การแพ้อาหารในเด็ก รู้ก่อนเกินแก้

การแพ้อาหารในเด็ก รู้ก่อนเกินแก้ การแพ้อาหารในเด็ก รู้ก่อนเกินแก้ การแพ้อาหารในเด็ก รู้ก่อนเกินแก้

การแพ้อาหารถือเป็นหนึ่งอาการภูมิแพ้ในเด็ก ที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความใส่ใจและเฝ้าระวังให้กับลูกไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นเลยค่ะ เนื่องด้วยการแพ้อาหารมักพบได้มากในเด็ก เพราะระบบทางเดินอาหารและระบบการย่อยอาหารของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 เดือน ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์นัก ส่งผลให้เมื่อได้รับประทานอาหารเข้าไปแล้ว สารอาหารอาจจะผ่านเข้าไปในกระแสเลือดแล้วกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นได้ โดยสถิติการแพ้อาหารในปัจจุบัน สามารถพบได้ในผู้ใหญ่ได้ 3-5% ในขณะที่พบในเด็กถึง 6-8% ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกับการแพ้อาหารในเด็กมากขึ้น เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของลูกน้อยกันค่ะ

 

การแพ้อาหาร คืออะไร?

การแพ้อาหารคือ การรับประทานอาหารเข้าไปแล้วทำให้เกิดความผิดปกติในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้อง ผดผื่นขึ้นตามร่างกาย ซึ่งอาการลูกแพ้อาหารไม่จำเป็นเฉพาะแค่การรับประทานแล้วจะแพ้เท่านั้นนะคะ แต่รวมไปถึงแพ้การสัมผัสอาหารชนิดนั้นๆ ด้วย

 

การแพ้อาหารในเด็ก เกิดขึ้นได้จากอะไร?

การแพ้อาหารสามารถเกิดได้ทั้งจากการถ่ายทอดกรรมพันธุ์และสิ่งเเวดล้อมค่ะ กล่าวคือ หากคุณพ่อคุณแม่มีอาการภูมิแพ้อยู่แล้ว ลูกที่เกิดมามีโอกาสในการเป็นภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้นถึง 60% หรือในอีกกรณี หากพ่อแม่พี่น้องไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้ ก็เป็นไปได้ที่เมื่อเด็กได้รับอาหารประเภทโปรตีน แล้วโปรตีนเกิดรั่วเข้าสู่กระแสเลือดไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือได้รับอาหารแบบเดิมซ้ำๆ ก็อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการแพ้ได้เช่นกันค่ะ

 

อาการแพ้อาหารเป็นอย่างไร?

เมื่อลูกแพ้อาหาร มักจะแสดงอาการใน 3 ระบบหลักของร่างกาย ดังนี้

1. อาการทางผิวหนัง ที่พบบ่อยคือ ผื่น ลมพิษ มีอาการเป็นผื่นนูนแดง คัน ยิ่งเกายิ่งเห่อขึ้น บางรายจะมีลักษณะเป็นผื่นเรื้อรัง ซึ่งพบได้บ่อยในกรณีที่แพ้อาหาร

2. ระบบทางเดินอาหาร มีอาการคือ ริมฝีปากบวม เยื่อบุช่องปากบวม หรือระบบทางเดินอาหารมีความผิดปกติ เช่น เด็กอาจแสดงอาการปวดท้อง ถ่ายอุจจาระ ท้องร่วง บางรายอุจจาระออกมามีเลือดปน

3. ระบบทางเดินหายใจ มีอาการคือ มีการจามบ่อย ๆ ไอ น้ำมูกไหล บางรายอาจมีอาการรุนแรง หลอดลมจะบวมและตีบ ทำให้หายใจแน่น แน่นหน้าอก ในบางกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันการ อาจถึงขั้นช็อก และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

ทั้งนี้แสดงอาการก็อาจมีทั้ง “อาการแบบเฉียบพลัน” คือรับประทานอาหารเข้าไปแล้วเกิดอาการทันที หรือภายใน 4 ชั่วโมง ซึ่งอาจมีผื่นขึ้น เป็นลมพิษ หน้าบวม ปากบวม หรือหายใจติดขัด และ “อาการแบบเรื้อรัง” คือมีอาการถ่ายเหลว ปวดท้องเรื้อรัง ซึ่งเด็กบางรายจะมีอาการปวดท้องตลอดหลังรับประทานอาหารเข้าไป บางรายถ่ายเป็นเลือด หรือบางรายลำไส้อักเสบมากจนไม่สามารถดูดซึมโปรตีนเข้าไปได้ ทำให้เด็กผอม น้ำหนักน้อย ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่ค่อนข้างอันตราย หรือในอีกกรณีคือ “อาการแบบผสมระหว่างเฉียบพลันและเรื้อรัง” ซึ่งอาการแบบนี้จะสามารถเจออาการแบบที่กล่าวมาร่วมกันค่ะ

 

วิธีสังเกตได้อย่างไรว่าลูกน้อยแพ้อาหารชนิดใด?

