ภาวะกลุ่มเลือดแม่ลูก หนึ่งในสาเหตุภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด

ภาวะกลุ่มเลือดแม่ลูก หนึ่งในสาเหตุภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด ภาวะกลุ่มเลือดแม่ลูก หนึ่งในสาเหตุภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด ภาวะกลุ่มเลือดแม่ลูก หนึ่งในสาเหตุภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด

          อาการตัวเหลืองของทารกหลังคลอด แม้ว่าจะดูเป็นอาการที่น่าตกใจไม่น้อย ที่ลูกนั้นมีสีผิวเหลืองผิดปกติ แต่อาการดังกล่าว กลับเป็นเรื่องภาวะที่สามารถพบได้ทั่วไปในทารกแรกเกิด โดยเกิดจากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นเกิดจาก ภาวะหมู่เลือดของแม่กับลูกที่ไม่สัมพันธ์กัน เมื่อคุณหมอที่ทำคลอดได้ทำการประเมินพัฒนาพัฒนาการทุกด้านของทารก ตั้งแต่การกระตุ้นเสียงร้อง การวัดการเต้นของหัวใจ ระบบปอด ระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งภาวะทารกตัวเหลืองด้วย ซึ่งหากพบความผิดปกตินี้ขึ้น จะทำการส่งต่อไปยังกุมารแพทย์ เพื่อดูแลให้การรักษาภาวะทารกตัวเหลืองต่อไปค่ะ

 

ภาวะเลือดของแม่และลูกไม่สัมพันธ์กันคืออะไร?

          เนื่องจากหมู่เลือดของลูกนั้น จะขึ้นอยู่กับหมู่เลือดของคุณพ่อและคุณแม่ แล้วบังเอิญว่าหมู่เลือดของลูกอาจจะไปเหมือนกับทางคุณพ่อ ซึ่งก็มีโอกาสที่จะเข้ากันไม่ได้กับของคุณแม่ค่ะ เป็นภาวะที่สามารถพบได้ 20–50% ของทารกแรกเกิด

 

ประเภทของหมู่เลือด

          โดยหมู่เลือดสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ

  • หมู่เลือดหลักคือ  A, B และ O
  • หมู่เลือด Rh โดยแบ่งได้อีก 2 ประเภท คือ Rh+ และ Rh-

          หมู่เลือด A, B และ O เป็นระบบที่คุ้นเคยกันดี ในระบบนี้แบ่งออกเป็น 4 หมู่ คือ A, B, AB และ O ซึ่งจะถูกกำหนดโดยโปรตีนที่เกาะบนผิวของเม็ดเลือดแดง โดยสารโปรตีนนี้คือ แอนติเจน (Antigen) เป็นตัวจำแนกหมู่เลือด ในระบบ ABO มีอยู่ 2 ชนิด คือ สารโปรตีน A (Antigen-A) และสารโปรตีน B (Antigen-B)

          ในกรณีที่คุณแม่ต้องการทราบว่าลูกมีหมู่เลือดใด ในระบบ ABO สามารถคำนวณได้เองคร่าวๆ จากหมู่เลือดของคุณพ่อและคุณแม่ เพราะการจะตรวจกรุ๊ปเลือดของทารกในครรภ์นั้นทำได้ค่อนข้างยาก และก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับการตั้งท้อง การตรวจหลังคลอดจะเป็นการดีที่สุดค่ะ               

          ส่วน Rh เป็นหมู่เลือดอีกระบบ เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ คุณหมอจะเจาะเลือดเพื่อตรวจดูว่า คุณแม่มีหมู่เลือดชนิดใดโดยเจาะดูทั้ง 2 หมู่เลือด ซึ่งผลการตรวจ จะรายงานว่า คุณแม่มีหมู่เลือดแตกต่างกันอย่างไร เช่น คุณแม่บางรายมีหมู่เลือด O, Rh+ ในขณะที่ คุณแม่บางราย มีหมู่เลือด B, Rh- เป็นต้น ซึ่งหมู่เลือดนี้ จะถ่ายทอดไปยังลูกด้วย โดยหมู่เลือดในระบบ Rh แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

  • หมู่เลือด Rh+ (Rh positive) จะมีแอนติเจนอยู่ในเม็ดเลือดแดง เป็นหมู่โลหิตธรรมดา ซึ่งในคนไทย มีหมู่เลือด Rh+ เป็นส่วนมากเกือบร้อยละ 100
  • หมู่เลือด Rh- (Rh negative) ไม่มีแอนติเจนอยู่ในเม็ดเลือดแดง เป็นหมู่โลหิตหายาก หรือหมู่โลหิตพิเศษ ในคนไทย มีหมู่เลือด Rh- ไม่ถึงร้อยละ 1

