นมแม่พอหรือไม่ อึลูกบอกได้ ดัชนีชี้วัดที่คุณหมอใช้เพื่อตรวจสอบ

นมแม่พอหรือไม่ อึลูกบอกได้ ดัชนีชี้วัดที่คุณหมอใช้เพื่อตรวจสอบ นมแม่พอหรือไม่ อึลูกบอกได้ ดัชนีชี้วัดที่คุณหมอใช้เพื่อตรวจสอบ นมแม่พอหรือไม่ อึลูกบอกได้ ดัชนีชี้วัดที่คุณหมอใช้เพื่อตรวจสอบ

          คุณแม่หลายคนสงสัยว่าเวลาที่ลูกดื่มนมจากเต้าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกได้รับน้ำนมเพียงพอ? ไม่แน่ใจว่าลูกจะกินอิ่มไหม? ดัชนีชี้วัดที่สำคัญที่คุณหมอมักใช้เพื่อตรวจสอบว่าทารกได้รับนมแม่เพียงพอหรือไม่นั้น อยู่ที่การสังเกตจากหลักฐานการอึของลูกนั่นเองค่ะ

อึลูกบอกอะไรได้บ้าง?

ช่วงแรกเกิด VS อึขี้เทา

          เนื่องจากทารกช่วงอยู่ในครรภ์จะมีการกลืนกินน้ำคร่ำเข้าไปตลอดเวลา รวมถึงน้ำย่อยและเซลล์ต่างๆ เช่น เซลล์ผนังลำไส้ที่ตายแล้ว เมือกต่างๆ เศษผมและขนของทารกเอง ซึ่งส่งผลให้เกิดเป็นอุจจาระสีดำเขียวค้างอยู่ในลำไส้ของทารก ดังนั้น ในช่วงแรกคลอดใหม่ๆ เมื่อทารกได้ดูดนมแม่ ลำไส้ก็จะเริ่มบีบตัวและขับถ่ายของเสียที่ค้างอยู่นี้ออกไป อึในวันแรกๆ จึงมีสีเขียวเข้มถึงสีดำ และมีลักษณะเหนียวคล้ายน้ำมันดิน ที่เราเรียกกันว่า ขี้เทา (Meconium) โดยร่างกายทารกจะขับขี้เท้าออกจากลำไส้หมดภายใน 2-3 วันหลังคลอด

          ฉะนั้น หากลูกน้อยวัยแรกเกิดมีอึลักษณะแบบขี้เทาดังกล่าวนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถสบายใจได้ว่าลูกของเราได้รับน้ำนมเข้าไปในร่างกาย และเมื่อร่างกายเริ่มขับถ่ายขี้เทาออกไปได้ดีขึ้น สีเขียวเข้มของอึจะจางลง ก็เป็นสัญญาณอีกว่าทารกเริ่มกินนมแม่ได้เพียงพอค่ะ ตามปกติแล้วในช่วงสองวันแรกลูกจะอึประมาณ 1-2 ครั้งต่อวัน

 

อึเริ่มเปลี่ยนสี = สัญญาณดี

          เมื่อทารกได้รับน้ำนมแม่มากขึ้น อุจจาระจะเริ่มเปลี่ยนสี จากสีเขียวเข้มกลายเป็นสีเขียวปนเหลือง หรืออาจมีเม็ดเขียวๆ ปนอยู่บ้าง จากนั้นก็จะกลายเป็นสีเหลืองแบบมีน้ำมากขึ้น ซึ่งถือเป็นสีที่ปกติสามัญของอึทารกแรกเกิดค่ะ หลักสังเกตอีกอย่างก็คือ น้ำนมแม่ในวันแรกๆ เป็นโคลอสตรัม (Colostrum) คือหัวน้ำนม  หรือที่เรียกกันว่า น้ำนมเหลือง ซึ่งในหัวน้ำนมนี้จะอุดมด้วยโปรตีนเวย์ ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้ลำไส้บีบตัว ขับถ่ายได้ดีขึ้น ต่อมาเมื่อน้ำนมแม่เริ่มผลิตมากขึ้น เวย์จะลดลง แต่เพิ่มโปรตีนเคซีนมากขึ้น ทำให้อึมีเนื้อมากขึ้น

