5 วิธี ดูแลสะดือหลังคลอดให้เจ้าตัวน้อย

5 วิธี ดูแลสะดือหลังคลอดให้เจ้าตัวน้อย 5 วิธี ดูแลสะดือหลังคลอดให้เจ้าตัวน้อย 5 วิธี ดูแลสะดือหลังคลอดให้เจ้าตัวน้อย

          สายสะดือเป็นทางติดต่อระหว่างคุณแม่และลูกน้อยขณะอยู่ในครรภ์ เพื่อใช้ลำเลียงสารอาหารต่างๆ และออกซิเจนมายังลูก แต่เมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว คุณหมอจะตัดสายสะดือของลูกให้เหลือยื่นออกมาประมาณ 1-2 นิ้ว และผูกไว้ด้วยเชือก

          ในช่วง 2-3 วันแรก สายสะดือจะอ่อนและเปียก จากนั้นจะค่อยๆแห้ง จากส่วนปลายเข้าหาโคนสะดือ ส่วนใหญ่เมื่อถึงเวลาที่คุณแม่จะต้องกลับไปดูแลลูกน้อยด้วยตัวเองต่อที่บ้านสะดือส่วนปลายมักจะแห้งแล้วและมีเชือกผูกติดปลายไว้อยู่

          สายสะดือที่แห้งนี้ ไม่มีเส้นประสาทรับความรู้สึก คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ต้องกังวลว่าลูกจะเจ็บเวลาที่เช็ดสะดือนะคะ บางครั้งลูกอาจจะร้องเวลาที่เช็ด เนื่องมาจากตกใจความเย็นของแอลกอฮอล์ สำหรับวิธีดูแลความสะอาดสะดือในช่วงที่สายสะดือยังไม่หลุดออก สามารถทำได้ดังนี้ค่ะ

 

วิธีดูแลสะดือหลังคลอดให้เจ้าตัวน้อย

1. เช็ดสะดือตรงส่วนที่ยังเปียก

  • ควรทำความสะอาดวันละ 2 ครั้ง หลังอาบน้ำ
  • ใช้มือจับเชือกดึงขึ้นตรงๆ เพื่อให้เห็นส่วนตรงโคนที่ยังเปียก หากดึงสายสะดือขึ้นได้ไม่เต็มที่ เช็ดแอลกอฮอล์ได้ไม่ถึงส่วนที่ยังไม่แห้งข้างล่าง จะทำให้สะดือหลุดช้าได้ค่ะ
  • ใช้สำลีเช็ดจากโคนมาถึงปลาย และเช็ดบริเวณรอบสะดือ โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อระหว่างสายสะดือและผิวหนังของลูก ด้วยแอลกอฮอล์ที่ทางโรงพยาบาลให้มา หรือจะใช้แอลกอฮอล์ 70% ก็ได้ค่ะ โดยใช้ในปริมาณที่ชุ่มพอควรและไม่แฉะจนเกินไป
  • เช็ดอย่างเบามือและวนรอบสะดือของลูกเพียงรอบเดียวเท่านั้น ถ้าเห็นว่ายังไม่สะอาด ควรเปลี่ยนสำลีก้อนใหม่
  • เมื่อเช็ดเสร็จแล้ว ให้ปล่อยน้ำยาที่เช็ดแห้งไปเอง


2. ​รักษาสะดือให้แห้งอยู่เสมอ 

โดยเฉพาะหลังอาบน้ำ ระวังไม่ให้มีน้ำขังอยู่ในขอบสะดือ และควรเช็ดสายเชือกให้แห้งทุกครั้งหลังอาบน้ำ มิฉะนั้น สะดือจะหลุดช้าได้ค่ะ

 

3. เลือกผ้าอ้อมที่มีขอบเอวเว้าตรงสะดือ 

เพื่อป้องสะดือลูกน้อยที่ยังไม่หลุดไปเสียดสีกับผ้าอ้อม และใส่ผ้าอ้อมให้หลวมสักนิด ไม่แน่นมาก ให้มีการระบายอากาศที่ดี

 

4. ไม่ควรใช้แป้งหรือสารเคมีต่างๆ โรยบริเวณสะดือ

อาจทำให้สะดือเกิดการติดเชื้อได้ เพราะจะทำให้ลักษณะภายนอกดูเหมือนสะดือแห้งดี แต่ส่วนรอยต่อระหว่างสะดือกับผิวหนังหน้าท้องจะยังแฉะอยู่ค่ะ ซึ่งจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้

