วิธีการดูแลสุขภาพของทารกแรกเกิดเบื้องต้น

วิธีการดูแลสุขภาพของทารกแรกเกิดเบื้องต้น วิธีการดูแลสุขภาพของทารกแรกเกิดเบื้องต้น วิธีการดูแลสุขภาพของทารกแรกเกิดเบื้องต้น

          ช่วงเวลาหลังคลอดประมาณ 1-3 เดือนแรกนั้น ถือเป็นช่วงเวลาปรับตัวของลูกน้อยและคุณแม่ ซึ่งรวมถึงการรับมือกับอาการต่างๆ ของทารกที่ดูเหมือนจะน่าเป็นห่วง แต่ทว่าเป็นอาการสามัญที่มักพบได้ในทารกแรกเกิดทั่วไป คุณพ่อคุณแม่จึงควรมีข้อมูลเบื้องต้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อบรรเทาอาการของลูกน้อยก่อนปรึกษาคุณหมอในขั้นต่อไปค่ะ   

  • อาการแหวะนม

การแหวะนมถือเป็นอาการพื้นฐานที่พบได้บ่อยมากในเด็กทารก ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่มีอันตราย เพราะมักจะเกิดจากการที่หูรูดกระเพาะอาหารยังไม่แข็งแรง ทำงานได้ไม่สมบูรณ์เต็มที่ ทำให้น้ำนมไหลย้อนกลับขึ้นมาจากกระเพาะ

วิธีรับมือเบื้องต้น : หลังลูกกินนมเสร็จ ให้จัดศีรษะสูงประมาณ 30 องศาประมาณ 15-30 นาที หรืออาจจะใช้วิธีให้ลูกกินนมครั้งละน้อยๆ ไม่กินทีเดียวจนอิ่มแน่นเกินไป ซึ่งอาการแหวะนมนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงเต็มที่ภายในขวบปีแรกก็จะหายไป แต่ถ้าเป็นกรณีแหวะนมแบบผิดปกติ คือ มีอาเจียนพุ่ง โดยพบสิ่งเจือปนอื่นเช่นน้ำดีหรือเลือดปน ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

 

  • อาการร้องโคลิก

คืออาการที่เด็กทารกซึ่งมีอาการทั่วไปปกติ ทานนมได้ดี น้ำหนักขึ้นดี ไม่ได้ปวดท้องหรือป่วยไข้ แต่จะร้องไห้เสียงดังเป็นช่วงเวลา ยาวนานต่อเนื่องครั้งละประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยอาการมักปรากฏในช่วงอายุประมาณ 2–4 สัปดาห์ และจะค่อยๆ ร้องน้อยลงในช่วงอายุ 3-4 เดือน และเลิกร้องไปในที่สุด

วิธีรับมือเบื้องต้น : เนื่องจากปัจจุบันแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของอาการร้องโคลิกได้ การรักษาจึงใช้การปลอบด้วยวิธีต่างๆ เพื่อบรรเทาสถานการณ์ เช่น อุ้ม กอด สัมผัสนุ่มนวลอ่อนโยน โยกเบาๆ พานั่งรถเข็น ฯลฯ ที่สำคัญควรตรวจเช็คให้ดีด้วยว่าลูกมีอาการปวดท้องหรือท้องอืดด้วยหรือไม่ และคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงควรทำใจให้สบายไม่เครียดจนเกินไปด้วยค่ะ

 

  • อาการผิวหนังชนิดต่างๆ

a. ​​ผดร้อนจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ มีลักษณะเป็นตุ่มใสเล็กๆ มักเกิดบริเวณหน้าผาก คอ หลัง และข้อพับต่าง

วิธีรับมือเบื้องต้น : ผดผื่นร้อนจะหายได้เอง แต่สามารถป้องกันได้โดยให้ลูกอยู่ในที่อากาศถ่ายเท ไม่สวมใส่เสื้อผ้าหนา หรือห่อผ้าหนาจนเกินไป

b. สิวทารก มีลักษณะเป็นตุ่มแดงเม็ดเล็กๆ บางครั้งเป็นตุ่มหนองที่บริเวณแก้ม มักปรากฏขึ้นตอนช่วงอายุประมาณ 2-4 สัปดาห์ และมักจะหายได้เองภายในอายุ 2-3 เดือน

