เข้าใจการนอนของเจ้าตัวน้อย และ เคล็ดลับช่วยให้ลูกหลับสนิทตลอดคืน

เข้าใจการนอนของเจ้าตัวน้อย และ เคล็ดลับช่วยให้ลูกหลับสนิทตลอดคืน เข้าใจการนอนของเจ้าตัวน้อย และ เคล็ดลับช่วยให้ลูกหลับสนิทตลอดคืน เข้าใจการนอนของเจ้าตัวน้อย และ เคล็ดลับช่วยให้ลูกหลับสนิทตลอดคืน

          ปัญหาการนอนไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดกับลูกน้อยได้อีกด้วยนะคะ อย่างที่ทุกคนทราบกันดี ไม่ว่าช่วงวัยไหน การนอนคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด สำหรับผู้ใหญ่ การนอนที่มีคุณภาพจำเป็นเพื่อการเริ่มต้นวันใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับเด็กการได้หลับเต็มอิ่มถือว่ามีผลยิ่งยวดต่อพัฒนาการที่สมวัย

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทารก การนอนคือการที่ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นส่วนต่างๆ ของสมองในการเรียนรู้ จดจำ อันเป็นรากฐานสำคัญของพัฒนาการของสมองที่ดี  สมองได้จัดระเบียบสิ่งที่ได้เรียนรู้ในแต่ละวัน จัดขั้นตอนความจำระยะสั้นไปสู่ความจำระยะยาวให้เป็นระเบียบ เรียบเรียงข้อมูลที่ได้รับมาเป็นหมวดหมู่ให้เข้าที่เข้าทางพร้อมสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆในวันต่อไป ที่สำคัญขณะนอนหลับ สมองจะมีการหลั่งของโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone)  ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น การนอนหลับยังช่วยสร้างฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่ง คือ ไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid Hormone) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ในตอนกลางวัน ให้เจ้าตัวน้อยได้มีแรงเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  เคลื่อนไหวคล่องแคล่วทันใจ และสนุกสนานตามวัยได้เต็มที่

 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจลักษณะการนอนของลูกน้อยกว่า การนอนมีกี่แบบ และพฤติกรรมการนอนของลูกน้อยตามวัย โดยการนอนของลูกน้อยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงใหญ่ ๆ คือ REM (Rapid eyes movement) และ NREM (Non-rapid eyes movement)

1. REM (Rapid eyes movement) เป็นช่วงที่ลูกน้อยยังหลับไม่สนิทดี และจะตื่นได้ง่ายเมื่อได้ยินเสียงหรือสิ่งกระตุ้นจากภายนอก โดยการหลับในช่วงนี้จะยังจะมีอาการดิ้น ถอนหายใจแรง และอาจจะมีการตื่นขึ้นมาร้องไห้ในช่วงสั้นๆ ร่วมกับการกรอกตาไปมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นเวลาที่ร่างกายหลับแต่สมองยังคงทำงานประมวลผลและอาจจะสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความฝัน สังเกตได้ง่ายๆ ว่าทารกกำลังหลับในช่วงนี้หรือไม่ ก็คือ เด็กจะหายใจไม่สม่ำเสมอ อาจจะนอนผวา ทางการแพทย์มีความเชื่อว่า การนอนหลับในช่วง REM มีผลและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาการของเด็กทารก เมื่อเด็กโตขึ้นช่วงการนอนในระดับ REM จะลดลงเรื่อยๆ ตามลำดับค่ะ

2. NREM (Non-rapid eyes movement) เรียกให้เข้าใจง่ายก็คือช่วงหลับลึกนั้นเองค่ะ โดยช่วงนี้ร่างกายจะได้รับการพักผ่อนมากที่สุด จะสังเกตได้โดยจะนอนนิ่งๆ ลมหายใจสม่ำเสมอ หายใจลึก และเด็กทารกอาจจะทำปากขมุบขมิบ หรือมีอาการกระตุกเป็นพักๆ โดยเด็กทารกจะพัฒนาช่วงการนอนแบบ NREM สมบูรณ์ขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือนไปแล้ว หากลูกของคุณเริ่มหลับเข้าสู่ช่วงนี้แล้วจะตื่นยากค่ะ

 

                  ตามปกติเด็กนอนกี่ชั่วโมงนั้น พฤติกรรมการนอนจะมีความแตกต่างกันตามแต่ละช่วงวัย โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้

