โรต้าไวรัส ภัยใกล้ตัวลูกน้อย สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบในทารกและเด็ก

โรต้าไวรัส ภัยใกล้ตัวลูกน้อย สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบในทารกและเด็ก โรต้าไวรัส ภัยใกล้ตัวลูกน้อย สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบในทารกและเด็ก โรต้าไวรัส ภัยใกล้ตัวลูกน้อย สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบในทารกและเด็ก

ช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังมีการระบาดของโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อโรต้าไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคลำไส้อักเสบในทารกและเด็กเล็ก โรคนี้มีความสำคัญเนื่องจากเป็นไวรัสที่พบได้บ่อยที่สุดและทำให้เกิดอาการท้องเสียได้รุนแรงมากที่สุด ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่าไวรัสตัวอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก เพราะจะทำให้มีอาการถ่ายเป็นน้ำปริมาณมาก หากมีอาการอาเจียนมากจนกินอะไรไม่ได้หรือถ่ายมากจนมีอาการขาดน้ำ และไม่สามารถกินน้ำเกลือแร่เข้าไปชดเชยได้อย่างเพียงพอจะเกิดการขาดน้ำอย่างรุนแรง จนอาจทำให้เกิดภาวะช็อกและหากแก้ไขไม่ทันอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

โรต้าไวรัสคืออะไร

โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อโรต้าไวรัส เป็นโรคที่เกิดกับ เด็ก มากกว่า ผู้ใหญ่ พบได้บ่อยในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือน – 2 ขวบ และระบาดได้ง่ายในฤดูหนาว อากาศยิ่งเย็น จะยิ่งพบมาก สามารถเกิดการติดเชื้อซ้ำได้หลายๆครั้ง เพราะไวรัสโรต้านี้มีหลายสายพันธุ์ ซึ่งการติดเชื้อครั้งแรก จะมีอาการรุนแรง แต่การติดเชื้อครั้งต่อไป อาการจะน้อยลง จนในที่สุด จะเป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ เด็กที่โตเกินกว่า 5 ปี มีโอกาสติดเชื้อได้ แต่มีอาการน้อยมาก มาก หรือไม่มีอาการ แต่จากสถานการณ์ขณะนี้มีการพบโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในผู้ใหญ่มากขึ้น ตั้งแต่วัยทำงานถึงอายุมากกว่า 60 ปี และมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดอาการอาเจียนและท้องร่วงรุนแรง เสี่ยงต่อการขาดน้ำ ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ ในผู้ใหญ่เองจึงควรระวังรักษาสุขอนามัยให้ดีเช่นกัน

ติดต่อกันได้อย่างไร

เกิดจากการสัมผัสโดยตรงหรือทางอ้อมกับเชื้อในอุจจาระของผู้ป่วย หรือมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคในอาหารและน้ำ ไวรัสโรต้านี้สามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็ว และอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน เป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศเย็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโรต้าสามารถขับถ่ายเชื้อได้ในปริมาณมากหลายล้านตัว มากับสิ่งที่อาเจียนออกมา และอุจจาระ ได้เป็นเวลานานหลายสัปดาห์ และเชื้อไวรัสโรต้าเพียง 10 ตัวเท่านั้น ก็สามารถก่อโรคได้แล้ว จึงติดต่อแพร่กระจายได้ง่าย

เชื้อจากคนที่ป่วยจะแฝงตัวอยู่ตามสิ่งของ เช่นของเล่นเด็ก และอยู่ได้นานเป็นวัน ถึงแม้จะดูแลเรื่องความสะอาดของน้ำ อาหาร และที่อยู่เป็นอย่างดี ก็อาจไม่สามารถป้องกันลูก จากไวรัสโรต้าได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งหากลูกน้อยนำสิ่งของ หรือ มือที่เปื้อนเชื้อเข้าปาก ก็สามารถติดไวรัสโรต้าได้อย่างง่ายดาย 

อาการของลูกน้อยเมื่อติดเชื้อโรต้าไวรัส

  • หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน ลูกจะเริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แสดงว่าไวรัสโรต้านั้นอยู่ในกระเพาะอาหาร อาเจียนได้มากถึง 7 – 8 ครั้งต่อวัน ลูกจะดูอ่อนเพลียทานอาหารไม่ได้ อยู่ประมาณ 1 วัน กรณีที่อาการไม่รุนแรง อาการไข้และอาเจียนมักจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน
  • มีไข้ขึ้น ซึ่งไข้อาจสูงถึง 39 องศาเซลเซียส และทำให้เกิดอาการชักได้
  • ปวดท้อง ท้องเสียถ่ายเป็นน้ำตามมา เหมือนอาหารไม่ย่อย อุจจาระเป็นฟอง มีกลิ่นเปรี้ยวเมื่อเชื้อโรคเคลื่อนจากกระเพาะไปสู่ลำไส้
  • อาจยังมีอาการท้องเสีย มีลม มีปัญหาการย่อยแลคโตส นานต่อไปได้อีก 1- 3 สัปดาห์

การดูแลเมื่อลูกน้อยป่วยเป็นโรต้าไวรัส

ไวรัสโรต้า ไม่มียาหรือการรักษาโดยเฉพาะ การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ โดยการให้ดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทนถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นอกจากนี้อาจให้ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวด หรือยาลดไข้ร่วมด้วย ไม่ต้องให้ยาปฏิชีวินะเพราะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้