การสังเกตอาการทำได้ไม่ยากค่ะ แต่ต้องอาศัยความใส่ใจอย่างสม่ำเสมอ โดยขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยกันจดอาหารทุกชนิดที่ลูกรับประทานเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ หากมีอาการแพ้อาหารควรบันทึกช่วงเวลาและอาการที่เกิดขึ้น แล้วนำมาให้แพทย์ทำการวินิจฉัยร่วมด้วย แพทย์จะเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างอาหารที่รับประทาน และอาการที่เกิดขึ้นว่า อาหารชนิดใดมีโอกาสที่ลูกของเราจะแพ้ได้บ้าง รวมถึงตรวจร่างกายเพื่อหาอาการแสดงของระบบต่างๆ นอกจากนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ที่รุนแรง ก่อนจะป้อนอาหารชนิดใหม่ให้แก่ลูก ควรป้อนให้ทีละนิดและสังเกตอาการก่อนนะคะ หากลูกมีอาการแพ้ก็ควรหยุดให้อาหารชนิดนั้นทันที

 

คุณพ่อคุณแม่จะช่วยป้องกันอาการแพ้อาหารได้อย่างไร?

แม้อาการภูมิแพ้จากพันธุกรรมจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือเพื่อไม่ให้ลูกเป็นเด็กแพ้ง่ายก็คือ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องคุณแม่ค่ะ โดยในขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ก็ต้องดูแลรักษาสุขภาพตัวเอง กินอาหารที่มีประโยชน์ ระมัดระวังอย่ากินอาหารที่ทำให้เกิดการแพ้ได้ง่ายมากเกินไป เช่น อาหารทะเล ไข่ ถั่วลิสง นมวัว ช็อกโกแลต ผลิตภัณฑ์จากนม แป้งสาลี เพราะอาจจะทำให้ลูกได้สัมผัสกับสิ่งก่อภูมิแพ้เหล่านี้เร็วเกินไป จนเมื่อลูกน้อยถือกำเนิดมา ก็ควรให้ลูกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ที่สำคัญควรเน้นให้ลูกได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อยช่วง 6 เดือนแรก เพราะน้ำนมแม่มีสารอาหารหลายชนิดและช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคให้แก่ลูกน้อยได้ดีที่สุด โดยในช่วงให้นม คุณแม่ก็ต้องระวังอาหารที่รับประทานเข้าไปด้วยค่ะ เพราะสิ่งที่คุณแม่กินมีผลต่อลูกโดยตรงผ่านทางน้ำนม นอกจากนี้ หากเป็นไปได้คุณแม่ควรพยายามหลีกเลี่ยงการให้นมวัวแก่ลูกนานที่สุด จนเมื่อลูกมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ค่อยปรับให้อาหารเสริมเพิ่มเติมค่ะ หากลูกไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงรับภูมิแพ้จากพันธุกรรม ให้เปลี่ยนอาหารเสริมทุก 3 วัน แต่ถ้าคนในครอบครัวมีประวัติการเป็นภูมิแพ้ ให้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนอาหารเสริมทุก 1 สัปดาห์ และคอยสังเกตอาการด้วยค่ะ

 

แพ้อาหารเป็นแล้วหายได้ไหม?

การแพ้อาหารในเด็กเล็ก เกิดขึ้นเนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงดี ดังนั้น เมื่อโตขึ้นอาการเหล่านี้สามารถหายไปได้ค่ะ แต่ขึ้นอยู่กับชนิดอาหารที่เด็กแพ้ด้วย เช่น หากแพ้นมวัว เมื่ออายุ 3 ขวบขึ้นไป เด็กกว่า 80-90% จะมีอาการแพ้นมวัวดีขึ้น หากแพ้ไข่ขาวมีโอกาสหาย 50% เมื่ออายุ 3 ขวบขึ้นไป แต่หากลูกแพ้อาหารทะเลหรือถั่วลิสง มักจะแพ้จนเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นเมื่อมีอาการแพ้กับอาหารดังกล่าว ก็ควรให้หลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดอาการแพ้รุนแรงค่ะ

 

สุดท้ายนี้ ถ้าลูกไม่สบายหรือสงสัยว่าลูกมีอาการแพ้ แนะนำพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการโดยเร็วนะคะ อย่าปล่อยไว้นาน เพราะยิ่งรู้เร็ว รักษาเร็ว ก็รักษาง่าย Baby Love ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจากคอลัมน์ “หมอรามาฯไขปัญหาสุขภาพ” ในเดลินิวส์ออนไลน์

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.