·      การนอนของลูกในช่วง 0 – 3 เดือน

การหลับและตื่นจะมีช่วงเวลาที่เท่าๆ กัน ทั้งกลางวันและกลางคืน ประมาณ 20 ชั่วโมงต่อวัน มีเวลาตื่นที่ไม่แน่นอน และมีการเปลี่ยนแปลงเวลานอนไปทุกสัปดาห์  มักจะนอนช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน และจะปรับมานอนตอนกลางคืนตามปกติในไม่ช้า

·      การนอนของลูกในช่วง 3 – 6 เดือน

เจ้าตัวเล็กจะหลับกลางวันน้อยลง นอนกลางคืนมากขึ้น โดยจะหลับรวดเดียวไปจนถึงเช้า ไม่ตื่นมากินนมตอนกลางคืนเหมือนก่อน คุณก็ไม่จำเป็นต้องปลุกให้ลูกตื่นขึ้นมาดูดนมหรือกลัวว่าจะหิว เพราะลูกได้กินนมไว้เต็มที่แล้วค่ะ ความต้องการนอนในช่วงนี้จะลดลงเป็น 15-16  ชั่วโมง

ในทารกช่วงอายุแรกเกิดถึง 6 เดือน จะเริ่มหลับในช่วง REM ก่อน และจะค่อยๆ เข้าสู่การหลับลึกหรือ NREM และก็จะสลับกลับไปเป็นช่วง REM แบบนี้ทุกๆ 20 นาทีค่ะ พอลูกอายุครบ 3 เดือน การเปลี่ยนจาก REM ไปเป็น NREM จะขยายเป็น 60 นาที และเมื่อโตมากขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ก็จะเปลี่ยนเป็น 90 นาทีต่อรอบค่ะ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในช่วง 6 เดือนแรกที่การนอนของลูกในระดับ NREM ยังไม่สมบูรณ์ ลูกของคุณจึงตื่นได้ง่าย หรือดูเหมือนว่าลูกนอนเพียงครั้งละ 20 นาทีก็รู้สึกตัวแล้ว ขอให้คุณพ่อคุณแม่อดทนและเข้าใจธรรมชาติของเด็กด้วยนะคะ เมื่อลูกอายุมากขึ้นจะสามารถนอนหลับได้นานขึ้น และตื่นยากขึ้นค่ะ

 

          คุณแม่จะสามารถสังเกตได้ว่าเมื่อไหร่ที่ลูกน้อยมีพฤติกรรมการนอนที่ไม่ปกติ อาทิ ลูกนอนไม่หลับ มีอาการตื่นบ่อย หรือจำนวนชั่วโมงที่ลูกน้อยนอนนั้นมากไปหรือน้อยไป พฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ ส่วนใหญ่มักเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • ลูกนอนไม่สบายตัว มีหลายเหตุผลที่ลูกนอนไม่สบายตัวซึ่งอาจเกิดจากอากาศไม่ถ่ายเท ร้อนเกินไป หนาวเกินไป ใส่เสื้อผ้าแน่นเกินไป ใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปนานเกินไป คันจากผื่นแพ้ แมลงกัด ถือเป็นเหตุที่ทำให้ลูกนอนตื่นบ่อยๆ ค่ะ

  • สภาพแวดล้อมไม่เหมาะแก่การนอน หากมีปัจจัยรอบข้างที่รบกวนการนอน เช่น เสียงดังไป มีแสงสว่างจ้า ย่อมทำให้ลูกนอนหลับยาก การจัดการสิ่งแวดล้อมการนอนที่ดีจะช่วยลดปัญหานี้ได้มาก โดยจัดห้องนอนแยกกับส่วนที่ใช้เล่น สร้างวินัยการนอนให้เป็นเวลาทุกวัน เช่น ก่อนนอนจะต้อง อาบน้ำ แปรงฟัน อ่านนิทาน เพื่อเตรียมตัวลูกในการเข้านอนให้เป็นกิจวัตร

  • ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนเลี้ยงกับลูกน้อย ที่พบบ่อยคือ คุณพ่อคุณแม่จะสร้างความเคยชินในการกล่อมเด็กให้หลับ โดยการอุ้มบ้างเดินบ้าง หรือดูดนมหลับบ้าง ดังนั้น เด็กจะคุ้นเคยว่าการหลับต้องมีปัจจัยดังกล่าวทุกครั้ง จึงไม่สามารถนอนหลับด้วยตัวเองได้ ดังนั้นทุกครั้งที่เด็กจะเข้านอน รวมถึงหลังจากตื่นกลางดึกแล้วจะกลับไปนอนต่อ ก็ต้องการการกล่อมจากคุณพ่อหรือคุณแม่เหมือนเดิมทุกครั้ง

