อาการหลับไม่ตื่นในทารก (SIDS) ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

อาการหลับไม่ตื่นในทารก (SIDS) ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม อาการหลับไม่ตื่นในทารก (SIDS) ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม อาการหลับไม่ตื่นในทารก (SIDS) ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

          การดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลภยันตรายทั้งปวงและมีสุขภาพดี เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ย่อมให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในทารกแรกเกิดที่ระบบการทำงานของร่างกายยังไม่สมบูรณ์ดี ก็ยิ่งมีความน่าเป็นห่วงมากเป็นธรรมดา เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยและป้องกันไว้ก่อน เราจึงขอแนะนำให้ทราบเกี่ยวกับ “โรค SIDS” ที่อาจก่อให้เกิดภาวะหลับไม่ตื่นในทารกได้ แม้โรคนี้อาจฟังดูน่ากลัว และในทางการแพทย์ก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้แน่ชัด แต่หากทำความเข้าใจและรู้วิธีป้องกันแล้ว ก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดได้มากขึ้นค่ะ

 

โรค SIDS (ซิดส์) คืออะไร?

          โรค SIDS (ซิดส์) ย่อมาจาก Sudden Infant Death Syndrome หรือที่เรียกกันว่า โรคไหลตายในทารก (cot death) / อาการหลับไม่ตื่นในทารก / การตายอย่างเฉียบพลันในทารก สามารถเกิดขึ้นในทารกที่มีสุขภาพปกติดี โดยทารกจะไม่ปรากฏอาการใดนำมาก่อน เช่น ร้องงอแงหรือเคลื่อนไหวใดๆ แต่เมื่อคุณพ่อคุณแม่นำลูกเข้านอนแล้ว ลูกก็หลับไปโดยไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย ซึ่งเป็นการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ และสามารถเกิดได้กับทารกทุกคนและทุกช่วงเวลา จากสถิติพบว่า โรคไหลตายในทารกเป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงร้อยละ 40-50 ในทารกอายุ 1 เดือน - 1 ปี โดยส่วนใหญ่เกิดในทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน

 

มีสาเหตุจากไหน?

          ในปัจจุบันวงการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคอย่างแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่าสาเหตุอาจเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ พัฒนาการที่ผิดปกติของทารก ความเครียดจากปัจจัยภายในและภายนอกร่างกาย มีสิ่งกีดขวางอุดทางเดินหายใจขณะนอนหลับ นอกจากนี้ อาจเกิดจากภาวะทารกคลอดก่อนกำหนด หรือ น้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย รวมถึงภาวะการติดเชื้อ โรคทางพันธุกรรม และโรคหัวใจ

 

คุณพ่อคุณแม่จะป้องกันได้อย่างไร?

          จริงอยู่ที่สาเหตุการเกิดโรคไหลตายในทารกยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่จากสถิติหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศแถบเอเชีย ชี้ให้เห็นว่า การตายของทารกจากโรคนี้ ลดลงกว่าร้อยละ 50 หลังจากที่มีการรณรงค์การป้องกันปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ในการเกิดโรค SIDS ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยป้องกันได้ตามข้อแนะนำต่อไปนี้ค่ะ

 

  • ให้ทารกนอนในท่านอนหงาย

จากการวิจัยพบว่า การนอนคว่ำเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดอาการหลับไม่ตื่นในทารก จึงควรให้ทารกนอนในท่านอนหงาย เพราะจะหายใจนำอากาศเข้าปอดได้ดีกว่า และป้องกันการอุดกั้นทางเดินหายใจ ที่อาจเกิดในท่านอนคว่ำ หรือแม้แต่ท่าตะแคงก็ไม่แนะนำ เนื่องจากทารกอาจพลิกไปอยู่ในท่านอนคว่ำได้ค่ะ

 

  • จัดที่นอนที่เหมาะสม

เนื่องจากทารกยังไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะได้สมบูรณ์ จึงยังไม่พร้อมที่จะช่วยเหลือตัวเองเมื่อมีสิ่งกีดขวางมาอุดกั้นทางเดินหายใจ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรจัดที่นอนของลูกให้เหมาะสม ไม่นิ่มยวบ หรือมีอุปกรณ์การนอนที่อาจมาอุดกั้นการหายใจของทารก เช่น ตุ๊กตา หมอนกันกระแทกด้านข้าง รวมทั้งไม่ให้ทารกนอนหลับบนโซฟา เพราะทารกอาจพลิกศีรษะแล้วหน้าไปจมอยู่กับมุมของโซฟา ทั้งนี้ แม้แต่ผ้าห่มหลวมๆ ที่มาคลุมหน้า ก็ทำให้ทารกหายใจลำบากได้ค่ะ เมื่อเตรียมลูกนอน ควรให้ทารกใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่นพอควร หากต้องห่มผ้า เลือกผ้าไม่หนาเกินไป ชนิดที่ทารกสามารถหายใจผ่านได้ และรวบมุมของผ้าให้อยู่ใต้เบาะทั้ง 3 ด้าน โดยปรับอุณหภูมิของห้องให้อยู่ที่ 25-26 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับทารกค่ะ

 

  • หลีกเลี่ยงไม่ให้ทารกนอนร่วมเตียงกับผู้ใหญ่หรือเด็กโต

แต่อยู่ในห้องเดียวกัน เพื่อป้องกันการนอนทับลูกจนหายใจไม่ออก ทั้งนี้ได้มีการพบเด็กที่เสียชีวิตจากการถูกทับจำนวนไม่น้อย โดยผู้ที่มีความเสี่ยงในการนอนทับเด็ก คือ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก และผู้ที่รับประทานยาที่ทำให้ง่วง อาทิ ยาแก้หวัด ยานอนหลับ เพราะหลับสนิทเกินไป เมื่อนอนทับเด็กแล้วก็ไม่รู้สึกตัว

 

  • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ในบ้าน

เพราะเป็นสาเหตุหลักของการหายใจที่ผิดปกติของทารก อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้หรือหลอดลมตีบเฉียบพลัน

                 

          ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังไม่สามารถหาสาเหตุโรค SIDS ได้ชัดเจน แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยกันป้องกันความเสี่ยงหลักๆ ได้อย่างแน่นอนค่ะ โดยเราหวังว่าในวงการแพทย์จะสามารถค้นพบสาเหตุการเกิดโรคและหาวิธีรักษาป้องกันที่ชัดเจนได้ในอนาคตอันใกล้นี้นะคะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ.รมร แย้มประทุม กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และเว็บไซต์ http://www.pharmacy.mahidol.ac.th

 

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.