  1. ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย เช่น น้ำข้าว, โจ๊กเปล่า หรือข้าวต้มใส่เกลือ ทานทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง หรือทานอาหารประเภทแป้งเช่นขนมปัง ,แครกเกอร์ จะช่วยให้การฟื้นตัวจากภาวะท้องเสียกลับเป็นปกติได้เร็วขึ้น
  2. ให้ยาแก้อาเจียน ก่อนมื้ออาหารวันละ 3-4 ครั้ง ทุก 6-8 ชั่วโมง
  3. ให้น้ำเกลือแร่ที่เหมาะสำหรับเด็กท้องเสีย ทดแทนน้ำที่สูญเสียไป โดยให้จิบหรือดื่มน้ำเกลือแร่ทีละน้อยแต่บ่อยๆ ไม่ควรให้ลูกดื่มครั้งละมากๆ เพราะจะอาเจียนหรือถ่ายเหลวออกมาหมด
  4. ไม่ควรใช้น้ำอัดลมและน้ำเกลือแร่ชนิดขวดสำหรับนักกีฬาผสมให้ลูกดื่ม เพราะปริมาณน้ำตาลและเกลือแร่ไม่เหมาะสมกับเด็ก และไม่ควรให้น้ำผลไม้ เช่นน้ำส้มสด เพราะจะทำให้ถ่ายเหลวมากขึ้น
  5. งดนมสด ควรให้นมที่เหมาะกับภาวะท้องเสีย เช่น นมถั่วเหลือง หรือนมที่ไม่มีแลคโตส เพื่อช่วยให้การย่อยและการดูดซึมนมของดีขึ้น
  6. งดอาหารประเภท ผัก ผลไม้ทุกชนิด ควรให้ทานอาหารประเภทแป้งและโปรตีน เช่น ข้าวต้ม ขนมปัง  แครกเกอร์  จนกว่าอาการท้องเสียจะดีขึ้น ส่วนใหญ่ 1 สัปดาห์ขึ้นไป
  7. รีบไปพบแพทย์ ถ้าอาเจียนมาก อาเจียนทุกครั้งที่ทานหรือดื่มน้ำ, ท้องเสียมาก หรือมีอาการ เพลีย หน้าซีด ตัวเย็น นอนซึม ไม่เล่น ไม่ร่าเริงเหมือนตามปกติ ปากแห้งมาก ปัสสาวะน้อยลงหรือปัสสาวะสีเหลืองเข้ม กระหม่อมหน้าบุ๋มในเด็กอ่อน แสดงว่ามีภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้น้ำเกลือเข้าทางเส้นเลือด
  8. หยุดเรียนจนกว่าอาการจะดีขึ้นเพื่อเป็นการควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายต่อไป

วิธีการป้องกันลูกน้อยจากเชื้อไวรัสโรต้า ที่สำคัญ คือ

  1. การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยให้ลูกมีภูมิคุ้มกันได้ในระดับหนึ่ง
  2. ล้างมือให้ลูกน้อยบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
  3. รักษาความสะอาดบริเวณที่ลูกชอบเล่น รวมถึงหมั่นล้างของเล่นเสมอๆ ทำความสะอาดของเล่นอยู่เสมอ
  4. การรักษาสุขอนามัยที่ดี ล้างมือก่อนและหลังกินอาหาร, กินอาหารปรุงสุกใหม่และสะอาด
  5. ผู้ที่ดูแลเด็กเล็กควรหมั่นล้างมือโดยเฉพาะหลังจากเปลี่ยนผ้าอ้อมเพราะเชื้ออาจติดมืออยู่ได้นานหลายชั่วโมง
  6. เตรียมอาหารของลูกน้อยให้สุก สะอาด ถูกสุขลักษณะ โดยการผ่านความร้อนควรดื่มน้ำหรือน้ำแข็งที่สะอาดและกินอาหารที่ปรุงใหม่สุกเสมอ
  7. กำจัดผ้าอ้อมเด็กที่เกิดจากท้องเสียอย่างถูกวิธี โดยควรทิ้งในถุงแดง หรือถุงติดเชื้อเพื่อจะได้มีการทำลายที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดเชื้อโรคที่จะไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
  8. การรับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า เป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีความปลอดภัยสูง สามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ โดยวัคซีนเหมาะสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป หยอดวัคซีน 2-3 ครั้งห่างกันครั้งละ 2 เดือน การหยอดวัคซีนครั้งแรกควรให้ไม่เกิน 4 เดือน และครั้งสุดท้ายไม่เกินอายุ 8 เดือน และไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนในผู้ใหญ่เพราะมีความเสี่ยงต่อภาวะลำไส้กลืนกัน โดยวัคซีนนี้จะช่วยป้องกันเฉพาะโรคอุจจาระร่วง/ท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากสาเหตุอื่นได้ ภายหลังให้วัคซีนไวรัสโรต้าแก่เด็ก เด็กบางคนก็ยังอาจเกิดโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าได้ แต่อาการมักไม่รุนแรง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณหมอแอน พญ.ปิยะรัตน์ เลิศบรรณพงษ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.