กระตุ้นพัฒนาการขวบปีแรก…ผ่านการเล่น

กระตุ้นพัฒนาการขวบปีแรก…ผ่านการเล่น กระตุ้นพัฒนาการขวบปีแรก…ผ่านการเล่น กระตุ้นพัฒนาการขวบปีแรก…ผ่านการเล่น

          การเล่นเป็นการช่วยพัฒนาสมองและส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ดีมาก การเล่นของเด็กในวัยขวบปีแรกนั้นก็คือการเล่นผ่านกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับพ่อแม่นั่นเอง และเนื่องจากเด็กในแต่ละช่วงอายุมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน จึงต้องการการเล่นและการตอบสนองจากคุณพ่อคุณแม่ที่แตกต่างกันไปด้วยค่ะ

 

ประโยชน์จากการเล่น

  • ส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก และกล้ามเนื้อมัดใหญ่
  • กระตุ้นและฝึกทักษะการใช้ภาษาและการสื่อสาร
  • ฝึกทักษะการเข้าสังคม การแบ่งปัน การควบคุมอารมณ์
  • ฝึกการเรียนรู้ผ่านระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก รสชาติ ผิวหนัง
  • ส่งเสริมความรักความผูกพัน สร้างบรรยากาศที่ดีในครอบครัว (Quality time)
  • ทำให้ลูกอารมณ์ดี ส่งผลดีต่อสุขกายและใจ


ช่วงอายุ 1-3 เดือน: ช่วงวัยนี้ ลูกจะสามารถจ้อง สบตา คุยส่งเสียง ชันคอได้ 

  • การเล่นกับลูกในช่วงวัยนี้ คือ สบตากับลูกในระยะใกล้, ส่งเสียงคุยยิ้มแย้มกับลูก, เอียงศีรษะไปมาให้ลูกมองตาม, ให้ลูกมองโมบายที่มีสีสันสดใสหรือเคลื่อนไหวและมีเสียงดนตรี, พาลูกนอนคว่ำขณะลูกตื่นเพื่อฝึกการชันคอ (Tummy time) 
  • ของเล่นที่เหมาะกับลูก: โมบายสีสันสดใส

 

ช่วงอายุ 4-6 เดือน: ช่วงวัยนี้ลูกจะเริ่มหยิบจับคว้าสิ่งของต่างๆ, สนใจมือและเอาเข้าปาก, พลิกคว่ำพลิกหงาย, เริ่มสนใจผู้คนรอบข้างและสิ่งของรอบตัว, หันตามเสียงได้, หัวเราะโต้ตอบเมื่อรู้สึกชอบใจ, ส่งเสียงได้หลายแบบ 

  • การเล่นกับลูกในช่วงวัยนี้ คือ ชูมือกางนิ้วไว้ข้างหน้าลูกเพื่อให้ลูกพยายามคว้านิ้วมือของคุณแม่, เป่าพุงลูกหรือหอมตามร่างกาย, ฝึกคว่ำหงายกลิ้งไปมาบนที่กว้าง, ฝึกหยิบจับของเล่นสีสันสดใสที่มีพื้นสัมผัสหลายรูปแบบ, เขย่าของเล่นที่มีเสียงให้ลูกหันมองตาม, อ่านหนังสือที่มีรูปภาพสีสดใสให้ฟังด้วยน้ำเสียงสูงต่ำ 
  • ของเล่นที่เหมาะกับลูก: ของเล่นชิ้นที่พอดีมือจับ มีสีสันสดใส, ของเล่นมีลักษณะพื้นผิวหลากหลายแบบ, ของเล่นที่มีเสียง, หนังสือภาพ หนังสือนิทานต่างๆ, ตัวการ์ตูนนิ้วมือ

 

ช่วงอายุ 6-9 เดือน: ลูกเริ่มนั่งและคืบได้ เปลี่ยนของเล่นในมือไปมาได้ เริ่มจำหน้าคนที่คุ้นเคย เริ่มเลียนแบบท่าทาง 

  • การเล่นกับลูกในช่วงวัยนี้ คือ จ๊ะเอ๋ ปิดหน้าซ่อนหา, เล่นคืบหาของเล่นสุดโปรด, เทของเล่นเข้าออกจากถ้วย, ตีเครื่องดนตรีหรืออาจใช้ขวดน้ำพลาสติกมาตีให้เป็นเสียง
  • ของเล่นที่เหมาะกับลูก: ผ้าห่มเล่นซ่อนหา, ของเล่นมีลักษณะพื้นผิวหลายๆแบบ, กล่องของเล่นใส่บล๊อคต่างๆ

 

ช่วงอายุ 9-12 เดือน: ลูกจะเริ่มเกาะยืน เกาะเดิน ปีนป่าย หยิบของชิ้นเล็กๆได้ 

  • การเล่นกับลูกในช่วงวัยนี้ คือ ฝึกคลานปีนป่าย, ปรบมือ, ร้องเพลงและเต้นท่าต่างๆ, สอนชี้อวัยวะ, เทของเล่นออกจากกล่องและหยิบใส่กล่อง, เล่นเปิดปิดฝากล่อง, รถไฟกล่องกระดาษไว้เข็นลูก, ฝึกหยิบของกินชิ้นเล็กๆเข้าปาก
  • ของเล่นที่เหมาะกับลูก: บล็อกกล่องของเล่น, กล่องกระดาษที่มีฝาปิดเปิด

 

          การเล่นกับลูกนั้นไม่มีรูปแบบหรือกฎเกณฑ์ที่ตายตัวแน่นอนนะคะ คุณพ่อคุณแม่สามารถพลิกแพลงดัดแปลงการเล่นได้ตามสถานการณ์และใช้จินตนาการได้เต็มที่เลยค่ะ และไม่จำเป็นต้องหาของเล่นราคาแพงหรือมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาให้ลูกเล่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแท็บเล็ตมือถือหรือเกมคอมพิวเตอร์ขอให้วางไว้ห่างๆ เพราะผลเสียของมันมีมากกว่าดี (และเป็นผลเสียในระยะยาวด้วย) ของเล่นที่ดีที่สุดคือ ของเล่นที่คุณพ่อคุณแม่ทำเอง และตัวคุณพ่อคุณแม่เองนี่ล่ะค่ะ ควรหาโอกาสมาเล่นกับลูกอย่างสม่ำเสมอ มาช่วยกันสร้างเวลาแห่งคุณภาพด้วยกันค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณหมอแอน-พญ.ปิยะรัตน์ เลิศบรรณพงษ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.