          ฉะนั้น การสังเกตอึลูกในช่วงวันแรกๆ หากพบการเปลี่ยนสีดังกล่าวมานี้ ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าลูกได้รับน้ำนมแม่เพียงพอแน่ค่ะ

 

อึสีเหลืองทอง ต้องหมั่นจด

          หลังจากสัปดาห์แรก อึของลูกจะเริ่มคงที่ คือมีสีเหลืองทอง และมีลักษณะนิ่มจนถึงเหลว บางครั้งมีน้ำค่อนข้างเยอะ จำนวนครั้งในการถ่ายอยู่ที่ 4-5 ครั้งต่อวัน หรืออาจมากกว่านั้น ซึ่งคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะทารกแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนถ่ายแบบกะปริบกะปรอยแต่หลายครั้ง บางคนถ่ายครั้งละมากๆ ทีเดียว ต้องหมั่นจดและสังเกตดูความสม่ำเสมอค่ะ ถ้าลูกเราขับถ่ายได้ดีเป็นปกติ คือหลังจากทานนมแล้วก็ขับถ่ายออกมาเป็นระยะ กินดี-อึดี มีสีและลักษณะตามที่กล่าวข้างต้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีค่ะว่าลูกเราได้รับน้ำนมเพียงพอ ซึ่งหลังจาก 6 สัปดาห์เป็นต้นไป อึลูกจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงอีก จากเหลวเละเป็นน้ำ ก็จะเริ่มเหนียวข้นขึ้น รวมถึงความถี่ในการถ่ายก็ลดจำนวนครั้งลง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อสังเกตว่าลูกได้น้ำนมเพียงพอค่ะ

 

สังเกตให้ดี เรื่องสีและกลิ่น

          ตามปกติแล้วอึของทารกนมแม่ที่ปกติจะมีสีเหลืองทอง แต่อาจมีการเปลี่ยนสีได้บ้างเล็กน้อย ปัจจัยที่ทำให้สีเปลี่ยนมาจากอาหารการกินของแม่นั่นเองค่ะ เช่น วันไหนที่คุณแม่รับประทานผักใบเขียวมาก หลังจากให้นมลูกแล้ว อาจพบว่าอึของลูกที่ขับถ่ายออกมามีสีเขียว หรือมีเม็ดเขียวๆ ปนอยู่ด้วย หรือแม้กระทั่งการที่คุณแม่รับประทานวิตามินเสริมบางอย่างก็มีผลกับสีและกลิ่นของอึลูกเช่นกันค่ะ และแน่นอนค่ะว่า เมื่อหลักฐานปรากฏออกมาเช่นนี้ ย่อมพิสูจน์ได้ว่าลูกได้รับน้ำนมจากแม่แน่นอน

 

TIPS

  • หนึ่งในสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกอาจได้รับนมไม่เพียงพอ ก็คือ การที่คุณแม่มีอาการเจ็บหัวนม หรือเต้านมอักเสบค่ะ ซึ่งมักเกิดจากการที่ลูกดูดเต้าไม่ถูกต้อง ทำให้แม่เจ็บ และน้ำนมก็ออกไม่เต็มที่ ทำให้ได้รับนมไม่พอ ควรปรึกษาคุณหมอหรือพยาบาลเพื่อแก้ไขโดยด่วนค่ะ
  • คอยหมั่นดูอึลูกว่าสีและกลิ่นเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากอึมีความผิดปกติ เช่น มีมูกจำนวนมาก มีเลือดปน หรือมีกลิ่นเหม็นเน่า ควรสังเกตอาหารที่คุณแม่ทาน รวมถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ และปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.breastfeedingthai.com และ http://www.americanpregnancy.org

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.