 

5. หลังสะดือหลุดแล้วจะยังมีรอยแฉะอยู่ตรงกลางสะดือ

จึงควรเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ต่อ จนกระทั่งเนื้อตรงกลางสะดือกลายเป็นผิวหนังปกติ

 

          ในกรณีรอบๆ สะดือมีรอยแดง ก็ถือเป็นเรื่องปกติของทารกในช่วงนี้นะคะ แต่ถ้าแดงมากๆ อาจเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งควรได้รับการดูแลจากคุณหมอ นอกจากนี้ ยังมีความผิดปกติอื่นๆ ของสะดือที่หากเกิดขึ้นก็ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว ดังนี้ค่ะ

 

ความผิดปกติของสะดือที่อาจเกิดขึ้น

  1. สะดือหลุดช้า ปกติสายสะดือจะหลุดออกภายใน 1-2 อาทิตย์ หรือ 7-10 วันหลังคลอด ถ้าเกิน 1 เดือนจะถือว่าหลุดช้ากว่าปกติ ควรปรึกษาแพทย์ค่ะ
  2. สะดือมีกลิ่น โดยที่ผิวหนังรอบสะดือไม่แดงอักเสบ อาจเกิดจากความอับชื้น เปียกแฉะ หากมีกลิ่นเล็กน้อย ควรทำความสะอาดสะดือให้ลูกน้อยอย่างถูกต้อง เพราะเป็นไปได้ว่ายังทำความสะอาดไม่ทั่วค่ะ
  3. มีเลือดออก ถ้าเลือดออกไม่มาก อาจเกิดจากเส้นเลือดในสายสะดือแห้งแล้วเกิดการฉีกขาด ไม่ถือว่าเป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่ถ้าเลือดออกมาก ควรพาลูกไปพบแพทย์ค่ะ
  4. สะดืออักเสบติดเชื้อ ลักษณะของอาการคือ สะดือจะมีกลิ่นเหม็น ผิวหนังรอบสะดือบวมแดง ต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาค่ะ
  5. สะดือแฉะ มีน้ำไหลออกมา หรือยังมีก้อนเนื้ออยู่ในรูสะดือหลังจากสายสะดือหลุดออกไปแล้ว ควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อตรวจว่ามีก้อนเนื้อที่ต้องได้รับการจี้รักษาให้แห้งหรือไม่
  6. สะดือจุ่น ไม่ได้เกิดจากการตัดสะดือที่ไม่ดีแต่อย่างใด แต่สะดือจุ่นเกิดจากการที่ผนังหน้าท้องใต้ผิวหนังมีรูที่ผิดปกติ ทำให้มีส่วนของลำไส้เคลื่อนเข้าและออกมาได้ ซึ่งรูนี้ส่วนใหญ่จะเล็กลงและปิดไปได้เองก่อนอายุ 2 ปี

         

          การดูแลรักษาสะดือลูกน้อยเป็นเรื่องที่ไม่ยาก เพียงเราต้องหมั่นดูแลอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด และความอับชื้นบริเวณสะดือ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรกลัวที่จะเช็ดทำความสะอาด เพราะไม่ทำให้ลูกเกิดความเจ็บปวดใดๆ เลยค่ะ เมื่อดูแลดี สะดือของลูกน้อยก็จะหลุดได้เร็ว ลกความเสี่ยงภาวะติดเชื้อจากทางสายสะดือ และตัวช่วยอีกอย่างที่สำคัญสำหรับสำหรับเด็กแรกเกิดที่สะดือยังไม่แห้งก็คือ ผ้าอ้อมที่มีขอบเอวเว้าสะดือ เพื่อป้องกันความอับชื้นและช่วยเรื่องการระบายอากาศ ให้คุณแม่มั่นใจได้ว่าบริเวณนั้นจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษเช่นเดียวกับบริเวณอื่นๆ ของลูกน้อยค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณหมอแอน - พญ. ปิยะรัตน์ เลิศบรรณพงษ์  กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

ติดตามเราได้ที่ :

Facbook Babylove Youtube Babylove IG Babylove subscribe

บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

© 2016 DSG International (Thailand) PLC. All rights reserved.