          ซึ่งในร่างกายของคนที่มีหมู่เลือด Rh- ไม่รู้จักแอนติเจนในเม็ดเลือดแดง เมื่อได้รับเลือดจากหมู่เลือด Rh+ เข้าไป ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อทำลายเม็ดเลือดแดงนั้นๆ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม

 

สาเหตุของภาวะตัวเหลือง

          การเกิดภาวะเลือดแม่และเลือดลูกไม่เข้ากัน ในหมู่เลือด ABO มักมีอาการไม่รุนแรงนัก โดยมีสาเหตุจาก แอนติบอดี้ในน้ำเลือดของคุณแม่สามารถซึมผ่านรกเข้าไปในเลือดของทารกในครรภ์ แอนติบอดี้ที่ผ่านรกเข้าไปในเลือดของลูกจะทำลายเม็ดเลือดของลูก ทำให้เม็ดเลือดแตก แต่การไม่เข้ากันของเลือดแม่และลูกมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่เม็ดเลือดแดงของลูกแตกมาก จนทำให้มีการปล่อยสารที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง หรือ “บิลิรูบิน” สารที่มีสีเหลือง ออกมาในกระแสเลือด มาเกาะที่ผิวหนัง และเยื่อบุตาขาว ทำให้ทารก มีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองหลังคลอดได้ค่ะ

          ในกรณีคุณแม่ที่มีเลือดกลุ่ม Rh+ หรือ Rh- ก็สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ ยกเว้นกรณีคุณแม่ที่มีกลุ่มเลือด Rh- แต่ลูกในครรภ์มีกลุ่มเลือด Rh+ อาจทำให้เกิดปัญหาเลือดแม่และลูกไม่เข้ากัน จึงต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหากเลือดของลูกที่เป็น Rh+ เข้าสู่ร่างกายของแม่ จะทำให้ร่างกายคุณแม่ สร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ทำลายเม็ดเลือดแดงของลูก

 

การป้องกันและการรักษา

          การป้องกันที่ดีที่สุดในกรณีหมู่เลือด Rh ของแม่และลูกไม่ตรงกัน คือการไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ หากตรวจพบ การไม่เข้ากันของเลือดแม่และลูก ในการตั้งครรภ์ครั้งแรกคุณหมอจะฉีดยาลดการสร้างภูมิต้านทานต่อเลือดของลูกให้ เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดของแม่ไปทำลายเม็ดเลือดแดงของลูก ในการตั้งครรภ์ครั้งถัดไปแต่ก็ไม่มีปัญหาใดๆ สำหรับการคลอดซึ่งคุณแม่ที่มีกลุ่มเลือด Rh- ยังสามารถคลอดได้ตามปกตินะคะ

          ส่วนของการรักษาภาวะตัวเหลือง ต้องรักษาตามสาเหตุเป็นหลัก ร่วมกับการลดระดับบิลิรูบินลง โดยการเพิ่มการกำจัดบิลิรูบินออกจากร่างกาย เช่น การส่องไฟรักษา หรือ นำบิลิรูบินออกจากร่างกายโดยตรง เช่น การเปลี่ยนถ่ายเลือด เป็นต้นค่ะ

 

ผลข้างเคียงของอาการตัวเหลือง

          ในบางกรณีถ้าระดับของบิลิรูบินสูงมาก บิลิรูบินจะไปจับกับตัวเนื้อสมอง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการชักและมีการทำลายเนื้อสมองอย่างถาวร และยังพบว่า มีโอกาสที่จะเกิดภาวะ I.Q.ต่ำ รวมถึงอาจเกิดภาวะการได้ยินผิดปกติอีกด้วย

          ถึงแม้ว่าภาวะตัวเหลืองจะสามารถพบได้บ่อย แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะมีโอกาสที่ทารกได้รับอันตรายหรือเสียชีวิตในครรภ์มีน้อยมาก แต่อย่างไรก็ดี เมื่อคุณแม่สงสัยหรือทราบว่าตัวเองจะตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์ไว้เลยนะคะ เพราะจะได้มีคุณหมอดูแลให้ นอกจากนี้ ยังควรตรวจร่างกายให้ให้อย่างสม่ำเสมอ เพราะการดูแลที่ต่อเนื่องจนถึงการคลอดมีผลต่อสุขภาพของลูกน้อยอย่างยิ่งค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.mothercorner.com และ http://www.bangkokhealth.com

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.