          ถ้าในกรณีที่ลูกน้อยมีฟันที่กำลังจะขึ้น คันเหงือก อาจเป็นปัจจัยทำให้ลูกตื่นบ่อย ในช่วงนี้อนุโลมให้ปล่อยลูกไปก่อน รอให้ลูกมีอาการปกติค่อยเริ่มฝึกกันใหม่ค่ะ และถ้าลูกยังร้องงอแง ทั้งที่ก็กินอิ่ม แถมยังไม่ได้เจ็บป่วยอะไร อย่าเปิดไฟ อย่าเล่นกับลูก ควรใช้มือตบก้นลูกกล่อมนอนเบาๆ ให้ลูกหลับไปเอง

 

          สำหรับลูกน้อยที่ตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วงอแงไม่ยอมนอนแต่โดยดี เรามี 4 เคล็ดลับช่วยให้ลูกหยุดร้องและนอนหลับ ดังนี้ค่ะ

1. ใช้ผ้าห่อตัวลูกเวลานอน:

          เด็กแรกเกิดที่เพิ่งคลอดออกมามักต้องการความอบอุ่น และการโอบอุ้มอยู่ตลอดเวลา เพราะยังไม่คุ้นชินกับสภาวะภายนอก ดังนั้นการห่อลูกไว้ในผ้าห่อตัวสามารถช่วยให้ลูกหยุดร้องและนอนหลับได้เป็นปกติ คุณแม่หลายท่านใช้วิธีนี้และได้ผลดีที่สุดค่ะ

2. อุ้มลูกท่าซุปเปอร์แมน:

          อุ้มลูกท่านี้แกว่งไปมาไม่กี่นาทีหลับทุกรายค่ะ ถือว่าเป็นท่าไม้ตายที่ใช้กับเด็กที่ร้องไห้งอแง ดื้อสุดๆ ต้องเจอกับท่านี้เท่านั้นค่ะ ท่าอุ้มคือ จับลูกนอนคว่ำบนแขนทั้ง 2 ข้างของคุณแม่ โดยที่คุณแม่ยืนอยู่ และโยกลูกไปทางด้านซ้ายและขวาเบา ๆ รับรองลูกหลับสนิทแน่นอน

3. อุ้มลูกขึ้น - ลงบันได:

          ท่านี้เป็นท่าที่ทำให้ลูกหลับได้ง่ายเหมือนกันค่ะ ทำง่ายมาก แค่อุ้มลูกขึ้นบ่าและเดินขึ้นบันไดและลงบันได จากที่ลูกร้องไห้อยู่ก็จะรู้สึกเพลิดเพลินและหลับไปเองค่ะ ถ้าจะให้ดีต้องย่อขาเดินขึ้นลงไปเรื่อย ๆ จนกว่าลูกจะหลับนะคะ คุณแม่ยังได้ออกกำลังกายหลังคลอดอีกด้วยค่ะ

4. ท่านอนเปลอู่:

          ท่านอนนี้คุณพ่อสามารถช่วยได้  วิธีการคือ ปูผ้าเช็ดตัวลูกผืนใหญ่ ๆ ไว้บนพื้น หรือ บนที่นอน และจับลูกนอนหงายบนผ้า ช่วยกันจับผ้าคนละฝั่งหัวกับท้ายแล้วยกลูกขึ้นมาแล้วเริ่มแกว่งไปมาเบา ๆ อาจจะร้องเพลงให้ลูกฟังไปด้วย ท่านี้ใช้เวลาไม่นาน ก็ช่วยให้ลูกหยุดร้องและทำให้ลูกหลับง่ายมากเช่นกันค่ะ

 

          การนอนมีความสำคัญต่อลูกน้อยเป็นอย่างมาก การนอนหลับที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอต่อความต้องการ ตามระยะเวลาที่ลูกน้อยควรจะได้รับ ไม่นานเกินไป ไม่น้อยเกินไป ล้วนเป็นสิ่งที่คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ต้องช่วยกันสังเกต จัดสรรเวลา และสร้างวินัยในการนอนให้ลูกน้อย เพื่อการมีพัฒนาการที่แข็งแรงสมบูรณ์ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆในวันรุ่งขึ้น มาช่วยกันฝึกฝนลูกน้อยเสียแต่ยังเล็ก เพื่อผลดีในระยะยาวของลูกกันนะคะ  

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.bangkokhealth.com และ http://www.earthdezign.com

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.