วิธีรับมือเบื้องต้น : ดูแลทำความสะอาดร่างกายตามปกติ ถ้าอากาศร้อนเหงื่อออก ให้ใช้สำลีชุบน้ำเปล่าเช็ดตามคอ หรือข้อพับต่างๆ ที่มักอับชื้น หากอาการเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์

c. ผื่นผิวหนังอักเสบของต่อมไขมัน มีลักษณะเป็นผื่นตุ่มแดงและมีสะเก็ดเหลืองที่หนังศีรษะ คิ้ว หู ใบหน้า มักพบอาการตั้งแต่ช่วงเดือนแรกของทารก และมักจะหายได้เองตอนช่วงอายุ 2-3 เดือน

วิธีรับมือเบื้องต้น : ดูแลทำความสะอาดร่างกายตามปกติ สามารถปล่อยให้สะเก็ดเหลืองหลุดออกได้เอง หรืออาจใช้น้ำมันมะกอกช่วยทาเพื่อให้ลอกออกง่ายขึ้น
 

  • อาการท่อน้ำตาตัน

อาการท่อน้ำตาตันมีจุดสังเกตคือ ทารกจะมีน้ำตาคลอเกือบตลอดเวลา โดยอาจเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้างเลยก็ได้ รวมถึงอาจมีขี้ตาเปียกแฉะบ่อยหรือตลอดเวลา ซึ่งอาการท่อน้ำตาตันนี้มักเกิดจากมีเยื่อบางๆ มาปิดกั้นทางเดินน้ำตาที่จะไหลลงสู่โพรงจมูก ทำให้น้ำตาค้างอยู่ไม่สามารถไหลลงไปได้

วิธีรับมือเบื้องต้น : ตามปกติท่อน้ำตาของทารกจะเปิดได้เองภายในขวบปีแรก แต่ในบางรายอาจเปิดช้าหรือทำงานผิดปกติ ให้คุณแม่ล้างมือให้สะอาดและใช้นิ้วนวดเบาๆ บริเวณหัวตาข้างจมูก ทำเป็นประจำ เพื่อช่วยเปิดท่อน้ำตา แต่หากทารกมีภาวะแทรกซ้อนบริเวณดวงตา เช่น ตาแดง หัวตาอักเสบ หรือมีขี้ตาสีเขียวผิดปกติ ควรพาไปพบจักษุแพทย์ทันทีค่ะ

   

  • อาการสะดืออักเสบ

การทำความสะอาดสะดือของทารกแรกเกิดจนกว่าสะดือจะหลุดนั้น เป็นกิจวัตรที่คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติอย่างระมัดระวังตามวิธีการที่คุณหมอแนะนำ ด้วยการเช็ดทำความสะอาดสะดือด้วยแอลกอฮอล์ 70% สำหรับเช็ดแผล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับเช็ดสะดือโดยเฉพาะ วันละ2 ครั้ง หรือหลังอาบน้ำ และต้องคอยดูแลสะดือให้แห้งอยู่เสมอ

วิธีรับมือเบื้องต้น : สะดือจะหลุดได้เองเมื่อทารกอายุ 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้าผิวหนังรอบสะดือ บวมแดง สะดือมีกลิ่นเหม็น ชื้นแฉะ มีหนอง ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

 

  • อาการแผลบีซีจี

เป็นอาการปกติที่ปรากฏขึ้นหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจีใต้ผิวหนังซึ่งทารกแรกเกิดจะต้องได้รับการฉีดเหมือนกันทุกคนค่ะ โดยในช่วงแรกหลังจากฉีดจะยังไม่ปรากฏรอยใดๆ แต่หลังจากนั้นราว 2 – 4 สัปดาห์ อาการแผลบีซีจีจะเริ่มปรากฏขึ้นโดยมีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดงบางครั้งเป็นตุ่มหนอง จากนั้นจะค่อยๆ แห้งกลายเป็นแผลเป็นไปในที่สุดค่ะ

วิธีรับมือเบื้องต้น : ดูแลทำความสะอาดแผลบีซีจีร่วมกับการทำความสะอาดร่างกายประจำวันได้ตามปกติค่ะ ถ้ารู้สึกผิดสังเกต เช่น มีตุ่มหนองใหญ่มาก หรือมีก้อนต่อมน้ำเหลืองโตขึ้นใกล้บริเวณที่ฉีด ควรรีบปรึกษาแพทย์ค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.bangkokhealth.com และ http://www.maerakluke.com

 

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.