่ด้วยความรับผิดชอบที่ล้นมือ ความกังวลใจ การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนที่ไม่อาจควบคุมได้ การขาดความมั่นใจในการดูแลลูก หรือแม้แต่ความเจ็บปวดทางร่างกาย ทั้งหมดทั้งมวล ล้วนรบกวนการพักผ่อนของคุณแม่หลังคลอดทั้งสิ้น อาการนอนไม่หลับเป็นอีกสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด มีอาการรุนแรงขึ้น

         โดยภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนี้ส่งผลให้ สุขภาพของคุณแม่ทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้อาจมีผลไปถึงพัฒนาการของลูกที่จะล่าช้ากว่าปกติ การเลี้ยงดูไม่ที่ถูกต้อง เป็นเหตุให้มีพฤติกรรมต่อต้านสังคมเมื่อโตขึ้น ในบางครั้งอาจมีผลไปถึงความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นคุณสามีหรือคนในครอบครัวเลยทีเดียว

          แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางป้องกัน ทั้งตัวคุณแม่และคนในครอบครัวสามารถช่วยกันได้ ตามนี้ค่ะ

1. วางแผนการมีบุตร รับคำปรึกษาจากแพทย์ เตรียมความพร้อมก่อนเป็นคุณแม่ เพื่อลดอาการวิตกกังวล เนื่องจากการป้องกันอาการซึมเศร้าหลังคลอดให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด จำเป็นต้องเริ่มเตรียมการตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์เลยค่ะ

2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แม้ว่าจะพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ในช่วงที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ก็ขอให้คุณแม่บำรุงร่างกายด้วยอาหารที่มีประโยชน์อย่างสม่ำเสมอนะคะ

3. ออกกำลังกายเบาๆ อย่างที่รู้กันการออกกำลังกายเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดี ในการระบายความเครียด สำหรับคุณแม่หลังคลอดที่ยังไม่สามารถขยับตัวได้สะดวกมากนัก แนะนำเป็นการเดินช้าๆ ยกน้ำหนักเบาๆ หรือแม้แต่โยคะก็สามารถทำได้คะ

4. ต้องปล่อยวาง บางทีบ้านรก สิ่งของในบ้านระเกะระกะ สิ่งของไม่อยู่ในที่ของมัน หรือแม้แต่คุณสามีทำอะไรตกหล่นไปบ้าง ขอทำใจว่าเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ ลดความจุกจิกลง อะไรจะเกิดก็ปล่อยมันไป หายเหนื่อยแล้วค่อยลุกขึ้นมาลุยทำงานบ้านต่อก็ได้ บ้านของเราเองช่วยกันเก็บไป บ้านไม่หนีไปไหนอยู่แล้ว

5. อย่าเก็บความอึดอัดใจไว้เพียงคนเดียว  คุณแม่หลังคลอดนอกจากจะมีความอึดอัดใจทั้งในเรื่องสภาพร่างกาย ที่อวบอ้วนขึ้นอย่างมาก มือเท้าบวม หรือแม้แต่รอยแตกลายบนเรือนร่าง ทางด้านจิตใจก็มีไม่น้อยไปกว่ากันไม่ว่าจะเป็นความกังวลความเครียดในการเลี้ยงลูก ทางที่ดีที่สุดคือระบายออกมา เล่าความอึดอัดใจออกมาให้คนที่ไว้ใจได้ฟัง และเป็นช่วงที่คุณสามีจะต้องเป็นผู้รับฟังที่ดี เปิดใจคุยเกี่ยวกับปัญหาและทางออกร่วมกันในครอบครัว ให้กำลังใจคุณแม่ แล้วสู้ไปด้วยกันนะคะ

          จะเห็นได้ว่าภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และอาการนอนไม่หลับนั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดได้กับคุณแม่หลังคลอดแทบจะทุกคน โดยเกิดจากหลายสาเหตุแตกต่างกันไป และลักษณะอาการที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนนี้ก็จะมีวิธีแก้ไขที่ต่างกัน ซึ่งคุณแม่เองจำเป็นต้องรู้ถึงสาเหตุที่เกิดอาการขึ้น เพราะเมื่อรู้ถึงสาเหตุก็จะได้หาทางป้องกันและแก้ไขได้ ในส่วนความรุนแรงของอาการนั้นต้องขอให้คุณพ่อเป็นผู้ช่วยสังเกตอีกแรง ทีนี้เราก็จะเข้าใจภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นคุณแม่หลังคลอด และป้องกันไม่ให้ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดส่งผลเสียต่อลูกน้อยและความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวได้อีกด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.mamaexpert.com และ http://www.cumentalhealth.com

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.